ศาลปกครองสูงสุดสั่งชดใช้คดีจำนำข้าว10,028ล้าน
‘ยิ่งลักษณ์’กระอัก!
เหตุประมาทเลินเล่อร้ายแรง
ปล่อยให้การระบายข้าวทุจริต
เจ้าตัวโอดใช้หนี้ทั้งชีวิตก็ไม่หมด
ทนายดิ้นจ่อยื่นหลักฐานใหม่สู้คดี
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งที่ให้ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 35,000 ล้านบาท แต่สั่งชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะในส่วนการระบายข้าวแบบจีทูจี 50% ของมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท คิดเป็นเงินที่ต้องชดใช้ 10,028,861,880 บาท ด้านทนาย “ปู”เตรียมยื่นหลักฐานการขายข้าวของทางราชการเป็นหลักฐานชิ้นใหม่ ร้องขอความเป็นธรรมให้“ยิ่งลักษณ์” ยันถ้าศาลไม่รับถือว่าทุกอย่างจบ
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ 1 และนายอนุสรณ์ อมรฉัตร ที่ 2 ผู้ฟ้องคดี กับนายกรัฐมนตรีที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ 3 ปลัดกระทรวงการคลัง ที่ 4สํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 5กระทรวงการคลัง ที่ 6 กรมบังคับคดี ที่ 7 อธิบดีกรมบังคับคดี ที่ 8 และเจ้าพนักงานบังคับคดีสํานักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 6 ที่ 9 ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ 1 ฟ้องขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้เพิกถอนคําสั่งกระทรวงการคลังที่ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท
กรณีโครงการรับจํานําข้าวเปลือก กับชดใช้ค่าเสียหาย และเพิกถอนคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมทั้ง คําสั่งการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 2 ฟ้องขอให้เพิกถอนคําสั่งปฏิเสธคําขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวม และให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิกันส่วนในฐานะเจ้าของรวม โดยศาลปกครองกลางมีคําพิพากษาเพิกถอนคําสั่งกระทรวงการคลัง ที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพิกถอนคําสั่งประกาศการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อขายทอดตลาด และเพิกถอนคําสั่งของกระทรวงการคลัง เรื่อง คําร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวม ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าอุทธรณ์
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การดําเนินโครงการรับจํานําข้าวเปลือก แยกพฤติการณ์าของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (ประธาน กขช.) ออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง การดําเนินการในส่วนนโยบายการรับจํานําข้าวเปลือก ที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งไม่มีส่วนที่ต้องรับผิดทางละเมิดต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง) ส่วนที่สอง การดําเนินการในการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายรับจํานําข้าวเปลือก ซึ่งเป็นการกระทําทางปกครองแยกออกจากการดําเนินการในส่วนนโยบาย ผู้ฟ้องคดีที่ 1 อยู่ในฐานะเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดําเนินโครงการรับจํานําข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 นาปรัง ปีการผลิต 2555 นาปี ปีการผลิต 2555/56 และนาปี ปีการผลิต 2556/57 ผู้ฟ้องคดีที่ 1ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น และเป็นประธาน กขช. มีอํานาจหน้าที่ติดตาม กํากับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ และโครงการที่อนุมัติ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสินค้าข้าว
การที่สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบการดําเนินการตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 สรุปว่า โครงการดังกล่าวมีปัญหาเกิดขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินจํานวนมาก มีการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้นหลายขั้นตอน แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 1ไม่ดำาเนินการใดๆ ทั้งที่ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อทําหน้าที่ดําเนินโครงการรับจํานําข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาลแล้ว และไม่ติดตามให้คณะอนุกรรมการรายงานผลดําเนินการให้ทราบว่า มีปัญหาในการดําเนินโครงการฯตามที่ได้รับรายงานหรือไม่ การที่ผู้ฟ้องคดีที่1 รับรู้ข้อมูลนโยบายรับจํานําข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาลมีปัญหาทุจริตทุกขั้นตอน แต่ไม่สั่งการให้คณะอนุกรรมการที่ผู้ฟ้องคดีที่1ตั้งขึ้นให้ทําหน้าที่กํากับดูแลและควบคุมตรวจสอบการดําเนินโครงการรับจํานําข้าวเปลือกดําเนินการตรวจสอบว่ามีปัญหาการทุจริตหรือไม่ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่1ไม่คํานึงถึงข้อทักท้วงและข้อเสนอขององค์กรที่ทําหน้าที่ตรวจสอบการดําเนินการตามโครงการต่างๆของรัฐ แต่ปล่อยให้การดําเนินโครงการรับจํานําข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 และปีการผลิต255657ต่อไป จึงเป็นการปล่อยปละละเลย ไม่ใช้อํานาจหน้าที่ของตน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทุจริต เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการทําการทุจริตได้โดยง่าย ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทําละเมิดต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ให้ได้รับความเสียหายตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ส่วนกรณีมีปัญหาต้องพิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง)เพียงใดนั้น ศาลเห็นว่า ความเสียหายเฉพาะในขั้นตอนระบายข้าว
ด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ทราบปัญหาทุจริตแล้ว แต่ไม่ติดตามกํากับดูแลไม่ตรวจสอบ และในฐานะประธาน กขช. เข้าร่วมประชุม กขช. เพียงครั้งเดียว จากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกฯ ละเว้น เพิกเฉย ละเลยไม่ติดตามหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ และไม่กําหนดมาตรการป้องกันความเสียหาย จนเกิดการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวแบบจีทูจี ส่งผลให้มีปัญหาระบายข้าวไม่ทันต้องเก็บรักษาข้าวในคลังเป็นเวลานาน จนข้าวเสื่อมคุณภาพและสูญเสีย และไม่คำนึงถึงข้อทักท้วงของสตง.และป.ป.ช.
พฤติการณ์แห่งการกระทําของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เมื่อความเสียหายจากการทุจริตในขั้นตอนระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ เกิดจากการแอบอ้างทําสัญญาซื้อขายข้าวราคาต่ํากว่าราคาตลาด หาประโยชน์ทับซ้อนโดยทุจริตได้ข้าวส่วนต่างจากราคาข้าว เกิดความเสียหายเป็นเงิน 20,057,723,761.66 บาท
เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 ทราบปัญหาทุจริตในโครงการรับจํานําข้าวเปลือก กลับไม่ตรวจสอบ ติดตาม ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ทั้งที่มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมตรวจสอบกํากับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายการรับจํานําข้าวเปลือกที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ทั้งที่ มีอํานาจตามกฎหมายในการระงับยับยั้งแต่ไม่ดําเนินการ เนื่องมาจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จึงสมควรกําหนดสัดส่วนความรับผิดของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ให้รับผิดในอัตราร้อยละ 50 ของความเสียหายจากการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐตามสัญญาทั้ง ๔ ฉบับ คิดเป็นเงินที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดจํานวน10,028,861,880.83 บาท ดังนั้น คําสั่งกระทรวงการคลังที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจํานวน10,028,861,880.83 บาท จึงเป็นคําสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น การยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดในส่วนที่เกินกว่า 10,028,861,880,.83 บาท จึงเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และเมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้มาภายหลังจากการที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยาโดยมีเจตนาเปิดเผยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2538 อีกทั้ง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีบุตรด้วยกัน พฤติการณ์ย่อมถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองอยู่อาศัยร่วมกันตลอดมาและมีเจตนาเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีที่ 2 จึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ที่มีส่วนในทรัพย์สินเท่ากันกับผู้ฟ้องคดีที่ 1 แม้ไม่ปรากฏชื่อผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าวก็ตาม ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีที่ 2 จึงเป็นผู้มีสิทธิขอกันส่วนในทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี สํานักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 6 (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9) การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 โดยปลัดกระทรวงการคลัง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ปฏิเสธการขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวม ซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดมาจากผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ 2
ด้านนายนรวิชญ์หล้าแหล่ง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดถ้าเทียบกับศาลปกครองกลาง จะเห็นได้ว่ามีส่วนที่เหมือนกันในส่วนคำสั่งของกระทรวงการคลังที่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดในโครงการรับจำนำข้าวที่ผลิต 2555/26 และ 2556/57 จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาทคำพิพากษาของทั้งสองศาลตรงกันที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องรับผิดส่วนนี้แต่ให้มารับผิดในส่วนขั้นตอนการระบายข้าวที่บอกว่ามีการทุจริต ซึ่งอยู่ในขั้นตอนฝ่ายปฏิบัติซึ่งมีคณะอนุกรรมการระบายข้าวเป็นผู้ดูแล แต่ส่วนคำพิพากษาที่ให้รับผิดชอบค่าสินไหม 10,028 ล้านบาทนั้นในวันที่มีการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 มีข้าวเหลือในคลัง 18.9 ล้านตัน ในคำสั่งกระทรวงการคลังระบุไว้ว่า ถ้าราชการขายข้าวได้ราคาสูงกว่ามูลค่าที่คณะอนุปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวให้ไว้วันนั้น สามารถนำมาหักในส่วนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบได้ ซึ่งปัจจุบันข้าว 18.5 ล้านตัน เพิ่งถูกขายหมดในรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร
นายนรวิชญ์กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าการจำหน่ายข้าวส่วนนี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นใหม่ที่ทีมทนายความพยายามยื่นเข้าไปในคดีนี้แล้ว แต่การยื่นนั้นสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ศาลก็ไม่รับ จากนี้ทีมทนายความต้องหารือว่าจะนำประเด็นนี้ไปขอพิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งตนยืนยันจะดำเนินการในส่วนนี้ให้ถึงที่สุดเพื่อคืนความเป็นธรรมให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ทั้งนี้ ในการยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ต้องยื่นภายใน 90 วัน ตาม พ.ร.บ.พิจารณาคดีปกครอง มาตราที่ 75 ซึ่งในส่วนคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้นถือว่าจบไป และตอนนี้ทรัพย์สินยึดไปขายทอดตลาดเกือบหมดแล้ว โดยจะไม่เกิน 10,028 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนผู้ร้องที่ 2 ที่ศาลให้กันส่วนทรัพย์สินไว้มีมูลค่าเท่าไหร่ นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ทรัพย์สินที่ได้มาหลังเดือนพฤศจิกายน 2538 ถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมทั้งหมด ทั้งที่ดินบึงกุ่ม และเกือบทุกรายการ โดยต้องคืนนายอนุสรณ์ไปครึ่งหนึ่ง
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ที่จะยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ นายนรวิชญ์ชี้แจงว่า จะยื่นพยานหลักฐานใหม่ โดยเป็นข้อมูลทางราชการเช่นการขายข้าว ถ้ายื่นไปแล้วศาลไม่รับพิจารณาถือว่าทุกอย่างจบ แต่ตนต้องการสู้เพื่อความเป็นธรรมของน.ส.ยิ่งลักษณ์อีกครั้งอย่างไรก็ตาม ในการชดใช้เงิน 10,028 ล้านบาทนั้น ศาลไม่ได้กำหนดระยะเวลาการใช้เงินส่วนนี้ แต่ให้เพิกถอนคำสั่งบางส่วนเท่านั้น ซึ่งทรัพย์สินตอนนี้มีทั้งที่ขายไปแล้ว และที่กำลังรอการขายเท่านั้น และส่วนที่เกิน 1 หมื่น 28 ล้านบาท ก็ต้องคืนโดยจะไปว่าในการบังคับคดี ซึ่งคู่ความต้องดำเนินการส่วนนี้ด้วย จากนี้ตนขอดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่าจะยื่นกับกรมบังคับคดีหรือว่ากระทรวงการคลังอีกครั้ง
ด้านนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯโพสต์ว่า หลังศาลปกครองสูงสุด อ่านคำวินิจฉัยให้ตนต้องชดใช้หนี้กว่า 10,000 ล้านบาท จากคดีระบายข้าว ทั้งที่ตนไม่ได้เป็นจำเลยคดีนี้ และศาลปกครองกลางเคยวินิจฉัยว่าตนไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายกรณีดังกล่าว
“คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดวันนี้ ทำให้ดิฉันต้องชดใช้หนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ความเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารที่ต้องมารับภาระหนี้ที่เกิดจากการระบายข้าวของฝ่ายปฏิบัติ โดยที่ตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านั้น และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็พิพากษาคดีของดิฉันว่า ปล่อยปละละเลยในการบริหารโครงการรับจำนำข้าวเท่านั้น”นางสาวยิ่งลักษณ์ระบุ
และย้ำว่า รัฐบาลของตนตั้งใจจะช่วยเหลือชาวนาที่อยู่อย่างยากจนแร้นแค้น ให้ขายผลผลิตได้ในราคาสูง มีครอบครัวชาวนาได้ประโยชน์จากโครงการนี้จำนวนมาก แต่หากดำเนินนโยบายแบบนี้ กลับถูกกล่าวหาทำให้เกิดความเสียหาย ต่อไปใครจะกล้าคิดนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อีก
นางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ตนไม่มีเจตนาทำให้โครงการเสียหาย การดำเนินโครงการมีขั้นตอนตามระบบราชการ เกี่ยวกับหน่วยงานและบุคลากรหลายฝ่าย ไม่ใช่เรื่องที่หัวหน้าฝ่ายบริหารจะไปก้าวก่ายแทรกแซงในรายละเอียดได้ แต่ตนกลับต้องรับผิดชอบเพียงลำพัง ถ้าจะบอกว่าสิ่งนี้คือความเป็นธรรม ก็ยากยิ่งที่ตนจะเข้าใจและยอมรับได้ และหนี้ 10,000 ล้านบาท ชดใช้ทั้งชีวิต ยังไงก็ไม่มีวันหมด การทุ่มเททำงาน แบกรับแรงเสียดทานทั้งทางการเมืองและอีกหลายรูปแบบ เพื่อค้ำยันราคาข้าวให้สูงและมีเสถียรภาพ เพื่อชาวนามีชีวิตที่ดีกว่า กลับมีบทสรุปที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับตน
นางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวด้วยว่า 11 ปีนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สิ่งที่ตนต้องพบเจอซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือ ยึดอำนาจ ยัดคดี อายัดทรัพย์ เอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องมาบังคับให้ใช้หนี้ ความรู้สึกแบบนี้ไม่เกิดกับตัวเองคงไม่มีใครรู้ แต่ตนจะเรียกร้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมถึงที่สุด ถ้านายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไม่อาจเข้าถึงความยุติธรรมที่แท้จริง ก็ไม่มีหลักประกันสำหรับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเช่นกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี