เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เผยแพร่บทความเรื่อง การสรรหาเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ระวังซ้ำรอย 'คดีฮั้ว สว.' โดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ มีเนื้อหาดังนี้
"...ประเด็นของประกาศดังกล่าว ที่ทำให้ถูกมองว่าเป็นการ 'ล็อกสเปค' เพราะผู้ที่มีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถเหมาะสมไม่สามารถยื่นสมัครเข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการฯ ได้ด้วยตัวเองหรือให้องค์กรอื่นๆ เสนอชื่อได้ แต่ให้กรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้าซึ่งมีจำนวน 16 คนเป็นผู้เสนอชื่อได้เท่านั้น และ กรรมการสภาสภาฯ แต่ละคนเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งได้เพียงหนึ่งคนเท่านั้น..."
ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน กำหนดให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าซึ่งมีจำนวน 3 คนเข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหา
การสรรหาเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าแทนนายวิทวัส ชัยภาคภูมิ (จะพ้นตำแหน่งในวันที่ 23 สิงหาคม 2568 ) ในครั้งนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะ มีการกล่าวหาว่า ประกาศคณะกรรมการสรรหาเรื่องการเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯ ที่ออกโดยที่ประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้า มีการ ‘ล็อกสเปค’ ให้กับคนใกล้ชิดของกรรมการ สภาสถาบันพระปกเกล้าบางกลุ่มหรือคนที่อิทธิพลในแวดวงการเมือง
ประเด็นของประกาศดังกล่าว ที่ทำให้ถูกมองว่าเป็นการ 'ล็อกสเปค' เพราะผู้ที่มีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถเหมาะสมไม่สามารถยื่นสมัครเข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการฯ ได้ด้วยตัวเองหรือให้องค์กรอื่นๆ เสนอชื่อได้ แต่ให้กรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้าซึ่งมีจำนวน 16 คนเป็นผู้เสนอชื่อได้เท่านั้น และ กรรมการสภาสภาฯ แต่ละคนเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งได้เพียงหนึ่งคนเท่านั้น
ทั้งนี้ ประกาศ ข้อ 1.ระบุว่า “กรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้ามีสิทธิในการเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า โดยสามารถเสนอชื่อได้เพียง 1 คนเท่านั้น”
จากประกาศดังกล่าว ถ้ากรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้าทุกคนเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมคนละ 1 ชื่อเพื่อชิงตำแหน่งเลขาธิการฯ ก็จะมีบุคคลให้คัดเลือกจำนวน 16 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ไม่มาก หรือน้อยเกินไป
แต่ในความเป็นจริงแล้วมีผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการฯ รายหนึ่ง ต้องการตัดคู่แข่งให้เหลือน้อยที่สุดจึงใช้วิธีวิ่งเต้นให้กรรมการสภาสถาบันฯ หลายคนเซ็นรับรองเสนอชื่อตนเอง โดยที่กรรมการสภาสถาบันฯ ต่างไม่ทราบว่า บุคคลผู้นี้ได้ให้กรรมการสภาสถาบันฯ รายอื่น เซ็นรับรองไปแล้ว ทำให้ผู้สมัครรายนี้เพียงคนเดียวมีกรรมการสภาสถาบันฯ เซ็นเสนอชื่อเกือบ 10 คน
ทำให้กรรมการสภาสถาบันฯ เหล่านี้ไม่สามารถเซ็นเสนอชื่อบุคคลอื่นๆ ได้อีก
“กรรมการ สภาสถาบันฯ หลายคนไม่รู้จักผู้สมัครรายนี้ แต่ที่เซ็นรับรองเสนอชื่อให้ก็เพราะเกรงใจผู้ใหญ่ในแวดวงการเมืองที่ขอร้องมา” กรรมการสภาสถาบันฯ รายหนึ่งกล่าว
นอกจากประเด็นการใช้เล่ห์กล ในการตัดคู่แข่งข้างต้นแล้ว
นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และอดีตประธานสภาพัฒนาการเมือง ยังตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดให้ผู้สมัครฯจะต้องให้กรรมการสภาสถาบันฯเเซ็นรับรองเพื่อเสนอชื่อนั้น เป็นการปิดกั้นผู้มีความรู้ความสามารถหรือผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมอื่นๆ เพราะบุคคลเหล่านั้นอาจจะไม่รู้จักกรรมการสภาสถาบันฯ จึงไม่สามารถ หรือไม่กล้าให้ไปเซ็นรับรอง
ขณะที่กรรมการสภาสถาบันฯก็ไม่รู้จักผู้ที่ต้องการสมัครฯก็ไม่กล้าเซ็นรับรองเช่นกัน เพราะอาจเกิดความเสียหายขึ้นในภายหลังได้
นอกจากนั้นกรรมการสภาสถาบัฯอาจจะกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้ง หากจะเสนอผู้สมัครฯคนอื่นไปแข่งกับกรรมการสภาสถาบันฯคนอื่น จึงอาจจะปฏิเสธการลงชื่อรับรองผู้ต้องการสมัคร
“อาจจะมีกลุ่มคนบางกลุ่มตกลงกันภายในเพื่อสนับสนุนผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง อาจจะกลายเป็นการล็อกสเปค” นายธีรภัทร์ กล่าว
เมื่อพิจารณาจาก ปรากฏการณ์เกิดขึ้นจะเห็นว่าข้อสังเกตของนายธีรภัทร์ เกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะประเด็นที่มีผู้สมัครรายหนึ่งวิ่งเต้นให้กรรมการสภาสถาบันฯ หลายคนเซ็นรับรองเสนอชื่อตนเองเข้าสมัคร เพื่อตัดคู่แข่งให้เหลือน้อยที่สุด
ที่สำคัญคือ ถ้าผู้สมัครรายนี้ผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการสภาสถาบันฯ
คำถามคือกรรมการสภาสถาบันฯ ที่เซ็นรับรองเสนอชื่อผู้สมัครรายนี้ จะยกมือไม่ให้ความเห็นชอบหรือไม่เพราะเป็นผู้เซ็นรับรองเสนอชื่อเอง
ถ้าผู้เซ็นรับรองเสนอชื่อไม่ยกมือให้ความเห็นชอบก็เท่ากับการเซ็นรับรอง ที่ผ่านมาเป็นการเซ็นส่งเดชไปเท่านั้น
ดังนั้น การกำหนดให้กรรมการสภาสถาบันฯเป็นผู้เซ็นรับรองเสนอชื่อผู้สมัครในลักษณะดังกล่าวข้างต้น เท่ากับเป็นการ ‘ล็อกสเปค’ ล่วงหน้าหรือไม่
ขณะเดียวกันเป็นการจำกัดผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าสมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าซึ่งเป็นองค์กรที่มีความสำคัญด้านวิชาการและการพัฒนาบุคลากรให้กับแวดวงการเมือง และสังคมมานานเกือบ 30 ปี
การจำกัดมิให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้าสมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อาจทำให้ ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งดังกล่าวมีคุณภาพและศักยภาพด้อยกว่าที่ควรจะเป็นโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตเลขาธิการฯในอดีต เช่น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายวุฒิสาร ตันไชย
เมื่อกระบวนการสรรหาเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าครั้งนี้ มีจุดด่างพร้อยและมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่ามีการ “ล็อกสเปค” แล้ว ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กรรมการสภาสถาบันฯ คณะกรรมการสรรหาฯ ควรยกเลิกการสรรหาครั้งนี้และแก้ไขประกาศให้มีการเปิดกว้างให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้าสมัครชิงตำแหน่งได้มากกว่าที่เป็นอยู่
ถ้าหากยังดื้อดึงเดินหน้าต่อไประวังจะซ้ำรอย 'คดีฮั้วเลือก ส.ว.' จนทำลายความน่าเชื่อถือและนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันพระปกเกล้าอีกด้วย
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
ขอบคุณที่มาจาก : https://www.isranews.org/article/isranews-article/137914-prasong-4.html
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี