วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ดร.ธีร์รัฐ บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญากรุงเทพใต้ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ศาลฎีกาไม่พิจารณาคำร้อง คดีคุณทักษิณ”
ข่าวเดิมมีอยู่ว่า อดีตนายกรัฐมนตรี คุณทักษิณ ชินวัตรที่หลบหนีคดีไปต่างประเทศ ได้เดินทางกลับมารับสารภาพและยอมรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลฎีกา แต่พอเรือนจำรับตัวในฐานะนักโทษที่ศาลพิพากษาเด็ดขาดแล้ว เรือนจำเห็นว่าอดีตนายกฯป่วย จึงได้ส่งไปรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ยังไม่ต้องเข้ารับโทษในเรือนจำ
ระหว่างรักษาพยาบาล คุณทักษิณก็ยื่นคำร้องผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ทูลเกล้าเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะราย จนได้รับพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานลดโทษจำคุกตามคำพิพากษาให้น้อยลง
คุณทักษิณยังไม่ทันได้รับโทษจำคุกตามที่ได้รับจากการทูลเกล้า เพราะยังไม่หายป่วย รักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไป จนล่วงเลยเวลารับโทษจำคุกตามคำพิพากษาที่ได้รับพระราชทานมาแล้ว จนกระทั่งแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ เรือนจำน่าจะถือว่า การรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นอยู่ในอำนาจควบคุมของเรือนจำ จึงถือว่าคุณทักษิณรับโทษจำคุกแล้วนั่นเอง
ต่อมา มีนักการเมืองคนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับเรือนจำที่ปล่อยตัว และพักโทษให้คุณทักษิณทั้งที่ยังไม่ได้รับโทษจำคุกตามจริง เขายื่นคำร้องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีคำพิพากษาจำคุกนั้น เรียกไต่สวน เพื่อให้เรือนจำนำตัวคุณทักษิณกลับเข้ารับโทษจำคุกในเรือนจำ
เรื่องแบบนี้ เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง เช่น มีคดีทางการเมืองพัวพันมาตรา 112 เจ้าหน้าที่รัฐยื่นคำร้องขอศาลให้บล็อกเวปไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลที่น่าจะเป็นความผิดต่อความมั่นคง ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ศาลจึงเรียกไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 20 เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติในคดีอาญา เพราะเป็นเรื่องระหว่างศาลกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ยื่นคำร้อง เหมือนกับการขอศาลออกหมายจับ หมายค้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือสั่งอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ คนที่จะถูกจับ ถูกขัง แอบรู้มา เลยรีบมายื่นคำร้องคัดค้าน ไม่ได้ เพราะเป็นการไต่สวนก่อนรัฐใช้อำนาจสืบสวนสอบสวนในคดีอาญา ที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลัก Due Process of Law หรือหลักนิติธรรม คนอื่นไม่เกี่ยว ต่างจากการไต่สวนในคดีแพ่งที่เป็นเรื่องของเอกชนที่ต้องรักษาผลประโยขน์กันเอง จึงต้องฟังความทุกฝ่าย และต้องสอบถามอีกฝ่ายว่าจะคัดค้านหรือไม่
ต่อมาคดีนั้น ศาลมีคำสั่งให้บล็อกเว็บไซต์ เรื่องก็น่าจะจบ เพราะหลัก Due Process ในเรื่องนี้ ไม่มีกฎหมายให้อุทธรณ์คำสั่งศาลได้ แต่มีอดีตนักการเมืองคนหนึ่งยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนตนเองและเจ้าหน้าที่รัฐในคดีบล็อกเว็บไซต์ใหม่ ศาลชั้นต้น ก็รับคำร้อง นัดไต่สวนให้ ต่อมาศาลเปลี่ยนคำสั่งใหม่เป็น ยกคำร้องเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่บล็อกเว็บไซต์นั้น จึงมีการอุทธรณ์คดีไปยังศาลอุทธรณ์ ดูวุ่นวายไปหมด
ประเด็นที่น่าคิดในเรื่องคดีคุณทักษิณนี้ คือ ไม่ใช่คู่ความในคดี จะมีสิทธิยื่นคำร้องในคดีได้มั้ย เช่น คดีแตงโม เอกชนไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย แม้ไม่เห็นด้วยกับคดี ก็ไม่มีสิทธิยื่นฟ้อง หรือขอเข้าร่วมเป็นโจทก์
อันนี้ชัดเจน ทราบกันดีอยู่แล้วในหมู่นักกฎหมาย ไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ย่อมไม่มีสิทธิเข้ามายุ่งเกี่ยวในคดี ถ้ายื่นเข้ามา ศาลก็ต้องยกคำร้อง
ที่น่าคิดในแง่วิชาการมากกว่านั้น มากกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ ก็คือ ถ้าข้อมูลของบุคคลภายนอกน่าสนใจ อาจมีผลเกี่ยวกับคดี ศาลจะทำอะไรได้บ้าง และถ้าเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำอย่างไรให้ข้อมูลนั้นเข้าสู่ศาล
เรื่องแบบนี้ เข้ามาสู่หู สู่ตา สู่ความรับรู้ของผู้เขียนหลายเรื่อง สมัยนั้น ผู้เขียน เห็นเป็นการส่วนตัวว่า ศาลยกคำร้องนั้นถูกแล้ว แต่ก็ควรพิจารณาเนื้อหาของคำร้องนั้นด้วย ถ้าไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ ก็ปล่อยไป ถ้าเห็นว่า มีสาระ อาจมีผลกระทบต่อการวินิจฉัยคดี ศาลก็มีอำนาจเรียกไต่สวนเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ แต่ไม่ใช่รับคำร้อง แล้วเรียกไต่สวนให้ตามคำร้องของบุคคลภายนอกนะครับ ต้องถือว่า เป็นอำนาจทั่วไปในการผดุงความเป็นธรรมและความถูกต้อง เมื่อศาลเห็นสมควรเอง โดยไม่มีคู่ความร้องขอในสายตาของกฎหมาย
ก็ได้แต่คิด และอยากให้หลายศาลทำ คือ เรียกไต่สวนเองได้ ถ้ามีข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์ โดยไม่ต้องเกรงว่าทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจ มีกฎหมายให้อำนาจครับ ก็คำว่า “ตามที่ศาลเห็นสมควร” ที่เขียนไว้ในกฎหมายมากมาย
นั่นล่ะ คือ เจตนารมย์ ที่เปิดโอกาสให้ศาลหยิบยกเรื่องใดๆได้เอง ถ้ามีเหตุผลและข้อมูล เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เหมือนเวลาศาลสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยทั่วไปก็จะสั่งเรื่องหลักประกัน การงดหมายขัง และเงื่อนไขต่างๆเท่านั้น แต่ถ้าศาลเห็นว่า เป็นคดีข่มขืน คดีทำร้ายร่างกาย พยายามฆ่า ศาลจะสั่งเพิ่มลงไปว่า
“และให้มีหนังสือแจ้งผู้เสียหายทราบว่าจำเลยได้ประกัน หากจำเลยไปข่มขู่คุกคาม จูงใจ หรือทำลายพยานหลักฐาน ให้มาแจ้งศาลทราบ เพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว“
การสั่งแบบนี้ทำได้มั้ย เพราะไม่มีกฎหมายเขียนให้ทำได้ หรือห้ามทำ ผู้เขียนเห็นว่าทำได้ เพราะเป็นประโยชน์ ไม่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรม และก็เคยเขียนเพิ่มเติมแบบนี้เวลาสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวมาแล้ว แต่เสียดายที่คดีต่างๆที่ผ่านมา มักจะเห็นแค่ศาลสั่งยกคำร้องของคนนอกคดี ไม่ค่อยเห็นศาลสั่งไต่สวนเองจากข้อมูลที่ได้นั้น
วันนี้ ได้ข่าวว่า คดีคุณทักษิณนั้น ศาลฎีกาไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้อง เพราะเขาไม่ใช่คู่ความ ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งก็เสมือนกับยกคำร้อง คือไม่พิจารณาให้ ซึ่งถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย บรรดานักกฎหมายคงเดาผลได้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนยื่นคำร้องแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ศาลฎีกาท่านสั่งเพิ่มเติมอีกว่า ด้วยข้อมูลที่ได้จากคำร้อง เห็นสมควรนัดให้ราชทัณฑ์และผู้เกี่ยวข้องมาไต่สวนเกี่ยวกับข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไป
เยี่ยมมากครับ คำสั่งศาลฎีกาลักษณะนี้ น่าจะเป็นแนวทางและยึดถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ได้
ผู้เขียนไม่นิยม เรื่องการเมืองนะครับ โพสต์นี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง และไม่ได้แสดงให้เห็นว่าฝักใฝ่เลือกข้างใดทางการเมือง ศาลฎีกาจะยก หรือรับคำร้อง ก็เป็นเรื่องของผู้ได้รับผลกระทบ ศาลฎีกาจะไต่สวนคำร้องใหม่มั้ย แล้วจะสั่งอย่างไร ก็เป็นเรื่องของศาลท่าน
โพสต์นี้ จึงเป็นเรื่องทางวิชาการกฎหมายล้วนๆ เน้นเรื่องดุลพินิจศาล และการใช้กฎหมายโดยเจตนารมย์มากกว่าถ้อยคำในกฎหมาย เป็นคำสั่งศาลฎีกาที่คำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรม ใช้อำนาจอย่างเหมาะสม คือ สมควรใช้ ก็ต้องกล้าใช้ ขอชื่นชมคำสั่งศาลฎีกาในเรื่องนี้อีกครั้ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'ดร.ธีร์รัฐ'ชื่นชมคำสั่งศาลฎีกา ปมไต่สวน'ทักษิณ' คำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรม ใช้อำนาจเหมาะสม
007
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี