นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่เริ่มคลี่คลายลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันและบริโภคได้ตามปกติมากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และการอ่อนค่าของเงินบาท ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัว สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนพ.ค.2565 อยู่ที่ระดับ 98.05 ขยายตัว 7.46% จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 91.24 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.42% ส่งผลให้เอ็มพีไอ 5 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.2565) อยู่ที่ 101.08 ขยายตัว 0.57%
อย่างไรก็ตามหากเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 100.17 ลดลง 2.11% เนื่องจากการล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีน ทำให้เกิดปัญหา Supply shortage โดยเฉพาะการขาดแคลน เซมิคอนดักเตอร์เพื่อใช้เป็น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ และสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ โดยคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในเดือนหน้าหลังประเทศจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญ
“ขณะนี้จำเป็นต้องจับตาดูสถานการณ์การล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีนที่ทำให้เกิดปัญหา Supply shortage โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งสศอ. คาดการณ์ ว่าการขาดแคลนวัตถุดิบเป็นผลกระทบระยะสั้น ภาคการผลิตขยายตัวอีกครั้งหลังประเทศจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา”นางศิริเพ็ญกล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐที่ยังคงเพิ่มสูง และสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ มีผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง อีกทั้งภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.ขยายตัว 11.8% เร่งตัวขึ้นจากเดือนเม.ย.ขยายตัว 11.4%