จากรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่สองปี 2563 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.2 และยังคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 น่าจะปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ 7.3%-7.8% แสดงถึงปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงอย่างยิ่ง
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าปรับตัวลดลงนั้นมาจากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงอย่างมหาศาล การถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ยังมีผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ในประเทศ บวกกับปัญหาภัยแล้ง นับเป็นความท้าทายสำคัญของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ที่ต้องแก้ปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน
ในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยใช้งบประมาณแบบขาดดุลมาตลอด นั่นคือการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว หรือการใช้จ่ายมากกว่ารายรับที่หาได้จากทั้งรายรับที่เป็นภาษี ค่าธรรมเนียม การสัมปทานและที่เป็นเงินนำส่งจากรัฐวิสาหกิจต่างๆ ทำให้ต้องกู้เงินมาใช้จ่าย แต่ด้วยความหนักหนาสาหัสของวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเพิ่มความเข้มข้นของนโยบายดังกล่าว เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
นโยบายการคลังแบบขยายตัวในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจนั้นจะต้อง “จัดหนักจัดเต็ม” ไม่งั้นจะเสียของ เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ การแจกเงินแบบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การอุดหนุนการท่องเที่ยว ฯลฯ แบบที่เคยๆ ทำคงไม่เพียงพอ ต้องอัดเม็ดเงินให้มากกว่าเดิมและต้องให้แน่ใจว่าหลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่ซับซ้อนจนประชาชนที่เดือดร้อนไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้ประโยชน์
นอกจากนี้ ยังน่าจะต้องเสริมมาตรการแจกเงิน ด้วยมาตรการภาษีที่ช่วยลดภาระภาษีหรือไม่เพิ่มภาระภาษีให้แก่ประชาชน ในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเหลือมากขึ้น จะได้ไปจับจ่ายใช้สอยกันได้ โดย ศบศ. ควรต้องเร่งพิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราภาษีบางประเภทเพื่อกระตุ้นการบริโภคและลดภาระภาษีของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญกับเศรษฐกิจของไทยอย่างมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าธุรกิจห้างร้านใหญ่ๆ เพื่อให้ SMEs เหล่านี้สามารถอยู่รอดและคงการจ้างงานไว้ให้ได้มากที่สุด จะได้ช่วยประคองเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจด้วย รวมทั้งภาษีที่เกี่ยวกับภาคการเกษตรไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเพื่อดูแลเกษตรกรชาวไร่ผู้มีรายได้น้อย
การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2563-64 นั้น แน่นอนว่ารัฐต้องยอมสูญเสียรายได้ในระยะสั้น เพื่อประโยชน์ในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม รัฐก็จำเป็นต้องเริ่มคิดหาแนวทางเพิ่มรายได้เสียตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าเมื่อเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวแล้ว รัฐจะเริ่มกลับมามีรายได้เพิ่มขึ้นได้อย่างไรโดยที่จะไม่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องสะดุดและดูแลภาคส่วนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยเวลาในการศึกษา วางแผน และหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพิจารณาว่าควรจะต้องมีการทบทวนอัตราภาษีหรือโครงสร้างภาษีอะไร อย่างไร หรือจะขยายฐานภาษีตัวไหนได้บ้าง ลดหรือเพิ่มภาษีตัวไหนบ้าง เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างเศรษฐกิจแบบ New Normal ซึ่งควรคลอบคลุมภาษีทั้งทางตรง ทางอ้อม ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร และภาษีท้องถิ่นอีกด้วย
โดยสรุป อยากให้ ศบศ. ใช้ยาที่แรงขึ้นมาฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ดึงเอามาตรการกระตุ้นทางภาษีมาใช้ให้มากขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้ เพื่อให้ประชาชนเหลือเงินในกระเป๋ามากขึ้นขณะเดียวกันก็ควรสั่งการให้มีการเริ่มวางแผนภาษีระยะยาว (Road Map) การเพิ่มรายได้ภาษีในระยะต่อไปเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้วด้วย เพื่อให้การฟื้นฟูและพัฒนาของเศรษฐกิจไม่สะดุดไปมากกว่านี้ และเพื่อวินัยทางการคลังที่ยั่งยืนด้วย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี