'กมธ.ทหาร' กังขาปิดคดี ‘น้องเมย’ ยุติธรรมแล้วหรือไม่ ซัด ‘กองทัพ’ ตรวจสอบในพื้นที่ตัวเอง ส่อเกิดวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล ไร้ตระหนักรู้ อ้างมีระเบียบเข้ม พอเรื่องเกิด ก็เลี่ยงเอาตัวรอดไปเรื่อย แล้วจะปฏิรูปได้อย่างไร จี้คายมันออกมา ‘เงินธุรกิจกองทัพ’ ช่วยดูแลกำลังพล
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การทหาร สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายชยพล สท้อนดี สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกกมธ.ฯ นายเอกราช อุดมอำนวย สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการกมธ.ฯ ร่วมแถลงกรณีที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 12 จ.ปราจีนบุรี มีคำตัดสินในคดีที่นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์หรือ น้องเมย อดีตนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตอย่างปริศนา หลังจากถูกธำรงวินัย โดยรุ่นพี่ทหาร 2 นายภายในโรงเรียนเตรียมทหาร
โดยนายชยพล กล่าวว่า ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียหาย แม้คดีจะจบลงไปแล้ว แต่กลายเป็นว่า การจบลงของคดีนี้ และคำตัดสินของศาล เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดคำถามในสังคมค่อนข้างมาก ถึงเรื่องมาตรฐานการตัดสินคดีของศาลทหาร รวมถึงการตั้งคำถามต่อการ ธำรงอยู่ของศาลทหารด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีอำนาจต่อการดำเนินคดี ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรของกองทัพ ซึ่งผลลัพธ์นั้น กลายเป็นว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และประชาชนที่เป็นคู่ขัดแย้งของกองทัพโดยตรง ดูจะไม่ได้รับความยุติธรรมหรือไม่
"ถึงเวลาแล้ว ที่กองทัพต้องตระหนักรู้ว่า ตนเองจะต้องมีมาตรฐาน ที่ไม่ใช่เขียนไว้ในกระดาษ และประกาศกันเองก็พอแต่ต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวดเช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่มีการสูญเสีย กองทัพมักจะพูดตลอดว่า ตัวเองมีระเบียบชัดเจนว่าห้ามกระทำการที่ละเมิด หรือเกินขอบเขตอำนาจต่างๆ แต่สุดท้ายเหตุการณ์แบบนี้ก็ยังคงเกิดขึ้น แล้วกองทัพจะพูดเอาตัวรอดไปเรื่อยๆ หรือ กองทัพไม่เคยบังคับใช้มาตรฐานนั้น อย่างเท่าเทียมกัน มีเพียงการขอใจ การวัดใจ แล้วก็ทำกันไปเรื่อยๆ ซึ่งจบลงด้วยการสูญเสีย และเมื่อเกิดความสูญเสียแล้ว กองทัพแทนที่จะแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจแต่กลับไปพิจารณาในศาลทหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ของเขาเอง เป็นวัฒนธรรมที่มีการตรวจสอบ โยกย้ายกันเอง สุดท้ายก็ไม่เกิดการเรียนรู้อะไรขึ้นมา ขอตั้งคำถามว่า บุคลากรที่ทำให้เกิดการสูญเสียนี้ คนที่เป็นต้นเรื่อง การได้รับโทษแค่เพียงเท่านั้น หรือการให้เหตุผลว่า การรับใช้ชาติต่อเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสมจริงหรือไม่ ครั้งนี้เราได้เห็นตัวอย่างแล้วว่า คุณไม่มีวิจารณญาณมากพอที่จะใช้อำนาจ กองทัพไม่ได้ตระหนักรู้เรื่องนี้เลย จึงยอมปล่อยให้บุคคลผู้นี้ รับใช้ราชการต่อได้ จบจากโรงเรียนนายร้อย ถือวุฒิ ถืออำนาจ ของเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องที่เกิดขึ้นภายในกองทัพ ผมขอฝากไปยังผู้บังคับบัญชาภายในกองทัพว่า คุณต้องตระหนักรู้ได้แล้ว และถึงเวลาที่คุณจะต้องปรับปรุงระบบภายใน" นายชยพล กล่าว
ด้านนายเอกราช กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องที่ถูกตั้งคำถามคือโทษไม่ได้สัดส่วน และกระบวนการยุติธรรมที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้ต่อสู้ในกระบวนการพิจารณาของศาลทหาร ซึ่งทั้งหมดนี้ เกิดจากพระธรรมนูญศาลทหาร ที่มีปัญหาหลัก คือไม่เปิดให้สิทธิ์ผู้เสียหายที่เป็นราษฎร สามารถฟ้องทหารได้ ต้องไปฟ้องผ่านอัยการทหาร ซึ่งก็มีผู้คัดกรอง แม้กระทั่งจะเป็นโจทย์ร่วมยังไม่ได้ โดย พรรคประชาชน และคณะกรรมาธิการการทหารฯ มีร่างพระราชบัญญัติที่ยื่นต่อสภาชุดนี้ไปแล้ว เพื่อแก้ไขเปิดสิทธิ์ให้ผู้เสียหายสามารถเข้าเป็นโจทก์ในคดีของศาลทหารได้
นายเอกราช กล่าวอีกว่า ระบบที่เป็นอยู่นี้ อยู่ภายใต้อำนาจฝ่ายบริหาร หรือรมว.กลาโหม รวมถึงตุลาการที่พิจาณาคดีอัยการที่ทำหน้าที่ฟ้อง ก็อยู่เป็นพรรคเป็นพวกเดียวกัน ตนจึงตั้งคำถามว่า ระบบการพิจารณาแบบนี้หรือที่สังคมต้องการ และสังคมทหารอยากให้ธำรงอยู่ เราอยากให้ศาลทหารเป็นอิสระจากอำนาจฝ่ายบริหาร และมีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลให้ได้สิทธิเท่าเทียมเหมือนศาลพลเรือน
นายเอกราช กล่าวต่อว่า มีการตั้งคำถามว่า ขณะนี้มีความพยายามของกรมพระรัฐธรรมนูญ ในการดึงอำนาจพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งบัญญัติว่า ต่อไปนี้หากมีการซ่อม หรือการธำรงวินัย จนเสียชีวิตในค่ายทหาร ในลักษณะเช่นนี้ จะเข้าข่ายการซ้อมทรมาน ซึ่งต้องไปขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพราะที่ผ่านมา มีแต่ปลาซิวปลาสร้อย ไม่เคยไปถึงผู้บังคับบัญชาระดับใหญ่เลย แม้กฎหมายจะเขียนไว้ว่า ให้ลากไปถึงก็ตาม เราต้องทำให้สามารสามารถเกิดการป้องปรามได้ ในส่วนการลงโทษทางอาญา ตนยืนยันว่า ไม่ใช่การแก้แค้น แต่ต้องให้ได้สัดส่วนโทษ
"รุ่นน้องเตรียมทหาร รุ่นพี่ที่เป็นทหาร อีกหน่อยก็คงคิดว่า ไม่เป็นไร เพราะหากเกิดขึ้นในศาลพลเรือน ก็โดนโทษหนักแต่ถ้าอยู่ในศาลทหาร ก็ไม่เป็นไร เป็นวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล เราต้องช่วยกันผลักดันร่างพระราชบัญญัติแก้ไขนี้และส่งเสียงไปถึงฝ่ายบริหาร เนื่องจากมีร่างบรรจุไว้แล้วด้วย รวมถึงมีร่างของคณะรัฐมนตรีด้วย ขอให้รีบยื่นเข้ามารีบแก้ไข เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งศาลทหาร และศาลพลเรือน" นายเอกราช กล่าว
นายเอกราช กล่าวด้วยว่า ขอส่งเสียงไปยังกองทัพ ที่มีความพยายามจะดึงคดีจากศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลับไปสู่อ้อมมือในอำนาจของศาลทหาร เช่นเดิม ซึ่งสะท้อนจากคำวินิจฉัยถึงการโต้แย้งเขตอำนาจศาล ใน จ.เชียงใหม่ ด้วยการอ้างว่า พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ขัดรัฐธรรมนูญ จึงควรให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร และกรมพระธรรมนูญเอง ก็ทำความเห็นไปในทำนองเดียวกัน เป็นเรื่องที่ตนผิดหวังมาก และสังคมตั้งคำถามว่า สุดท้ายเราจะปฏิรูปกองทัพได้อย่างไรหากคนภายใน ยังช่วยเหลือกันเอง นอกจากนี้เรายังได้มีการยื่นยกเลิกศาลทหารออกจากรัฐธรรมนูญด้วย จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันผลักดัน หากเห็นว่าเป็นปัญหา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนพ.ร.บ.เรื่องคดีทุจริต ที่พรรคประชาชนยื่นไว้แล้ว แต่ถูกปัดตกในวาระ 3 โดยขณะนี้ มีการยื่นร่างเข้าไปใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา จึงฝากส่งเสียงไปยังรัฐบาลว่า อยากให้ฝ่ายรัฐบาลสนับสนุนร่างแก้ไขทั้งหมดนี้
เมื่อถามถึงร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาลทหารของ ครม.ได้เห็นเนื้อหาของร่างหรือยัง มีความสอดคล้องกันหรือไม่นายเอกราช กล่าวว่า มีส่วนที่เห็นด้วยกัน 3 หลักการคือ เปิดสิทธิ์ให้ผู้เสียหาย มีกระบวนการปฏิรูปในชั้นอุทธรณ์ และฎีกา และยกเลิกเขตศาลจังหวัด แต่ฉบับของคณะกรรมาธิการการทหารฯ และฉบับของพรรคประชาชน ได้เปิดไว้ไกลกว่านั้น คือต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบ หรือมีตุลาการที่มาจากศาลฎีกา ศาลปกครอง มาช่วยให้เกิดการถ่วงดุลและทำให้กระบวนการการพิจารณาของศาลทหารโปร่งใสตรวจสอบได้
เมื่อถามว่าทางคณะกรรมการธิการการทหารฯ จะสามารถผลักดันกรณีนี้ ในเรื่องอื่นได้อย่างไร นายเอกราช กล่าวว่าอย่างน้อยเรื่องการชดใช้ค่าเสียหาย โดยไม่ต้องรอให้มีการฟ้องร้องทางแพ่ง แต่ควรมีการแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งท่านต้องดูแลบุคลากรของท่าน เพราะจนตอนนี้ ยังไม่สามารถบรรลุในการทดแทนให้ผู้ปกครองได้ รวมถึงจะมีการผลักดัน และติดตาม เพื่อทวงคืนความยุติธรรม รวมถึงคดีที่เกี่ยวเนื่องกัน อย่างเรื่องอวัยวะที่หายไป เราจะพยายามใช้กลไกสภา ในการตรวจสอบความล่าช้า ของการดำเนินการ
ส่วนจะมีโอกาสเรียกหน่วยงาน และญาติผู้เสียหายมาหรือไม่นั้น จะมีการส่งหนังสือ เพื่อขอความร่วมมือไป แต่คงต้องรอการหารือในกมธ.การทหารฯก่อน
ขณะที่ นายชยพล กล่าวเสริมว่า อย่างหนึ่งที่สามารถทำได้เลย คือการใช้เงินนอกงบประมาณ ประเภทที่ 2 ของกองทัพซึ่งควรมีไว้ใช้เพื่อดูแลกำลังพล แต่ที่ผ่านมา เราไม่เคยเห็นกองทัพใช้เงินส่วนนี้เลย ไหนล่ะ ที่บอกว่าทำธุรกิจกองทัพเพื่อประโยชน์ คายมันออกมาสิ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี