"นายกฯ"มั่นใจ"ทีมไทยแลนด์"พร้อม หลังสัญญาณ"สหรัฐฯ"ตอบรับดีเยี่ยม "รมว.คลังสหรัฐฯ"ชื่นชมไทยริเริ่มข้อเสนอน่าประทับใจในการเจรจา มั่นใจเราเดินมาถูกทางแล้วในการวางกรอบการเจรจาในเวลาที่เหมาะสม เชื่อการเจรจาจะเป็นผลดีกับประเทศ
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนการเดินทางไปประชุมที่เวียดนามเช้าวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจากำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาพิจารณาข้อมูลที่เตรียมการไว้ รวมทั้งให้ติดตามสาระสำคัญ ที่มีการพูดถึงการเจรจาของแต่ละประเทศในเวทีการประชุมการลงทุนซาอุดีฯ - สหรัฐฯ ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ระบุว่า นายสก็อตต์ เบสเซนต์ (Mr. Scott Bessent) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงหลายประเทศในยุโรป และเอเชีย ที่ได้มีการส่งข้อเสนอเพื่อขอเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งการเจรจากับประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศในเอเชีย เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิผล
โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงประเทศไทย ว่า การพูดคุยกับประเทศไทยนั้น ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี พร้อมชื่นชมว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้นำเสนอแนวคิดริเริ่มที่โดดเด่น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยังย้ำว่า การเจรจาการค้าที่มีพัฒนาการร่วมกับญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน พร้อมชื่นชมไทย ต่อการริเริ่มข้อเสนอที่น่าประทับใจ ซึ่งคาดว่าน่าจะนำไปสู่การเจรจาที่มีประสิทธิผล
"นับเป็นสัญญาณบวกของประเทศไทย จากการทำงานอย่างต่อเนื่องของทีมไทยแลนด์ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดยุทธศาสตร์การเจรจากับสหรัฐฯ ที่ให้เน้นความรอบคอบ ครบถ้วน และจังหวะเวลาที่ถูกเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนการค้า ส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐฯ ควบคู่กับการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ทันสมัย แข่งขันได้และเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลกมากขึ้น"
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า การทำงานของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เตรียมการมาตั้งแต่ต้นปี ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเข้าสาบานตนรับตำแหน่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อประสานและผลักดันการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามทุกประเด็นในการเตรียมความพร้อม และให้ทีมศึกษาข้อเสนอแนะของประเทศต่างๆ รวมไปถึงการหารือระหว่างสหรัฐฯ กับ ประเทศต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้วางกรอบการเจรจา 5 แนวทาง ดังนี้
1) การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร โดยวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าสินค้าใดที่ไทยขาดแคลนวัตถุดิบ และสามารถนำเข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตได้ในลักษณะ win-win
2) การทบทวนภาษีนำเข้าของสินค้าปัจจุบัน โดยรัฐบาลจะพิจารณาการผ่อนคลายเงื่อนไขบางประการและบริหารโควต้าให้เหมาะสม โดยต้องไม่กระทบกับภาคการผลิตในประเทศ
3) การปรับปรุงกลไกภายในประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนทางกฎระเบียบและขั้นตอนนำเข้าสินค้า โดยมุ่งแก้ไขอุปสรรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี (Non-Tariff Barriers) พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพระบบภายในประเทศ ลดภาระของผู้ประกอบการ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและนวัตกรรม
4) ใช้มาตรการคัดกรองสินค้านำเข้าอย่างรอบคอบ ตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวด และดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศที่สามใช้ไทยเป็นฐานหลีกเลี่ยงมาตรการทางภาษีจากสหรัฐฯ
5) ปรับโครงสร้างการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมีที่ไทยเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบและทรัพยากร และส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และคณะทีมที่ปรึกษา รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้ง ภาคเอกชน สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้หารือพูดคุยเพื่อให้ไทยมีข้อเสนอที่ดีที่สุด และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ซึ่งการที่ใช้ จังหวะเวลา และข้อมูลที่เหมาะสม จะทำให้การเจรจาเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมของประเทศไทยในการส่งออกทุกประเภทอย่างแน่นอน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี