แหล่งข่าวจากพรรคภูมิใจไทยเปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกุูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยมีความไม่พอใจอย่างมาก หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต)ได้ออกหมายเรียก 54 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้มารับทราบข้อกล่าวหา โดยอ้างว่ามีเหตุผลอันควรสงสัยหรือความปรากฏต่อคณะกรรมการ กกต. ว่า ได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 และเตรียมออกหมายเรียก สว. กลุ่มที่สองอีก 97 รายรวมถึงกลุ่มผู้บงการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งพุ่งเป้าไปที่บ้านใหญ่บุรีรัมย์ โดยมองว่าเป็นเกมการเมืองจาก ’นายใหญ’ ของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการกดดันพรรคภูมิใจไทยเพื่อช่วงชิงเสียงในวุฒิสภา
แหล่งข่าวกล่าวว่า รายชื่อ สว. 54 รายที่ถูกหมายเรียกในกลุ่มแรก ได้หลุดมาถึงมีแกนนำพรรคภูมิใจไทยมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเห็นชัดว่าทำกันอย่างรีบร้อน แต่จริง ๆ แล้ว การดำเนินการเรื่องนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอน เช่นชี้แจงข้อกล่าวหาของคนซื้อออกหมายเรียก การสอบพยานหลักฐานตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้าง การสรุปสำนวนเพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งลงมติชี้ขาด และการสรุปสำนวนเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง
“การออกหมายเรียก กลุ่ม สว. 54 ราย ไปรับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 คงไม่มีใครไปตามหมายเรียกอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้การสรุปสำนวนการสอบสวนล่าช้า อีกนานหลายเดือน ”แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำครั้งนี้ คงทำให้พรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทยแตกหักกันอย่างแน่นอน ไม่สามารถพูดคุยประนีประนอมกันได้แล้ว เหมือนที่ผ่านมา
“ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 28-30 พ.ค. นี้ โอกาสร่าง พ.ร.บ. จะไม่ผ่านความเห็นชอบมีอยู่สูงมาก ถ้า สส. พรรคภูมิใจไทยไม่ยกมือให้ นั่นหมายความว่า นายกรัฐมนตรีต้องประกาศยุบสภาฯ และต้องมีการเลือกตั้งใหม่ซึ่งทางพรรคภูมิใจไทยมีความพร้อม" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็คงไม่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา เพราะไปเล่นงาน สว. เกือบทั้งสภา ซึ่ง สว. กลุ่มนี้ไม่ยกมือให้แน่นอน
“ ถ้าวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ก็ต้องส่งกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎร ลงมติอีกครั้งหนึ่ง ต้องใช้เสียงยืนยันเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่จึงจะถือว่าผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็ต้องลุ้นอีกว่าจะได้เสียงจำนวนเท่านั้นหรือไม่“ แหล่งข่าวระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ มีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 325 เสียง จากทั้งหมด 493 เสียง
ประกอบด้วยพรรคร่วมรัฐบาล 15 พรรค ดังนี้:
1. พรรคเพื่อไทย – 141 เสียง
2. พรรคภูมิใจไทย –69 เสียง
3. พรรครวมไทยสร้างชาติ – 36 เสียง
4. พรรคกล้าธรรม23 เสียง
5. พรรคประชาธิปัตย์ – 21 เสียง
6. พรรคชาติไทยพัฒนา – 10 เสียง
7. พรรคประชาชาติ – 9 เสียง
8. พรรคชาติพัฒนา – 3 เสียง
9. พรรคไทรวมพลัง – 2 เสียง
10. พรรคประชาธิปไตยใหม่ – 1 เสียง
11. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน – 1 เสียง
12. พรรคใหม่ – 1 เสียง
13. พรรคท้องที่ไทย – 1 เสียง
14. พรรคพลังสังคมใหม่ – 1 เสียง
15. พรรคไทยสร้างไทย – 6 เสียง
การลงมติไม่ไว้วางใจ น.ส. แพทองธาร ล่าสุด ได้ 319 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถ้า สส. พรรคภูมิใจไทยไม่ยกมือสนับสนุนร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 และ สส. พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดยกมือสนับสนุน จะได้เสียงประมาณ 255-256 เสียง
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักข่าวอิสรา
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี