……“My head says France but my heart says Croatia” .....นี่คือข้อความของใครหลายคน รวมถึงตัวผมในนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลโลก ครั้งล่าสุด เมื่อ 4 ปีก่อนที่ประเทศรัสเซีย
ใครแชมป์ก็ได้ทั้ง ฝรั่งเศส หรือ โครเอเชีย
เหตุผลของหัวใจคือ โครแอต แต่ถ้าเหตุผลทางฟุตบอลต้อง ฝรั่งเศส ครับ!!!
นั่นเพราะว่าคู่ที่ชิงชัยเวิลด์คัพ ที่ดินแดนหมีขาว ซึ่งเป็นนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก ครั้งที่ 21 ถือเป็นการโคจรมาเจอกันของสองชาติที่ต่างกันสุดขั้ว
ชาติที่ไล่ล่าอาณานิคม ที่มาและเชื้อชาติที่แตกต่างกันสุดขั้วในประเทศเดียวกันอย่าง ฝรั่งเศส
กับชาติที่ต้องต่อสู้เลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชของตัวเองอย่าง โครเอเชีย
แปลไทยเป็นไทยคือ ฝ่ายหนึ่งต่อสู้เพื่อให้ได้มาครอบครอง อีกฝ่ายหนึ่งต่อสู้เพื่อเอกราชของตัวเอง
“ฝรั่งเศส” มักจะถูกเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ๆ กับพวกเขาอยู่เสมอ ว่าด้วยเรื่องของชาติพันธุ์จากนักเตะทุกยุคทุกสมัยเมื่อเป็นทีมที่มักจะขึ้นเร็วและลงเร็วอย่างมีนัย
เนื่องจากนักบอลในทีม มักจะไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส แบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ มาโดยตลอด
น่าสนใจก็คือ ในปี 2018 ฟอร์มการเล่นและสปิริตของทีมถือว่า ทะลุร้อยเปอร์เซ็นต์มากๆ ละม้ายกับทีมเมื่อปี 1998 ที่ครองแชมป์โลกในบ้านตัวเอง ที่ถูกเรียกว่า “Black Blanc Beur” หรือ “ดำ ขาว อาหรับ”
ชาติอาณานิคมของฝรั่งเศส ถือว่ามาเบ่งบานในเรื่องของฟุตบอล เป็นการรวมตัวกันที่หลายคนมองว่า “ยุคทอง” ของบอลแดนน้ำหอมได้กลับมาอีกครั้ง จากการแลกด้วยเลือดเนื้อเชื้อไขในอดีต
ที่ลงท้ายหลอมมาเป็นหนึ่งเดียว ด้วยเบ้าของ “ฟุตบอล”
ดีดิเย่ร์ เดส์ชองป์ เทรนเนอร์คุมทัพที่มีนักบอลมาจากพื้นเพที่ต่างกัน แต่จากเหตุผลที่ตรงกันหลายต่อหลายคนย้ายถิ่นฐาน, รอยต่อชายแดน, แอฟริกา, แคริบเบียน รวมไปถึงการอพยพ ย้ายถิ่นฐานจากพื้นถิ่น ก็เพื่อชีวิตที่ดีกว่า
อูโก้ ญอริส เป็นคนสเปน, สตีฟ ม็องด็องด้า เป็นคนซาอีร์, อัลฟองเซ่ อเรโอล่า เป็นชาวฟิลิปปินส์, เพรสเนลคิมเพมเบ้ เป็น คองโก-เฮติ, ราฟาเอล วาราน เป็น มาร์ตินิค, ซามูแอล อุมตีตี้ เป็น แคเมอรูน, อดิล เรมี่ เป็น โมร็อกโก,ฌิบริล ซิดิเบ้ เป็น มาลี, ลูกัส แอร์กน็องเดซ เป็น สเปน,เบนฌาแม็ง เมนดี้ เป็น เซเนกัล, ปอล ป๊อกบา เป็น กินี,โตมาส์ เลอมาร์ เป็น กวาเดลูป, โกร็องแต็ง โตลิสโซ่ เป็น โตโก
เอ็นโกโล่ ก็องเต้ เป็น มาลี, แบลส มาตุยดี้ เป็น แองโกลา-ดีอาร์ คองโก, สตีเว่น เอ็นซองซี่ เป็น คองโก, นาบิล เฟคีร์ เป็น แอลจีเรีย, อองตวน กรีซมันน์ เป็น ฝรั่งเศส-โปรตุเกส แต่พื้นเดิมเป็นชาวเยอรมัน, โอลิวิเยร์ ชิรูด์ ย่าเป็นชาวอิตาลี, คีลิยัน เอ็มบัปเป้ เป็นแคเมอรูน และอุสมาน เดมเบเล่ เป็นมาลี-เซเนกัล
21 จาก 23 เป็นเลือดผสม ทำให้ทีมนั้นมี ฟลอริยอง โตแว็ง กับ เบนฌาแม็ง ปาวาร์ เท่านั้นที่เป็นฝรั่งเศส แท้ๆ !!!
ฟากฝั่ง โครแอต ยอดแข้งจากแดนสงคราม กับคำว่า “Small country, big dreams”….ชัดเจนในตัวของมันเองเป็นอย่างยิ่ง
เงื่อนไขของสิ่งรอบข้าง ทำลายและทำร้ายจิตวิญญาณของมนุษย์อย่างพวกเขาไม่ได้เลย โดยเฉพาะเรื่องจิตใจอันกร้าวแกร่ง ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ อันนี้ โครเอเชีย ทุกคนทำได้น่าทึ่งมาก
นักบอลหลายคนเกิดและเติบโตบนพื้นที่ไฟสงครามซึ่งเป็นเรื่องราวของ “คนชาติเดียวกัน” ที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากๆ ทั้งหมดคือ “ความสิ้นหวัง” นำไปสู่การ“สู้เพื่ออยู่รอด”
เป็นการปะทะกันระหว่าง เซิร์บ กับฝ่ายหนึ่งของโครแอต และฝ่ายหนึ่งของบอสเนีย อีกทางหนึ่งก็เป็นการสู้กันของพวกบอสนิก กับ โครแอต ในบอสเนีย แถมกลุ่มบอสนิกก็ทะเลาะกันเองในบอสเนีย เป็นสงครามร่วมเผ่าพันธุ์ เป็นสงครามของพี่น้อง และเป็นสงครามศาสนา
ลงท้าย 6 สาธารณรัฐของยูโกสลาเวีย ประกอบด้วย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา, สโลวีเนีย, โครเอเชีย, เซอร์เบีย,มอนเตเนโกร และมาซิโดเนีย แยกตัวออกมา รวมไปถึงมณฑลอิสระอย่าง โคโซโว และวอยโวดีนา ซึ่งเป็นมณฑลปกครองตนเอง
น่าสนใจก็คือ โครเอเชีย คือทีมที่ “ฟ้าประทาน” เรื่องของ “ความสามารถในเชิงฟุตบอล” สืบชาติพันธุ์จาก ยูโกสลาเวีย
ลูก้า โมดริช จอมทัพของทีม กลายเป็นคนไร้บ้านเพราะสงคราม กลายเป็นคนที่สูญเสียคนที่รักจากสงคราม กลายเป็นผู้อพยพได้ยินเสียงระเบิดเสียงปืนมากกว่าเสียงเพลง
“ฟุตบอลคือสิ่งเดียวที่ทำให้เด็กๆ ได้หนีพ้นจากความจริงอันเจ็บปวดได้” โทมิสลาฟ เบซิช โค้ชคนแรกของ โมดริช กล่าวเอาไว้
สงครามไม่ได้เผา โมดริช เพียงคนเดียวเท่านั้น บรรดานักเตะในทีมชุดนี้โดนพิษของมันเล่นงานกันหลายต่อหลายคน
ครอบครัวของ เดยัน ลอฟเรน หนีอยู่ที่มิวนิค ในเยอรมนี เพราะต้องหนีจากสงครามจาก เซนิก้า ในยูโกสลาเวีย ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของ บอสเนีย เฮอร์เซโกวีน่า ในตอนนั้น ลอฟเรน อายุแค่ 3 ขวบ ทำให้เขาเรียนรู้ภาษาเยอรมัน ก่อนจะกลับมาตั้งรกรากอีกทีที่ คาร์โลวัช ในโครเอเชีย ที่ห่างจากซาเกร็บไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 50 กิโลเมตร
อีวาน ราคิติช เกิดที่ไรน์เฟลเด้น เป็นหนึ่งในเมืองที่อยู่ในรัฐทางตอนเหนือของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำอาเร ครอบครัวของเขา ย้ายจาก โซคชี่ เพื่อหนีสงคราม ทำให้เขาเริ่มเล่นบอลกับ บาเซิ่ล ดังนั้นไม่แปลกที่เขาจะติดทีมชาติสวิส ทั้งรุ่น 17, 19 และ 21 ปี ก่อนที่ สลาเวน บีลิช อดีตกุนซือโครแอต ไปโน้มน้าวจิตใจให้มาเล่นกับ ตาหมากรุก ในปี 2007
มาริโอ มานด์ซูคิช ครอบครัวย้ายหนีสงครามไปอยู่ในเยอรมนี ใกล้ๆ กับ สตุ๊ตการ์ท ทำให้เขาเริ่มเล่นบอลกับ ทีเอสเอฟดิตซินเก้น ก่อนจะกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดในโครเอเชีย ที่ สโลวอนสกี้โบรด์ อีกครั้ง หลังจากสงครามเบาบางลง
มาเตโอ โควาซิช เกิดในเมืองลินช์ ประเทศออสเตรียเขาเป็นคน บอสเนียน โครต์ แต่ต้องย้ายหนีจาก คอตอร์ วารอส ในบอสเนีย เพราะสงครามตั้งแต่เขายังไม่เกิด ก่อนที่จะกลับไปอยู่ที่ซาเกร็บ เมื่อตอนอายุ 13 ปี
ติน เจดวาจ์ พ่อของเขา ซเดนโก้ เป็นนักฟุตบอล แต่ต้องลี้ภัยสงครามบอสเนีย ไปอยู่ที่ประเทศมอสตา ก่อนจะกลับไปอยู่ที่ซาเกร็บ
สำคัญก็คือ สงครามไม่ได้ทำร้ายพื้นฐานการเล่นฟุตบอลของพวกเขาเลย โดยเฉพาะ ดินาโม ซาเกร็บ ทีมต้นตำรับของประเทศ ซึ่งมีนักฟุตบอลเข้าถึงนัดชิงฯบอลโลกพร้อมกันได้ถึง 12 คน
ลูก้า โมดริช, ซิเม่ เวอร์ซัลจ์โก้, เวดราน ชอว์ลูก้า, เดยันลอฟเรน, ติน เจดวาจ์, โจซิป พิวาริช, มาเตโอ โควาซิช, มิลาน บาเดลจ์, มาร์เซโล โบรโซวิช, อันเดรจ์ คามาริช, มาริโอ มานด์ซูคิช และมาร์โก้ พาก้า
ถือว่าสุดยอดจริงๆ
ท้ายที่สุดแล้ว บอลโลก 2018 แชมป์ตกเป็นของ ฝรั่งเศส จากชัยชนะสุดสะเด่า จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ และทำให้หลากหลายทฤษฎีของฟุตบอลโลก กลายเป็นแค่ “ตำราที่ถูกเผา”
1.เมื่อไหร่ที่ เยอรมนี ได้แชมป์โลก การแข่งขันครั้งต่อมาทีมจากอเมริกาใต้จะได้แชมป์ ก็จบไปเป็นที่เรียบร้อย
2.ทฤษฎี จะมีแชมป์ใหม่ เมื่อการลงท้ายด้วยเลข 8 นั่นคือ บราซิล ปี 1958, อาร์เจนตินา ปี 1978 และฝรั่งเศส 1998 ทุกครั้งจะห่างกัน 20 ปี แต่คนนึกก็คงลืมไปว่า ปี 1938 อิตาลี ก็ไม่ใช่แชมป์ใหม่ ซึ่งแชมป์ใหม่ก็ไม่เกิดขึ้นจริง
3.ทีมที่ใส่เสื้อสีโทนน้ำเงิน-ฟ้า จะได้แชมป์เมื่อลงท้ายปีด้วยเลข 8 ยังคงอยู่ต่อไป ตั้งแต่ บราซิล ปี 1958 ใส่สีน้ำเงิน, 1978 อาร์เจนตินา, 1998 ฝรั่งเศส และปีล่าสุด 2018
หนักเลยคือ 4.ทีมที่ใส่สีโทนแดง หรือแนวเผ็ดร้อนลงเล่นนัดชิงฯ เป็นการชนะได้แค่หนเดียว นั่นคือ อังกฤษ ปี 1966
....ภาพความทรงจำเกิดขึ้น เมื่อนึกถึงได้นั่นก็คือ แฟนบอลประทับใจที่ได้เห็น โครเอเชีย เข้าชิงฯได้สำเร็จทั้งที่เพิ่งเป็นสมาชิกฟีฟ่าเพียง 25 ปีเท่านั้น และเคยสร้างผลงานเข้าถึงรอบรองชนะเลิศมาแล้ว เมื่อปี 1998
ทีมจากยุโรปจะได้แชมป์โลก 4 สมัยติดต่อกัน ถือเป็นการครองตำแหน่งนี้ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย และยังเป็นการครองแชมป์สมัยที่ 12 ของชาติจากยุโรป ส่วนชาติจากอเมริกาใต้ ได้ไป 9 สมัย
ฝรั่งเศส ทีมแชมป์ ได้รับเงิน 38 ล้านเหรียญสหรัฐ และโครเอเชีย รองแชมป์ 285 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรางวัลรวมของฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา รวมมูลค่าสูงถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่า “บราซิล 2014” ถึง 42 ล้านเหรียญ นับเป็น 40 เปอร์เซ็นต์
ดีดิเย่ร์ เดส์ชองป์ ผู้นำแห่งกองทัพเลส เบลอส์ ที่เป็นศูนย์กลางของทีมชุดนี้ได้อย่างลงตัวเหลือเชื่อ เขาคือกัปตันทีมชุดแชมป์โลกประวัติศาสตร์เมื่อปี 1998 และเป็นคนที่ 3 ที่ได้แชมป์ทั้งในฐานะนักเตะ และโค้ช ร่วมกับ มาริโอ ซากาโล่ และฟรานซ์ เบ๊คเค่นบาวเออร์
พร้อมกับเป็นคนที่ 2 ที่เป็นทั้งกัปตัน-โค้ช ที่ได้เป็นแชมป์โลกเทียบเท่า “ไกเซอร์ฟรานซ์”
....เราได้เห็นอะไรหลายอย่างจากฟุตบอลโลก แต่ละยุคแต่ละสมัย และที่ชัดเจนอย่างมากในบอลโลกครั้งล่าสุดก็คือ การหลอมรวม
กว่าจะรวมกันได้แน่นอนว่า จะต้องมีความ “คิดต่าง” แต่ “ฟังความคิดของผู้อื่น” เพราะโลกนี้มันเปิดกว้างอย่างมาก
แน่นอนที่สุดว่า มันดีกว่า คิดต่างเพื่อนำไปสู่ “ความแตกแยก” เป็นไหนๆ
บี แหลมสิงห์