แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด แทบจะไม่เหลือรอยยอดทีมแห่งเกาะอังกฤษ หากนับตารางคะแนนบอลลีก เพราะนาทีปัจจุบันอยู่อันดับที่ 16 ในพรีเมียร์ลีก
มีหลากปัจจัยที่ทำให้ทีมตกต่ำ หลังจาก เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือออกจากทีม แต่ท้ายที่สุดแล้วปัจจัยเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ตระกูลเกลเซอร์ ซึ่งข้อตกลงซื้อสโมสรที่สร้างความเสียหายมหาศาลของพวกเขา
เกิดขึ้นในวันนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว
….นาฬิกาเดินมาครบรอบ 20 ปีแห่งความขัดแย้ง, การประท้วงของแฟนบอล "ปีศาจแดง" แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
พวกเขาไม่ต้องการให้ ‘มัลคอล์ม เกลเซอร์’ อภิมหาเศรษฐีใหญ่จากอเมริกา
ครอบครองทีมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
แต่สุดท้ายต้านไม่อยู่ ทำให้ เกลเซอร์ กลายเป็น ”ตำนานพรานล่าหุ้นพรีเมียร์ลีก" เอาไว้เป็นกรณีศึกษาตลอดกาล
ปฐมบทกำเนิดในปี พ.ศ.2545 เกลเซอร์ เริ่มขยับเข้ามายังวงการฟุตบอลอังกฤษ ที่กำลัง”ฮ็อตฮิต”กับการไล่ซื้อหุ้น หากเทียบกับบ้านเราก็คือยุคสมัยที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ต้องการจะขายหวยไปซื้อหุ้นหงส์ของ ลิเวอร์พูล นั่นเอง
ในยุคที่เข้ามาซื้อ “ปีศาจแดง” เกลเซอร์ คือมหาเศรษฐีติดอันดับที่ 244 ของโลกตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes เมื่อปี 2003 หรือ พ.ศ. 2546 เพราะมีสินทรัพย์มูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน
เกลเซอร์ กว้านซื้อหุ้นของแมนฯยูไนเต็ด โดยเฉพาะไตรมาสหลังของปี 2003 จากอัตราส่วนการถือหุ้น 3.17% ในเดือนกันยายน ไต่ระดับสู่ 14.30% ของจำนวนหุ้นรวมเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2003
ในเวลานั้น คนที่ถือหุ้นมากที่สุดคือ คูบิค เอ็กซ์เพรสชั่น ที่มีสองมหาเศรษฐีชาวไอริชเป็นเจ้าของนั่นก็คือ จอห์น แม็คเนียร์ และ เจ.พี. แม็คมานัส
ทำให้ในช่วงปลายปี 2003 แฟนบอลแมนฯยูฯ เริ่มมีปฏิกริยาต่อต้าน แม็คเนียร์ กับ แม็คมานัส เพราะคาดกันว่า จะเป็นผู้มีโอกาสมากที่สุดในการรวบแมนฯยูไนเต็ด
แต่ถือว่าผิดคาดเต็ม ๆ
กระทั่ง เดือนเมษายน ปี 2004 ปรากฏว่า คูบิค เอ็กซ์เพรสชั่น นิ่งเฉยไม่ซื้อหุ้นอีกต่อไป แต่ในทางกลับกัน เกลเซอร์ ซื้อถึง 4.1 ล้านหุ้นภายในระยะเวลาแค่เดือนเดียว ก่อนจะซื้ออีกถึง 2.41 ล้านหุ้นในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ เกลเซอร์ มีหุ้นถึง 50.27 ล้านหุ้น คิดเป็น 19.2 เปอร์เซนต์
แต่มันก็ยังน้อยเกินไปที่จะครอบครองกิจการ เนื่องจากกกำหมายนเมืองผู้ดี ระบุว่า หากจะเป็นเจ้าของได้ต้องถือหุ้นเกินกว่า 30 เปอร์เซนต์
ความพยายามของ เกลเซอร์ ยังไม่หยุด แม้เขาจะถูก คูบิคฯ ล้มโต๊ะการเจรจาในการขอซื้อหุ้น ทำให้เปลี่ยนเป้าไปซื้อในตลาด ขยับการถือหุ้นมาเป็น 28.11 เปอร์เซ็นต์ในเดือนตุลาคม
เมื่อเหตุการณ์มาถึงขนาดนั้น ทำให้ บอร์ดบริหารของ แมนฯยูไนเต็ด เริ่มไม่ไว้วางใจ แม้ว่า เกลเซอร์ กำลังจะเข้ามาคุยเรื่องการซื้อสโมสร แต่เรื่องของเรื่องก็คือ เงินที่มาซื้อหุ้นของแมนฯยูไนเต็ด เป็นเงินของ เจ.พี.มอร์เกน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินการธนาคาร การลงทุน และการบริหารทรัพย์สิน ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ประเด็นก็คือ แมนฯยูไนเต็ด ไม่แน่ใจว่า เกลเซอร์ ต้องการครอบกิจการอย่างเป็นมิตร หรืออย่างเป็นปรปักษ์ และไม่ยอมเจรจากับ เกลเซอร์
จนมาถึงเดือนพฤศจิกายน 2004 เกลเซอร์ ในฐานะผู้ถือหุ้น 28.11 เปอร์เซนต์ และได้ขัดขวางการแต่งตั้งบอร์ดบริหารของแมนฯยูไนเต็ด
แม้จะทำได้สำเร็จ แต่ เกลเซอร์ ต้องเสียพันธมิตรชั้นดีอย่าง เจพี มอร์แกน และ บรันสวิค ก็ยกเลิกการเป็นที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ แต่ก็ยังมี ดอยช์ แบงค์ ที่ให้การช่วยเหลือ
ประเด็นดังกล่าวลุกลามใหญ่โตทำให้ แฟนบอลแมนฯยูไนเต็ด หลาย ๆ กลุ่ม อาทิ Shareholders United และ Independent Manchester United Supporters' Association (IMUSA) ออกมาต่อต้าน
รวมไปถึง เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กุนซือ(ในเวลานั้น)ก็ไม่พอใจเช่นกัน
เหตุการณ์ตึงเครียดอย่างมาก กระทั่งวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2005 เกลเซอร์ สามารถครอบครองหุ้นได้เกินร้อยละ 70 หลังจากบรรลุข้อตกลงซื้อหุ้นของ แม็คเนียร์ และแม็คมานัส ที่ถืออยู่ 28.7 เปอร์เซนต์ รวมไปถึงซื้อจาก แฮร์รี่ ด็อบสัน ผู้ถือหุ้นอันดับ 3 ของทีม
ทำให้ เกลเซอร์ ถือหุ้นเกิน 75 เปอร์เซนต์ทันที
ประเด็นนี้สร้างความไม่พอใจจนมีการประท้วงและขู่ฆ่าเอาชีวิตของ เกลเซอร์ จากแฟนฟุตบอล พร้อมกับทำให้แฟนบอลออกไปตั้งทีมใหม่ชื่อว่า FC united of Manchester ในวันที่ 14 มิถุนายน 2005
จากนั้นในวันที่ 22 มิถุนายน เกลเซอร์ ปฏิบัติการณ์นำ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ออกจากตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนได้สำเร็จ
อีก 8 วันต่อมา เขากวาดหุ้นมาครองได้ถึง 98 เปอร์เซนต์
เขาได้แต่งตั้งลูกชายสามคนของเขา โจเอล, อัฟราม และไบรอัน เข้าในคณะกรรมการบริหารทันที
แม้ว่าจะถูกถล่มเละจากแฟนบอล แต่ต้องยอมรับว่า เกลเซอร์ เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก ในด้านการหาโอกาสการลงทุนและการตลาด โดยเฉพาะการหาพันธมิตรทางการตลาดที่ยอดเยี่ยมแบบหาตัวจับยาก
การเดินเกมนานกว่า 2 ปีเพื่อครอบครอง จุดนี้เป็นจุดที่น่าศึกษา และน่าเกรงขามที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ รวมไปถึงลูกหนังโลก
สิ่งที่ตามมาก็คือ เป็นเรื่องจริงตรงที่ว่า เกลเซอร์ สร้างหนี้ให้กับสโมสรเอาไว้อย่างมากมาย เพราะมีข่าวปูดออกมาตั้งแต่ 10 ปีก่อนว่า มีการนำเงินของทีมไปใช้หนี้เฉลี่ยแล้ววันละถึง 250,000 ปอนด์ หรือประมาณ 12.5 ล้านบาทเลยทีเดียว
ยิ่งเมื่อตัวพ่อจากมัลคอล์ม ได้จากโลกนี้ไปแล้ว แต่บรรดาลูก ๆ ของเขานับว่า ยิ่งสร้างความปวดใจให้กับแฟนบอลมากกว่าเดิม
ยูไนเต็ด มีหนี้สินที่เพิ่มสูง การถูกผ่อนถ่ายทรัพย์สิน และบริหารโดยไร้ความสามารถอันน่าตกตะลึง
ยิ่งการได้กลุ่มเอนิออส เข้ามาทำ ทีแรกนึกว่าจะดี แต่เชื่อว่า เซอร์จิม แรทคลิฟฟ์ ก็เจอตอ และตัวแกเองด้วยที่ “อาจจะเป็นตอ” ทำให้ไปต่อไม่ได้ ลดทุกอย่างลงอย่างน่าตกใจ ไร้ซึ่งความมีมนุษยธรรม
แฟนบอลมองว่า พวกเขาจะยังคงเป็นต้นเหตุของทุกอย่างที่ผิดพลาดในแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดตลอดไป
แฟนบอลกลุ่ม 1958 ระบุว่า เกมเหย้านัดสุดท้ายของฤดูกาลนี้คือการพบกับแอสตัน วิลล่า เราเดินขบวนในฐานะแฟนบอลกลุ่มเดียวกัน
ซึ่งเหตุการณ์นี้คล้ายกับการประท้วงเกมแดงเดือด เมื่อ 4 ปีก่อน หลังจากแฟนบอลนับร้อยบุกเข้าไปในสนามตั้งแต่เกมยังไม่เตะ
“20 ปีผ่านไป ไฟแห่งความโกรธแค้นและการท้าทายยังคงโหมกระหน่ำเดอะ เร้ด อยู่ เราต้องการให้ตระกูลเกลเซอร์ออกจากสโมสรของเรา พวกเขาไม่เคยได้รับการต้อนรับ พวกเขาไม่เป็นที่ต้อนรับอีกต่อไป พวกเขาจะไม่มีวันได้รับการต้อนรับ!!!!”
แน่นอนที่สุด มันไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป.......
บีแหลมสิงห์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี