วันพุธ ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / โลกธุรกิจ
‘ศึกกำแพงภาษี’สงครามการค้าทำศก.โลกหดตัว แนะรัฐบาลเตรียมรับมือคนตกงาน

‘ศึกกำแพงภาษี’สงครามการค้าทำศก.โลกหดตัว แนะรัฐบาลเตรียมรับมือคนตกงาน

วันอาทิตย์ ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2568, 17.47 น.
Tag : eu ยุโรป สงครามการค้า สหรัฐอเมริกา กำแพงภาษี ตกงาน
  •  

16 มี.ค. 2568 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สงครามการค้าขยายวงสู่การตอบโต้ด้วยกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรป (อียู) ผลของการตอบโต้กันด้วยมาตรการกีดกันการค้าในรูปแบบต่างๆเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก และ จะทำให้ปริมาณการค้าในสินค้าและบริการที่มีการตั้งกำแพงภาษีต่อกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปลดลงอย่างมาก

กำแพงภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯและยุโรปใช้ตอบโต้กัน เริ่มต้นจากการเก็บภาษีนำเข้า 25% ต่อผลิตภัณฑ์เหล็กและอลูมิเนียมโดยสหรัฐฯ ตามมาด้วยการตอบโต้ของอียูประกาศจะเก็บภาษีสินค้าต่างๆรวมทั้งวิสกี้จากสหรัฐฯมูลค่ารวมกว่า 28,000 ล้านดอลลาร์ และล่าสุด รัฐบาลทรัมป์ขู่จะเก็บภาษีไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากยุโรป 200% ข้อมูลจากศูนย์การค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ พบว่า สหรัฐอเมริกานำเข้าไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำส้มสายชูจากอียูมากกว่า 14,200 ล้านดอลลาร์


ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างสหรัฐฯและอียูมีมูลค่าใหญ่มาก จากข้อมูลของ European Commission ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2566  มูลค่าการค้าและบริการของสหรัฐฯกับอียูอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านยูโร โดยสหรัฐฯขาดดุลการค้ากับอียูประมาณ 1.55 แสนล้านยูโรแต่สหรัฐฯเกินดุลต่ออียูในภาคบริการประมาณ 1.04 แสนล้านยูโร ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ก่อให้เกิดการจ้างงานและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อผู้คนจำนวนมากทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค มีห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันอย่างมาก

การเกิดสงครามตอบโต้ด้วยกำแพงภาษีนำเข้าจะทำให้ เศรษฐกิจและระบบการค้าโลกทรุดตัวเร็วกว่าที่ประเมินไว้เดิม ภาษีนำเข้าจะก่อให้เกิดการบิดเบือน (Distortions) ต่อระบบราคาของทั้งสหรัฐฯ และอียู และ จะส่งผลกระทบต่อระบบราคาในตลาดโลกโดยรวมอีกด้วย เป็นการทำให้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์เคลื่อนออกห่างจากประโยชน์ของการค้าเสรีและประสิทธิภาพสูงสุด ราคาถูกบิดเบือนโดยภาษีจะทำให้เกิดการปรับตัวด้านราคา อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นสูงในหลายประเทศ เกิดการปรับตัวของปริมาณการผลิต การค้า การบริโภค การลงทุนและสวัสดิการโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ

ผลของตั้งกำแพงภาษีนำเข้าจะมีผลต่อราคาภายในประเทศ และ อัตราส่วนราคาเทอมการค้าจะเป็นอย่างไรนั้น จะขึ้นอยู่กับขนาดของประเทศที่เก็บอากรนำเข้าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆทั้งหมดในตลาดโลก (The Rest of the World) กรณีสงครามภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐฯกับอียูนั้นถือว่า มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน จะทำให้ทั้งปริมาณและมูลค่าการค้าหดตัวลง มีการผลักภาระภาษีไปยังผู้บริโภค ค่าส่วนเกินของผู้ผลิตภายในเพิ่มขึ้นบนสวัสดิการของสังคมโดยรวมที่ลดลง

“สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป จะทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจและการส่งออกสินค้าและบริการของเอเชียโดยเฉพาะจีน กำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากของจีนจะถูกใช้เพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคของหลายประเทศในยุโรปจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจากกำแพงภาษี ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มที่ สงครามการค้าด้วยกำแพงภาษีนำเข้า อาจเคลื่อนตัวสู่ สงครามค่าเงินมากขึ้น เคลื่อนตัวสู่สงครามการค้าด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariffs Barriers) รวมทั้งมาตรการทางเทคนิค (Technical Barriers to Trade) และเป็นมาตรการเลือกปฏิบัติมากขึ้น (Discriminatory)” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่สินค้าส่งออกไทยต้องเผชิญนั้นจะไม่ใช่เพียงกำแพงภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯเท่านั้น หากจะยังเจอกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะการอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้มาตรการกีดกันทางเทคนิคก็เป็นสิ่งที่ภาคส่งออกไทยต้องเตรียมรับมือเอาไว้ด้วย เนื่องจากหลายประเทศอาจนำมาใช้เป็นมาตรการแทรกแซงทางการค้า มาตรการเหล่านี้ถือเป็นลัทธิปกป้องทางการค้าแนวใหม่ (New Trade Protectionism) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.มาตรการคุณภาพสินค้าและกระบวนการทดสอบ จะมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้บริโภค จะมีทั้งมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อความปลอดภัยและมาตรฐานความเป็นเลิศทางคุณภาพ และ ต้องมีใบรับรองมาตรฐานจากประเทศนำเข้าเท่านั้น ผู้ส่งออกไม่สามารถออกเองได้ 2.การจัดระบบตลาดภายในเพื่อเป็นอุปสรรคขัดขวางผู้เข้ามาแข่งขันรายใหม่จากต่างชาติ 3.การส่งเสริมการรวมกลุ่มของบริษัทภายในให้มีลักษณะเป็น Vertical Integration เพื่อสร้างความได้เปรียบต่อสินค้านำเข้าจากประเทศคู่แข่ง 4.การรวมกลุ่มกันเป็น Cartel เพื่อสร้างอำนาจผูกขาดและกีดกันสินค้าจากต่างประเทศ เป็นต้น 

ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯอันเป็นผลกระทบจากสงครามการค้า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจากภาษีนำเข้า จะกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่า ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลทำให้ นักลงทุนถือครองทองคำมากขึ้นเนื่องจากมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยภายใต้สงครามทางการค้าราคาทองคำมีโอกาสเดินหน้าต่อทดสอบ 3,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ทิศทางนี้จะยังไม่เปลี่ยนแปลงตราบเท่าที่สงครามการค้ายังขยายวงอย่างต่อเนื่อง คาดธนาคารกลางสหรัฐฯยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.25-4.50% ในการประชุมวันพุธที่ 19 มีนาคม ศกนี้ และมีความเป็นไปได้ที่อาจปรับลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนหลังเห็นสัญญาณของการชะตัวลงของเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น

“ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงพร้อมกับการหดตัวของปริมาณการค้าโลก อาจมีหลายอุตสาหกรรมของไทยลดการจ้างงานและปลดคนงานออก รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อเสริมสร้างสวัสดิการสังคมให้เข็มแข็งรับแรงกระแทกเศรษฐกิจโลก และรองรับคนว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง” รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ  

รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังกล่าวอีกว่า ระบบการค้าเสรีจะทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมปรับตัวตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบและกลไกราคา ขณะที่ สงครามทางการค้าจากกำแพงภาษีจะทำให้การปรับตัวของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและอียูบิดเบือนไปจากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศ ประเทศไทยควรทำการค้ากับต่างประเทศอย่างเสรีต่อไป การปรับตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับตัวของตลาดแรงงานก็จะเกิดขึ้นตลอดเวลา

ธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากการนำเข้าและการทุ่มตลาดจากต่างประเทศก็ต้องปรับตัวให้แข่งขันให้ได้ หากแข่งขันไม่ได้ก็ต้องลดหรือเลิกผลิตสินค้านั้นและเคลื่อนย้ายทรัพยากรไปผลิตสินค้าอื่นที่ไทยมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม กระบวนปรับตัวนี้ต้องมีมาตรการของรัฐมาช่วยสนับสนุน แต่ไทยไม่ควรเลือกวิธีการตอบโต้ด้วยกำแพงภาษีเพราะผู้บริโภคชาวไทยได้รับผลกระทบ ในขณะที่ผู้ผลิตภายในประเทศก็ได้ประโยชน์ไม่มาก 

ทั้งนี้ ตนเสนอแนะมาตรการและแนวทางในการรับมือผลกระทบกำแพงภาษีนำเข้าต่อสินค้าไทยและสงครามการค้าขยายวงระหว่างสหรัฐฯและยุโรป ว่า เบื้องต้น 1.รัฐบาลควรประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน ภาคแรงงานและภาควิชาการในการติดตามสถานการณ์พลวัตของสงครามการค้าและผลกระทบอย่างใกล้ชิด 2.รัฐบาลควรตั้ง คณะทำงานเพื่อเป็นทีมกำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาต่อรองทางการค้าขึ้น ที่ทำหน้าที่มากกว่าที่ดำเนินการตามปรกติของระบบราชการ

3.การบูรณาการข้อมูลเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศทั้งหมดเพื่อใช้ในการกำหนดการเจรจาทางการค้า 4.ใช้มาตรการทางเทคนิคในการปกป้องอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานภายในประเทศจากผลกระทบของการทุ่มตลาด 5.ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเพิ่มมูลค่าการค้าภายในประชาคมอาเซียน 6.แสวงหาตลาดใหม่ๆทดแทนสินค้าที่ถูกกีดกันจากกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ 7.โอกาสทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนได้เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐฯกับอียู ควรตั้งทีมงานเพื่อเจาะลึกไปยังผู้นำเข้าที่ต้องแสวงหาสินค้าทดแทน

“ส่วนมาตรการระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเพิ่มผลิตภาพของทุนและแรงงาน การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน การลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การแปรรูปและพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องเดินหน้าดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้การมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในตอนท้าย

043...

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ‘สหรัฐฯ-จีน’ลดภาษี115%พักรบ90วันดีต่อศก.โลก ห่วงเสถียรภาพการเมืองทำไทยเสียเปรียบเจรจา ‘สหรัฐฯ-จีน’ลดภาษี115%พักรบ90วันดีต่อศก.โลก ห่วงเสถียรภาพการเมืองทำไทยเสียเปรียบเจรจา
  • ‘พาณิชย์’ ขับเคลื่อนการค้าด้วยเทคโนโลยี พร้อมรับมือนโยบายการค้าสหรัฐฯ ‘พาณิชย์’ ขับเคลื่อนการค้าด้วยเทคโนโลยี พร้อมรับมือนโยบายการค้าสหรัฐฯ
  • สินค้าเกษตรไทย ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐ-จีน สินค้าเกษตรไทย ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐ-จีน
  • ส่องผลกระทบสินค้าเกษตรไทย หลังสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ส่องผลกระทบสินค้าเกษตรไทย หลังสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน
  • ‘พิชัย’ ถกทูตสวีเดน ดัน FTA ไทย–EU รุกตลาดยุโรป ‘พิชัย’ ถกทูตสวีเดน ดัน FTA ไทย–EU รุกตลาดยุโรป
  • ถือโอกาสแก้ปัญหาโครงสร้าง! ปธ.‘TDRI’แนะแนวทางไทยเจรจาสหรัฐฯ ถือโอกาสแก้ปัญหาโครงสร้าง! ปธ.‘TDRI’แนะแนวทางไทยเจรจาสหรัฐฯ
  •  

Breaking News

นช.แหกคุกนาทวี เรือนจำประกาศล่า ตั้งรางวัลนำจับ 5 หมื่นแจ้งเบาะแส

'วิโรจน์'ชี้ พ.ร.ฎ.2481 เป็นรากเหง้าปัญหาที่ดินกาญจนบุรี ดันคืนพื้นที่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์

'บิ๊กอ๊อบ'เปิดตัวนักบินหญิงคนแรก บินภารกิจพิเศษ ผบ.ทสส.สู่'เลย'

ไฟไหม้บ้านเรือนไทย 'ธีระชัย แสนแก้ว'ฉายาอีโต้อีสานกลางดึก

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved