วันนี้ขออนุญาตเล่าเรื่องของคลังเนื้อเยื่อฯ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย นะครับ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยได้ดำเนินการมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี โดยการนำของอาจารย์นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ และอาจารย์นายแพทย์ชลิต เชียรวิชัย ในระยะเริ่มแรกมีการเก็บลิ้นหัวใจและเส้นเลือดใหญ่ใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่งต่อมาทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ได้ขยายการจัดเก็บผิวหนังจากผู้ป่วยบริจาค และได้มอบให้นำผิวหนังที่เตรียมไว้ ช่วยชีวิตผู้ป่วยไฟไหม้ที่มีการสูญเสียผิวหนังทั่วประเทศได้ผลดีเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคลังเนื้อเยื่อ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการเก็บและเตรียมกระดูกและเส้นเอ็นจากผู้บริจาคอวัยวะให้เป็นไปตามมาตรฐานในระดับนานาชาติ โดยได้รับความร่วมมือจากสภากาชาดนานาชาติ และศูนย์การเก็บเนื้อเยื่อ สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เนื่องจากผู้บริจาคอวัยวะหลายท่านประสงค์ให้ใช้ประโยชน์จากร่างกายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด คลังเนื้อเยื่อฯจึงได้ดำเนินการจัดเตรียมสถานที่ในการเตรียมเนื้อเยื่อที่ปราศจากเชื้อในระดับสูงตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดซื้อตู้เย็นขนาดลบแปดสิบองศา และตู้อบแห้งสำหรับเตรียมชิ้นเนื้อบางประเภท นอกจากนี้ ยังได้ทำขั้นตอนการเก็บเนื้อเยื่อผู้บริจาคในห้องผ่าตัด ภายใต้การเก็บเนื้อเยื่อแบบปราศจากเชื้อ และเก็บในภาชนะจัดเก็บชนิดปราศจากเชื้อก่อนการนำมาเตรียมชิ้นเนื้อเพื่อความพร้อมใช้ การจัดเตรียมเนื้อเยื่อเอ็นและกระดูกเหล่านี้เป็นไปตามรูปแบบมาตรฐานที่มีการจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาและประเทศที่มีเนื้อเยื่อเอ็นและกระดูกพร้อมใช้งาน เนื้อเยื่อเหล่านี้เคยมีบริษัทนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย แต่ราคาสูงมากจึงไม่มีผู้นิยมใช้งาน การป้องกันการติดเชื้อหรือการส่งผ่านเชื้อต่างๆ จากผู้บริจาคไปยังผู้ที่ใช้กระดูกและเอ็นบริจาคได้กระทำด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งด้วยการตรวจเลือดของผู้บริจาคตามมาตรฐานการรับบริจาคโลหิตของสภากาชาดไทย และการเพาะเชื้อตัวอย่างชิ้นเนื้อต่อเนื่องเพื่อติดตามการปนเปื้อนเชื้อโรค โครงการกระดูกและเอ็นของคลังเนื้อเยื่อฯ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เริ่มต้นด้วยโครงการมอบกระดูกและเส้นเอ็น 90 ชิ้น ให้ผู้ป่วยที่ต้องการใช้โดยไม่คิดมูลค่า ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในปี พ.ศ.2565
กระดูกและเอ็นบริจาค (Bone and Soft tissue allograft) ของคลังเนื้อเยื่อสภากาชาดไทย ได้ถูกนำมาทดสอบคุณสมบัติการรับแรงตึงทางกลศาสตร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าแรงตึงและความสามารถในการรับแรงเป็นไปตามมาตรฐานของเอ็นบริจาคตามมาตรฐานนานาชาติ การใช้กระดูกและเอ็นในระยะแรกใช้ในผู้ป่วยทางออร์โธปิดิกส์ที่มีการบาดเจ็บของกระดูกและเอ็น เช่น ผู้ป่วยกระดูกหักและมีการสูญเสียกระดูกมีความจำเป็นต้องใช้กระดูกบริจาคเสริม ผู้ป่วยข้อเสื่อม เช่น ข้อสะโพกเสื่อมที่ผ่าตัดไปแล้วพบมีการหลวมของเบ้าสะโพกจำเป็นต้องใช้กระดูกเสริม พบว่าได้ผลดี กระดูกและเส้นเอ็นบริจาคที่ใช้บ่อยที่สุดคือ การซ่อมสร้างเอ็นข้อเข่าในผู้ป่วยอุบัติเหตุจากกีฬาและมอเตอร์ไซค์ที่มีการบาดเจ็บของเอ็นหลายเส้นและมีความจำเป็นต้องซ่อมสร้างเอ็น พบว่าได้ผลดีมากในระยะเริ่มต้น นอกจากนี้ยังอาจใช้ในผู้ป่วยบาดเจ็บจากกีฬาที่ต้องซ่อมสร้างเอ็นเฉพาะเส้น เช่น เอ็นไขว้หน้าที่ไม่ประสงค์จะใช้เอ็นของตนเอง หรือ นักกีฬาอาชีพ ที่ต้องการเอ็นที่แข็งแรงมากกว่าปกติและไม่ต้องการผลข้างเคียงของการตัดเอ็นของตนเองมาใช้ ผลการรักษาในระยะแรกเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่งและกำลังติดตามผลในระยะต่อๆ ไป
การบาดเจ็บของเอ็นไข้วหน้าของข้อเข่าพบบ่อยมากในกีฬาที่มีการปะทะหรือมีการบิดหมุนข้อเข่า เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล รักบี้ เอ็นไขว้หน้าขาด อาจมีการบาดเจ็บของเอ็นด้านใน หมอนรองข้อ ร่วมด้วย อาการของนักกีฬาที่บาดเจ็บมักมีอาการเข่าทรุดเมื่อวิ่งเปลี่ยนทิศทางหรือถูกกระแทกซ้ำ ถ้ามีหมอนรองข้อบาดเจ็บร่วมด้วยจะมีอาการเจ็บขณะวิ่งหรือแม้แต่เดินลงน้ำหนัก การผ่าตัดส่องกล้องซ่อมสร้างเอ็นไข้วหน้าและซ่อมหมอนรองข้อสามารถทำให้นักกีฬาสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ แต่อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพการเล่นกีฬาอาจลดลงบ้าง การผ่าตัดซ่อมสร้างเอ็นไขว้หน้าในนักกีฬาอาชีพการใช้ส่วนกลางหนึ่งในสามของเอ็นสะบ้าเข่าและกระดูกสองฝั่งเป็นเอ็นที่ให้ความแข็งแรงและคุณสมบัติใกล้เคียงกับเอ็นไข้วหน้าเดิมมาก การยึดกระดูกสองฝั่งในช่องที่เจาะยึดเอ็นเป็นการยึดกระดูกกับกระดูกมีความแข็งแรงและเป็นธรรมชาติมาก อย่างไรก็ตามอาการเจ็บสะบ้าหลังการเก็บเอ็นสะบ้าเข่าของตนเองมาใช้อาจทำให้มีอาการปวดเข่าจนประสิทธิภาพการใช้งานในชีวิตประจำวันและการเล่นกีฬาด้อยลงมาก การใช้เอ็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstring) มาใช้ในการซ่อมสร้างเอ็นจึงเป็นที่นิยมมากกว่า เทคนิคการผ่าตัดง่ายกว่า การยึดหัวท้ายของเอ็นก็ไม่ยุ่งยาก อย่างไรก็ตามขนาดและความยาวของเอ็นไม่แน่นอนและไม่สามารถพยากรณ์ได้ ทำให้ความแข็งแรงของเอ็นที่ซ่อมสร้างแล้วอาจด้อยกว่าเอ็นเดิม คุณสมบัติความยืดหยุ่นของเอ็นกล้ามเนื้อต่างจากเอ็นข้อ หลังการผ่าตัดอาจหย่อนตัวเล็กน้อย การยึดติดของเอ็นในช่องกระดูกเป็นการยึดตัวในช่องกระดูกแบบพังผืดอาจไม่แข็งแรงทำให้เกิดปรากฏการณ์เอ็นแกว่งได้ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดซ่อมสร้างเอ็นไข้วหน้าโดยใช้เอ็นกล้ามเนื้อ Hamstring ได้ผลดีนักกีฬาส่วนใหญ่สมารถกลับไปเล่นกีฬาได้ดี ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการทำกายภาพบำบัดและการบริหารกล้ามเนื้อ การรับรู้ของข้อ และฝึกฝนเทคนิคการเล่นกีฬาที่ดี มีอุปกรณ์การป้องกันตามมาตรฐานของกีฬา
การใช้เอ็นบริจาคในการผ่าตัดซ่อมสร้างเอ็นข้อเข่าที่เหมาะสมที่สุดน่าจะเป็นผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บของเอ็นหลายเส้น การผ่าตัดซ่อมสร้างเอ็นข้อเข่าที่มีการบาดเจ็บซ้ำและไม่มีเอ็นของผู้ป่วยเองมาใช้ นักกีฬาอาชีพที่ไม่ประสงค์จะถูกตัดเอ็นกล้ามเนื้อบางส่วน ผลการผ่าตัดโดยใช้เอ็นบริจาคมีการตีพิมพ์สัมฤทธิ์ผลของการผ่าตัดอย่างต่อเนื่องเป็นที่น่าพอใจและไม่แตกต่างจากการใช้เอ็นของผู้ป่วยเอง การติดเชื้อและการส่งผ่านเชื้อไปยังผู้รับบริจาคได้รับดูแลด้วยตรวจสอบการติดเชื้อและมาตรฐานการเก็บและเตรียมเนื้อเยื่อตามมาตรฐาน ในต่างประเทศการใช้เอ็นบริจาคเป็นที่นิยมมากแต่ราคาค่อนข้างสูง การที่คลังเนื้อเยื่อฯ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ได้พัฒนาเนื้อเยื่อกระดูกและเอ็นมาให้ผู้ป่วยในประเทศไทยได้ใช้นับว่าเป็นความก้าวหน้าของการรักษาผู้ป่วยทางออร์โธปิดิกส์นอกจากนี้ทราบว่าทางคลังเนื้อเยื่อมีแนวทางการพัฒนาการเก็บหมอนรองข้อบริจาคที่ไม่สามารสร้างขึ้นมาได้เพื่อนำมาช่วยผู้ป่วยในอนาคต นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ผู้สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลังเนื้อเยื่อ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โทร.1666, 0-2256-4045-6ต่อ 2508, 09-2247-9864 Line ID : odctsb