สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 7 เดือนที่ 33.03 บาทต่อดอลลาร์ฯ
เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้น ๆ ต้นสัปดาห์ตามการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก แต่ทยอยแข็งค่ากลับมาในช่วงกลางสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางเงินทุนต่างชาติ ที่สลับมาอยู่ในฝั่งซื้อสุทธิทั้งในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยในช่วงก่อนการประชุมกนง. ซึ่งมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 1.75% ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัวเนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนของการเริ่มเจรจาการค้าอย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ และจีน
เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง และแตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 7 เดือนที่ 33.03 บาทต่อดอลลาร์ฯ ช่วงปลายสัปดาห์ แม้ว่าจะมีประเด็นที่ Moody’s ปรับมุมมองที่มีต่อแนวโน้มอันดับเครดิตไทยและสถาบันการเงิน 7 แห่ง เป็น “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” โดยเงินบาทมีแรงหนุนจากการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคและเงินหยวนในตลาดออฟชอร์ หลังเริ่มมีสัญญาณเกี่ยวกับการเตรียมเจรจาเรื่องภาษีการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก
ในวันศุกร์ที่ 2 พ.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 เม.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-2 พ.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,492 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 7,413 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 7,412 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 1 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 5-9 พ.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (6-7 พ.ค.) การประชุม BOE (8 พ.ค.) สถานการณ์ของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ราคาทองคำในตลาดโลก และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือนเม.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของไทย ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนเม.ย. ของจีน ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น รวมถึงตัวเลขการส่งออกและข้อมูลเศรษฐกิจอื่นในเดือนเม.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้น โดยมีแรงหนุนจากผลการประชุมกนง. และนักลงทุนคลายกังวลบางส่วนต่อประเด็นสงครามการค้า
ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงแรก ก่อนจะดีดตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ แม้ระหว่างสัปดาห์จะมีปัจจัยลบจากประเด็น Moody’s ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงมาเป็น “เชิงลบ” ก็ตาม โดยปัจจัยที่หนุนดัชนีหุ้นไทย ได้แก่ แรงซื้อหุ้นบิ๊กแคป โดยเฉพาะหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งหลังผลประกอบการไตรมาส 1/2568 ออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ การปรับลดดอกเบี้ยของ กนง. ตลอดจนนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังมีรายงานข่าวว่าสหรัฐฯ มีท่าทีประนีประนอม และจีนกำลังพิจารณาข้อเสนอสำหรับการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ดัชนีหุ้นไทยยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมในช่วงท้ายสัปดาห์จากการเปิดขายกองทุน Thai ESGX ซึ่งเป็นกองทุนรูปแบบใหม่ที่คาดว่าจะมีส่วนช่วยพยุงหุ้นไทย อย่างไรก็ดี กรอบการปรับขึ้นของดัชนีหุ้นไทยเริ่มจำกัดในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยเผชิญแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่มแบงก์จากประเด็นที่ Moody’s ปรับมุมมองแนวโน้มอันดับเครดิตของสถาบันการเงิน 7 แห่งเป็น “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ”
อนึ่ง สัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ปรับตัวลงสวนทางภาพรวม โดยเผชิญแรงขายทำกำไร เนื่องจากมีการตอบรับประเด็นเรื่องปรับลดดอกเบี้ยไปแล้วก่อนหน้านี้
ในวันศุกร์ที่ 2 พ.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,198.98 จุด เพิ่มขึ้น 3.45% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,980.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.69% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.73% มาปิดที่ระดับ 253.47 จุด
สัปดาห์ถัดไป (5-9 พ.ค. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,170 และ 1,150 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,215 และ 1,225 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (6-7 พ.ค.) ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของไทย ผลประกอบการไตรมาส 1/2568 ของบจ.ไทย ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคบริการเดือนเม.ย. ข้อมูลนำเข้าและส่งออกเดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การประชุม BOE ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนเม.ย. ของจีน ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ของจีน
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี