ปชน.ไม่เอาด้วย
ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ
อ้างสารพัดยังไม่ถึงเวลา
ภท.ยกร่างซักฟอกแล้ว
พลังประชารัฐเห็นชอบ
ซัดเป็นภัยความมั่นคง
โฆษกภท.เผยยกร่างญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ“อุ๊งอิ๊งค์”แล้ว เตรียมชงพรรคร่วมฝ่ายค้านถกพิจารณา แย้ม“พปชร.”เอาด้วย กะซวกนายกฯ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ผิดร้ายแรง เป็นเหตุผลสำคัญ ขู่หากไม่ต้องการให้ประชาชนลุกฮือต้าน ต้องมาแจงในสภาฯ ด้าน“ปชน.”ปัดค้านสังฆกรรมร่วม ยื่นซักฟอกนายกฯอ้างสารพัด มีอีกหลายทางเลือกตรวจสอบ-รอไทม์มิ่ง แม่นยำ-ดูเรื่องคดีนายกฯในศาลฯ“วันนอร์”ชี้ยื่นซักฟอก“แพทองธาร”ไม่ได้ หากถูกศาลรธน.สั่งหยุดทำหน้าที่ แนะฝ่ายค้านต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบก่อน
เมิ่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี โฆษกพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า พรรคภูมิใจไทย ได้ยกร่างญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไว้แล้ว และจะเสนอให้พรรคประชาชน พรรคพลังประชารัฐ พรรคเป็นธรรม และพรรคไทยสร้างไทย ได้พิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะร่วมลงชื่อในญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือไม่ ในเบื้องต้นได้รับแจ้งจากพรรคพลังประชารัฐว่า เห็นด้วยในหลักการเนื่องจากนายกฯมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย และเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่ออธิปไตย และดินแดนของรัฐ สำคัญที่สุดคือ กระทบต่อจิตใจของประชาชนคนไทยทั้งชาติที่ไม่อาจไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศต่อไปได้อีกแล้ว
น.ส.แนน บุณย์ธิดา กล่าวต่อว่า สำหรับพรรคภูมิใจไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรง และมีความสำคัญต่อราชอาณาจักรไทย อธิปไตย ดินแดน และเกียรติภูมิของรัฐ และศักดิ์ศรีของประชาชนชาวไทยมากที่สุด ไม่มีเรื่องใดจะมีผลกระทบมาก และร้ายแรงเท่าเรื่องที่นายกฯ พูดจาเจรจาแบบสมยอมให้กับผู้นำของชาติ ที่กำลังมีข้อพิพาทกับประเทศไทย ถึงกับเรียกตนเอง และผู้นำของชาตินั้นว่า เรา ทุกคนที่ได้ฟัง เข้าใจได้ทันทีว่า ขณะคุยโทรศัพท์กันนั้น นายกฯของคนไทยเป็นพวกเดียวกับสมเด็จฮุนเซน และทหารกัมพูชา ที่กำลังรุกรานดินแดนของประเทศไทย และถูกตอบโต้จากทหารไทยด้วยอาวุธ และมาตรการปิดด่าน แต่นายกฯของประเทศไทยกลับตำหนิแม่ทัพของทหารไทย ว่า ทำเอาเท่ และกล่าวว่าแม่ทัพเป็นฝ่ายตรงข้ามกับนายกรัฐมนตรี อีกทั้งพยายามกดดันให้แม่ทัพภาคที่ 2 เปิดด่านตามที่สมเด็จฮุนเซนต้องการ ซึ่งนายกรัฐมนตรี รับปากไว้ว่า อยากได้อะไร จะจัดการให้หมด
“พฤติกรรมของนายกฯเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว พรรคภูมิใจไทย จะเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ที่คนไทยไม่ไว้วางใจแล้ว ผลโพลที่ออกมา ไม่ได้สะท้อนความนิยมในตัวท่านที่ลดลงจาก 30 % เหลือเพียง 9 % แต่แสดงให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจที่ประชาชนที่ให้กับนายกรัฐมนตรีด้วย ถ้ามีการสำรวจว่าคนไทยไว้วางใจให้นางสาวแพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่ เราน่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนกว่านี้” น.ส.แนน บุณย์ธิดากล่าว
โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่แย่ไปกว่านั้น คือนายกฯ ยังไม่รู้สึกว่าได้ทำอะไรผิดต่อประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยเสียหายมากแค่ไหน และ ไม่รู้ว่าประชาชนไม่พอใจท่านด้วยเหตุอะไร ท่านขออภัยที่ถูกเขาอัดคลิปมาปล่อย แต่ท่านไม่เคยขอโทษต่อสิ่งที่ท่านทำให้ประเทศไทยเสียเกียรติภูมิ คนไทยต้องเสียศักดิ์ศรี ชาวบ้านตามแนวชายแดน และ คนทำธุรกิจการค้าชายแดนต้องเดือดร้อนเสียหายมากแค่ไหน ทั้งหมดนี้ คือความเสียหายที่ประเทศไทย และประชาชนได้รับจากการกระทำของท่าน หากนายกฯ มั่นใจว่าไม่ได้กระทำอะไรผิด แต่เป็นเพราะประชาชนทั้งประเทศเข้าใจผิดกันไปเอง ตามที่ท่านคิด และเชื่อแบบนั้น ขอให้ท่านมาชี้แจงในสภาฯ ให้สส. ในฐานะผู้แทนของประชาชนได้พิจารณาตัดสินใจว่าสมควรไว้วางใจให้ท่านทำงานเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และของคนไทยต่อไปหรือไม่
“ถ้าท่านไม่ต้องการให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านท่าน นอกสภาฯ และเป็นเงื่อนไขที่อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครต้องการ ขอให้ท่านใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎร เป็นเวทีชี้แจง และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ท่านสมควรทราบว่าการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เป็นเวทีที่รัฐธรรมนูญสร้างไว้ ให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ใช้ชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงการทำงานของรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลได้รับความไว้วางใจ และเดินหน้าต่อไปจึงควรใช้เวทีนี้ และโอกาสนี้ ให้ดีที่สุด” น.ส.แนน บุณย์ธิดา กล่าว
ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีการหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า ตอนนี้มี 2 นัดหมาย คือ 1.การประชุมวิปฝ่ายค้าน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.ค. และ2.การประชุมระหว่างหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 3 ก.ค. ขอให้ติดตามรอฟังรายละเอียดในการหารือ ส่วนการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีนั้น ตนคิดว่าเป็นหัวข้อที่ต้องคุยกันอยู่เเล้ว ซึ่งก็ยังมีอีกหลายทางเลือกที่เราจะสามารถใช้กลไกสภาในการตรวจสอบฝั่งรัฐบาล
“ขอยืนยันอีกหนึ่งครั้งว่า เราไม่ได้เห็นต่าง หรือคัดค้านการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่จังหวะในการยื่น จะยื่นอย่างไรให้มีความแม่นยำมากที่สุด ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ต้องประเมินให้เห็นตรงกันระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกันเอง เนื่องจากในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ก็ต้องรอฟังความชัดเจนเรื่องคดีของนายกรัฐมนตรี ว่าตกลงแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งก็ทำให้เกิดความไม่แน่นอน” ผู้นำฝ่ายค้านฯ ระบุ
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า เรายืนยันว่าเราอยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่ที่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจสามารถทำได้ หนึ่งครั้งต่อหนึ่งปีสมัยประชุม หากเรายื่นตั้งแต่ตอนนี้เท่ากับว่าถ้าจะมีการยื่นอีกครั้ง ต้องรอในช่วงเดือนก.ค.ปีหน้า
เมื่อถามว่าหากยื่นช้าไปอาจจะไม่ทัน ถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่สามารถคิดได้ในมุมกลับ ว่าถ้ายื่นญัตติต่อนายกรัฐมนตรีไป แล้วเกิดอุบัติเหตุการเมืองต่อตัวนายกรัฐมนตรีขึ้นมา เราก็ไม่สามารถตอบได้ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ในการตีความว่า การยื่นจะเสียของหรือไม่ เพราะฉะนั้น ต้องประเมินสถานการณ์อีกสักหน่อย รอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ และอีกหลายๆ เรื่อง ถึงเวลาค่อยยืนอย่างแม่นยำ ซึ่งไม่ได้ทำให้เสียเวลาแต่อย่างใด
เมื่อถามถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระ2-3 ในช่วงเดือนส.ค.นี้ จะกลายเป็นอุปสรรคที่ส่งผลถึงนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หากลงมติแล้วเสียงไม่ผ่าน นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เรื่องงบประมาณก็เป็นกฎหมายที่สำคัญ แต่เชื่อว่าในบรรดาทุกกฎหมายต่อจากนี้ ที่รัฐบาลจะผลักดัน ตราบใดที่ยังเป็นรัฐบาลเสี่ยงปริ่มน้ำอยู่แบบนี้ ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ตลอดเวลา เพราะบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถออกมาส่งเสียงเรียกร้องเรื่องต่างๆ ได้ทุกครั้ง เพราะเสียงรัฐบาลปริ่มน้ำมีมากกว่าฝ่ายค้านเพียงแค่ 10 กว่าเสียง
ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทย ฐานะพรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ก.ค. นี้ว่า กรณีดังกล่าวต้องติดตามการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อคดีที่สว.ยื่นถอดถอนน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ว่าจะถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะยื่นอภิปรายไม่ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายเฉพาะนายกฯคนเดียวหรือรัฐมนตรีคนอื่นๆด้วย ซึ่งก็ต้องดูญัตติก่อน
“ผมเข้าใจว่าฝ่ายค้านคงดูด้วยความรอบคอบว่าจะอภิปรายใครบ้าง ซึ่งทางสภาฯ จะพิจารณาตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ และดำเนินการไปตามที่เคยปฏิบัติมา”นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
ประธานสภาฯกล่าวอีกว่าประเด็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ เป็นเรื่องขององค์กรอิสระ แต่เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น เป็นเรื่องของสภาและฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้นหากยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยื่นได้ตลอดเวลาที่สามารถยื่นได้ และเมื่อยื่นแล้วทางสภาฯพร้อมดำเนินการตามขั้นตอนที่ข้อบังคับกำหนดไว้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี