ช่วงนี้เรื่องของ “พื้นที่ทับซ้อน” หรือ “ที่ดินทับซ้อน” กลับมาเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจอีกครั้ง จากกรณี “หมุด ส.ป.ก. ปริศนา” โผล่ในพื้นที่ “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” และไม่ได้มีเพียงจุดเดียว โดย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 ว่า ในการตรวจสอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติ142 แห่ง จาก 157 แห่งทั่วประเทศ พบเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับ ส.ป.ก.4-01 ประมาณ 205,000 ไร่
โดยเฉพาะแค่พื้นที่อุทยานฯทับลาน มีประมาณ 7-8 หมื่นไร่แล้ว ซึ่งขณะนี้ยังรอข้อมูลจากสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์อีก 2 สำนัก อุทยานประมาณ 10 กว่าแห่ง คาดว่าจะพบพื้นที่ทับซ้อนมากกว่านี้ ส่วนเรื่องความแม่นยำของแผนที่ กรมอุทยานฯใช้เทคโนโลยีในการรังวัดแนวเขตที่มีความแม่นยำสูง มีค่าความคลาดเคลื่อนเพียง 5 เซนติเมตร ส่วนแผนที่ One map ที่ยังไม่แล้วเสร็จ จะใช้ยึดเป็นเพียงแนวเขตภาพรวม โดยจะมีข้อตกลงร่วมกันระหว่าง 9 หน่วยงานเพื่อวางแนวเขตที่ดินในอนาคตต่อไป
จากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ซึ่งยังคงปักหลักชุมนุมต่อเนื่องมาแล้วหลายวัน ก็เป็นองค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอย่างเป็นระบบ ซึ่งหลายพื้นที่ในประเทศไทย ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อโต้แย้งสิทธิ์หลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและขับไล่ชุมชนออกจากพื้นที่ ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ของรัฐ เช่น ป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ พื้นที่สาธารณประโยชน์ หรือที่ดินอื่นๆ ในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐ (เช่น พื้นที่ทหาร) ซึ่งประชาชนก็พยายามหาหลักฐานมายืนยันว่าชุมชนอยู่มาก่อนที่รัฐจะประกาศเขตพื้นที่ดังกล่าว
แม้กระทั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันอย่าง ชาดา ไทยเศรษฐ์ ยังเคยให้สัมภาษณ์กับรายการ “แนวหน้า Talk” เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ยอมรับว่า กรมที่ดินมีปัญหาค่อนข้างมากในเรื่องพื้นที่ทับซ้อน เฉพาะที่มีการออกโฉนดไปแล้วมีการเพิกถอนโฉนดในภายหลัง ปัจจุบันมีคดีที่กรมที่ดินถูกฟ้อง มูลค่าการฟ้องรวมอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้ารบาท แต่หากรวมสิ่งปลูกสร้างเข้าไปด้วยจะขึ้นไปถึง 3 แสนล้านบาท เป็นคดีที่สะสมมาเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาที่ดินเป็นปัญหาเรื้อรัง ปัญหาแผนที่ ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามทำให้แผนที่ของทุกหน่วยงานในประเทศไทยเป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือ One Map ปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จดีนัก แต่ก็จะพยายามทำให้เรียบร้อยได้มากที่สุด
สำหรับ “วันแม็ป (One Map)” นั้น มีชื่อเต็มๆ ของโครงการคือ “การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000” ริเริ่มในยุครัฐบาลทหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยย้อนไปเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2558 “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ได้สั่งการให้กระทรวงต่างๆ ที่เกียวข้อง จัดทำแผนที่ดิจิทัล มาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อระบุแนวเขตที่ชัดเจนระหว่างพื้นที่ป่ากับพื้นที่ทำกินของประชาชน อันเป็นการลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน
ซึ่งหน่วยงานเหล่านั้นประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแหละสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ปัจจุบันคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันคือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) จากนั้นในวันที่ 22 ก.ย. 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทาง One Map รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการ พร้อมจัดทำคู่มือหลักเกณฑ์ 13 ข้อ สำหรับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ร่วมกัน
วันเวลาผ่านไปเกือบ 9 ปี เรื่องของ One Map กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง จากกรณีหมุด ส.ป.ก. ปริศนาดังกล่าว โดยในวันที่ 23 ก.พ. 2567 สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวถึงเรื่องนี้ ยอมรับว่ายังมีปัญหาเรื่องแผนที่ เรื่องของวันแมพ หลายพื้นที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยอมรับว่าพื้นที่เป็นปัญหาเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ยังไม่เสร็จเรียบร้อย มีการถกเถียงกันอยู่ ตนในฐานะประธานคณะกรรมการวันแมพ เร่งรัดให้ทำจุดนี้ให้จบและได้แผนที่ฉบับเดียวกันปัญหาจะคลี่คลายทั้งหมด ยอมรับว่าพื้นที่ตรงนี้ทำยาก ค่อยๆ คลี่ปม จัดการไปทีละจุด
ในวันเดียวกัน ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังได้กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกัน โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีควรเป็นตัวกลางแก้ไข เนื่องจากเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาจากหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน และปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วย โดยเฉพาะ One Map ที่เรารอคอยมากว่า 10 ปี แต่ทุกวันนี้ก็ยังใช้วิธีการพูดคุยเพื่อจบปัญหา ไปทีละเรื่อง ไปทีละแปลง แต่หากมีวันแมพที่จะเป็นแผนที่เดียวทั้งประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ และระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน ก็จะจบและไม่มีปัญหาต่อเนื่อง ยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า “วันแม็ป” หรือการ “สังคายนา” แผนที่ของหน่วยงานต่างๆ ให้ตรงกัน เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน จะแล้วเสร็จเมื่อใด แต่ก็หวังว่าจะไม่ล่าช้ายาวนานเกินไป เพราะนับจากที่ “บิ๊กตู่” ริเริ่มไว้ ถึงวันนี้ก็ผ่านมาเกือบ 1 ทศวรรษแล้ว และทุกวันที่ต้องรอ หมายถึงข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับรัฐ (หรือแม้แต่ระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง) ก็จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป!!!
อ้างอิง
https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parbudget/ewt_dl_link.php?nid=1304&filename=index (การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) : สำนักงบประมาณของรัฐสภา , สิงหาคม 2566)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/local/788831 ‘ชัยวัฒน์’เปิดข้อมูล 142 อุทยานฯทับซ้อน‘ส.ป.ก.’กว่า 2 แสนไร่ กางขั้นตอนง่ายๆออกเอกสารสิทธิ์
https://www.naewna.com/politic/785405 'บิ๊กโจ๊ก'เผยบ่ายนี้ 'แกนนำพีมูฟ' ถก 2 รองนายกฯ เตรียมขนของกลับหากได้ความชัดเจน
https://www.naewna.com/politic/785818 ‘ชาดา’ชี้ปัญหาที่ดินไทย‘พื้นที่ทับซ้อน’ออกโฉนดมีมาก กำชับขรก.อะไรทำได้-ไม่ได้ ให้บอกปชช.ตรงๆ
https://www.naewna.com/politic/788998 ทำทั้งประเทศ!!! ‘สุทิน’เร่งรัด‘กรมแผนที่ทหาร’ เคลียร์ข้อพิพาทที่ดิน‘สปก.เขาใหญ่’
https://www.naewna.com/politic/789052 จัดหนัก‘รัฐบาล’ ‘ก้าวไกล’เร่งรวบรวมข้อมูลซักฟอก แย้มปม‘ทักษิณ’มาแรง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี