ท่านผู้อ่านอย่าตกใจกับหัวข้อของคอลัมน์ในวันนี้นะครับ เพราะวัตถุประสงค์ของการตั้งหัวข้อยังคงผูกโยงไปถึงเรื่องของโรคระบาดใหญ่ จากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่พวกเราทุกคนรู้จักกันดีแล้วว่าคือโรคโควิด-19 นั่นเอง โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป จะมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เกิดขึ้นหลายเรื่องพอสมควร
ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบจะ 3 ปีที่ผ่านมา ประชากรทั่วทั้งโลกต้องตกอยู่ในความหวาดกลัวและวิตกกังวล อันเป็นผลมาจากโรคระบาดใหม่ที่เป็นอันตรายเป็นอย่างมาก ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก และเป็นโรคที่ได้คร่าชีวิตของผู้คนทั่วทั้งโลกไปมากกว่า 6.53 ล้านราย โดยมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ทั้งหมดเกือบ 620 ล้านราย ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียที่มากมายมหาศาล และไม่เพียงแต่ชีวิตของผู้คนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังทำให้เศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ต้องใช้เงินจำนวนถึงเกือบ 200,000 ล้านบาท ในการจัดการกับโรคนี้ ทั้งในเรื่องของการป้องกันและการรักษา และยังต้องใช้เงินงบประมาณอีกเป็นจำนวนมากพอสมควร เพื่อนำมาช่วยพยุงเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชน ในกลุ่มที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง
ด้วยกระบวนการจัดการที่ต้องนับว่ามีประสิทธิภาพของรัฐบาล โดยได้มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษและมีคณะกรรมการที่รับผิดชอบในระดับประเทศที่มีชื่อว่า ศูนย์บริหารจัดการการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่เรียกชื่อย่อว่า ศบค. และนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา เป็นประธานของคณะกรรมการชุดนี้เองโดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการเรื่องนี้ ร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยได้คลี่คลายลง จนปัจจุบันนี้เกือบจะเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
จากสถานการณ์ที่ดีขึ้น ทำให้ขณะนี้ได้มีการออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม นี้เป็นต้นไปโรคโควิด-19 จะไม่ถูกจัดว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายอีกต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับการที่จำนวนผู้ป่วยจากโรคนี้ในแต่ละวันที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ลดลงต่ำกว่าระดับ 1,000 คน ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานี้ รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันก็ลดลงต่ำกว่า 15 ราย โดยบางวันลดลงต่ำกว่า 10 ราย และมีผู้ที่ยังต้องรักษา ในหอผู้ป่วยหนัก อยู่ที่ระดับ 500 รายเศษเท่านั้น โดยผลลัพธ์เช่นนี้เป็นผลมาจากการที่ประชากรในประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว
หากนับเป็นจำนวนครั้งหรือโดส ก็มากกว่า 143 ล้านโดส โดยมีผู้ที่ได้รับการฉีด 1 เข็มแล้วมากกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ ฉีด 2 เข็ม แล้วมากกว่า77 เปอร์เซ็นต์ และฉีด 3 เข็ม แล้วมากกว่า 46 เปอร์เซ็นต์ซึ่งในทางระบาดวิทยาเชื่อว่าน่าจะทำให้ ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะรายบุคคลเท่านั้นแต่เกิดสภาพที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นแล้วด้วยซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสลดความรุนแรงและอันตรายลงได้อีกด้วย จนในที่สุดโรคนี้ซึ่งเป็นโรคระบาดใหญ่และอันตรายจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นอย่างแน่นอน กล่าวคือเป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นได้ทั่วๆ ไป ไม่มีความรุนแรงของอาการ และเป็นโรคที่ควบคุมและป้องกันได้จากการฉีดวัคซีน
ดังที่ผมได้เคยกล่าวไว้แล้วในคอลัมน์นี้ในตอนก่อนหน้านี้ว่า หลายประเทศในทวีปยุโรปได้ผ่อนคลายโรคนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และวิถีชีวิตของผู้คนก็กลับมาสู่สภาพปกติ ประชาชนทั่วไปไม่มีผู้ใดใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองอีกแล้ว อาจจะยกเว้นผู้ที่ป่วยด้วยโรคของระบบทางเดินหายใจที่จะใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นผู้แพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ควรจะปฏิบัติ และก็เชื่อว่าแนวปฏิบัติแบบที่กล่าวมาแล้วจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในระยะเวลาอีกไม่นานจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่มีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยได้อย่างอิสระนั้น ก็จะเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยอีกแล้ว
ขณะนี้ได้มีการเตรียมการออกประกาศเป็นกฎกระทรวง ไม่ให้มีการนับโรคโควิด-19 เป็นโรคร้ายแรง ที่เป็นโรคต้องห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีพ.ศ 2563 โรคนี้ได้ถูกนับรวมให้อยู่ในกลุ่มโรคที่ห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศ ซึ่งเดิมประกอบไปด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจ โรคยาเสพติดให้โทษและโรคซิฟิลิสระยะที่ 3 ซึ่งอาจจะมีผลที่ทำให้ชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศโดยไม่มีอาการใดๆ ในขณะนั้นไม่ต้องแสดงประวัติของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่าครบตามเกณฑ์มาตรฐานแล้วก็เป็นได้ เพราะขณะนี้ผู้ที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติหรือชาวไทยยังต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน ที่สนามบินประเทศต้นทาง เมื่อมีการเช็คอินเป็นผู้โดยสารของสายการบินอยู่
ในส่วนของภาคราชการนั้น คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ อันเนื่องมาจากในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงานในภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานของรัฐพิจารณากำหนดรูปแบบวิธีการปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับภารกิจและลักษณะงานและคำนึงถึงคุณภาพชีวิตในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานโดยกำหนดรูปแบบ แบ่งเป็น 3 รูปแบบ
รูปแบบที่ 1 การปฏิบัติงานในที่ตั้งโดยการเหลื่อมเวลาทำงาน เช่นกำหนดช่วงเวลาการเข้างานและเลิกงานเป็น 4 ช่วงตั้งแต่ 07.30-15.30 น., 08.00-16.00 น., 08.30-16.30 น. และ 09.30-17.30 น.
รูปแบบที่ 2 การปฏิบัติงานในที่ตั้ง โดยการนับชั่วโมงการทำงาน เช่น กำหนดให้สามารถเลือกเวลาเข้างานได้ตามความเหมาะสมกับรูปแบบการดำรงชีวิต โดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งนี้เมื่อนับเวลาปฏิบัติงานรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่า40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
รูปแบบที่ 3 การปฏิบัติงานนอกที่ตั้งโดยกำหนดให้สอดคล้องกับร่างระเบียบ สำนัก นายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกสถานที่ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ครม. ตรวจพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ทั้งนี้การกำหนดรูปแบบการปฏิบัติงานอ้างอิงจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ พ.ศ 2502 ซึ่งกำหนดไว้คือ หากส่วนราชการใดจะกำหนดวันและเวลาในการทำงานเพื่อความสะดวก สามารถทำได้แต่เมื่อคำนวณรวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ซึ่งแนวปฏิบัติใหม่นี้สอดคล้องกับการกำหนดเวลาทำงานของภาคเอกชนบางส่วนซึ่งได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งในภาพรวมน่าจะส่งผลดีพอสมควร
หลังจากวันที่ 1 ตุลาคม นี้ การเข้ารับการตรวจและรักษาของผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19นั้น จะเป็นการเข้าไปที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลตามสิทธิ์พื้นฐานของแต่ละบุคคลทั้งหมด โดยในส่วนของผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ และอนุโลมให้เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลที่สังกัดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ในส่วนของผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ก็เข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ในส่วนของผู้ที่อยู่ในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ก็เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของภาครัฐได้ทุกแห่ง ส่วนผู้ที่อยู่ในระบบของรัฐวิสาหกิจก็เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีข้อตกลงไว้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกรณีที่อาการป่วยเข้าขั้นรุนแรงที่ถือว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตยังคงสามารถเข้ารับการรักษาได้ในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลทั้งของภาครัฐและเอกชนทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์อันพึงมีแต่อย่างใด
สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑลซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีจำนวนไม่น้อยที่ได้เข้าใช้บริการการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สำนักอนามัยกรุงเทพฯ ได้จัดไว้ที่สถานีกลางบางซื่อนั้น ต้องขอแจ้งให้ทราบว่าการให้บริการการฉีดวัคซีนดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน นี้ โดยหลังจากนั้นผู้ที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ต้องติดต่อเข้ารับการฉีดในสถานพยาบาลที่สังกัดอยู่ตามสิทธิ์พื้นฐาน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นคือเรื่องประเทศไทยใน 4-5 วันข้างหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องของโรคโควิด-19คือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 30 กันยายนซึ่งเป็นวันที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการแถลงผลการวินิจฉัยเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นระยะเวลา 8 ปี ตามที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นให้ศาลพิจารณา ก็หวังว่าไม่ว่าผลการวินิจฉัยจะออกมาในรูปแบบใด ประชาชนคนไทยทุกคนซึ่งต้องอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตนภายใต้รัฐธรรมนูญ จะต้องให้การยอมรับกับผลการวินิจฉัยในครั้งนี้ ไม่มีการกระทำใดๆ ในการที่จะแสดงอำนาจนอกเหนือกฎหมายทั้งโดยส่วนบุคคลหรือการเป็นกลุ่ม ที่จะนำไปสู่ความยุ่งยาก ก่อให้เกิดความแตกแยกสามัคคี อันไม่เป็นผลดีอย่างใดต่อบ้านเมือง
นายแพทย์ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี