** ไม่แปลกใจที่เลยที่จะต้องเจอกับแรงต้านจากกลุ่มผู้เสียประโยชน์เมื่อ......คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการสั่งให้ทีมตรวจการสุดซอย ของกระทรวงอุตสาหกรรม....พยายามจะจัดการกับพวก”อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ”...โดยเฉพาะผู้ผลิตเหล็ก ด้วยเตาหลอมแบบ IF (Induction Furnace) ...ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตรวจ 6-7 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตรวจพบเหล็กเส้นจากเตา IF ที่ไม่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หลายหมื่นตัน ด้วยเหตุที่ว่าผู้ประกอบการแบบเตาIF ใช้เศษเหล็กคุณภาพต่ำ (เศษเหล็กรถซาเล้ง) ไม่มีการแยกสิ่งเจือปนต่างๆหรือขยะพลาสติกออกไปก่อนจะหลอม ซึ่งเตาแบบ IF ก็ไม่สามารถแยก”สารมลทินได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างหลายราย เมื่อเอาเหล็กเส้นจากเตา IF ไปทำการดัดก็หักไม่สามารถผูกเหล็กเพื่อเทคอนกรีตได้ ซึ่งถึงวันนี้ ก่อนที่จะมีการตรวจเข้มโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าเหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านั้นหลุดเข้าไปในตลาดมากเท่าใดแล้ว
ดังนั้นสังคมต้องฟังหลายเสียงจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเหล็กของไทยก็จะเข้าใจและสนับสนุนในส่งที่ คุณเอกนัฏ กำลังจะทำ...อย่างเช่น คุณวิกรม วัชระคุปต์ กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเหล็กมานานกว่า 50 ปี โดยมีประสบการณ์สูงทั้ง ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย รองผู้อำนวยการสถาบันโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย…ซึ่งได้แสดงความเห็นสนับสนุนแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกเลิกการใช้เตา IF สำหรับการผลิตเหล็กในประเทศไทย โดยระบุว่าเตา IF มีข้อจำกัดสำคัญในการควบคุมคุณภาพของเหล็กให้ได้มาตรฐานตลอดชิ้นงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุไม่คาดฝัน
ในอดีตมาตรฐาน มอก. ของประเทศไทยกำหนดให้การผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างสามารถใช้ได้เฉพาะกระบวนการถลุงเหล็กหรือเตาหลอมไฟฟ้า (Electric Arc Furnace – EAF) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 มีการปรับมาตรฐานให้สามารถใช้เตา IF ได้ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศจีนมีนโยบายปิดโรงงาน IF เพื่อควบคุมมลภาวะจากวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ทำให้โรงงานจำนวนหนึ่งย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนบางประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย
“แม้เตา IF จะเหมาะสมกับการผลิตเหล็กชนิดพิเศษ เช่น เหล็กหล่อ หรือ สแตนเลส ซึ่งต้องการการควบคุมทางเคมีอย่างแม่นยำ แต่เมื่อนำมาใช้กับการผลิตเหล็กก่อสร้างที่ใช้เศษเหล็กทั่วไปเป็นวัตถุดิบ เตา IF ไม่สามารถกำจัดสารเจือปนในระดับที่ปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับเตา EAF ซึ่งอาจส่งผลให้เหล็กที่ได้มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ และไม่สามารถรับแรงได้ตามที่ออกแบบไว้” นายวิกรมกล่าว
นายวิกรม กล่าวส่งท้ายว่า ผู้ผลิตเหล็กที่ใช้เทคโนโลยี EAF มีจำนวนและกำลังการผลิตเกินพอรองรับความต้องการของตลาดในประเทศไทย อีกทั้งการผลิตเหล็กยังครอบคลุมหลากหลายประเภท ไม่จำกัดเฉพาะเหล็กเส้น ดังนั้น การยกเลิกเตา IF จะไม่ส่งผลให้สินค้าเหล็กขาดแคลนสินค้าเหล็กอย่างใด
ล่าสุดในการประชุมสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม ซึ่งมี นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นดังกล่าวอย่างเข้มข้น และเน้นย้ำว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยต้องมุ่งสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง แข็งแรง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณเหล็กที่ใช้ และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในระยะยาว ความมั่นใจในคุณภาพของเหล็กจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ กระบวนการผลิตที่ใช้เตา EAF มีศักยภาพในการควบคุมสารปนเปื้อนได้ดีกว่า โดยสามารถปรับคุณภาพของน้ำเหล็กให้เหมาะสมกับการผลิตเหล็กเส้นที่มีความแข็งแรงและทนทาน เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆได้อย่างปลอดภัย
ด้าน นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวว่า การที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็กที่ผลิตโดยกระบวนการใช้เตา IF นั้นในความคิดเห็นส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าเหล็กที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ในราคาที่เหมาะสมแม้จะได้รับผลกระทบจากราคาที่สูงขึ้น แต่ก็ถือว่าแลกมาด้วยเรื่องของความปลอดภัย
“ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการผลิตเหล็กแบบ IF จะมีราคาที่ต่ำกว่าการผลิตด้วยเทคโนโลยี Electric Arc Furnace (EF) เพราะมีต้นทุนที่แตกต่างกัน จากกระบวนการผลิตที่การควบคุมคุณภาพไม่เข้มข้น การซื้อเหล็กอาจจะมีราคาที่สูงขึ้น แต่มองว่าไม่ได้แตกต่างกันมากมายเม่าใดนัก เพราะต้องเรียนว่าก่อนที่จะมีเตา IF สินค้าเหล็กเป็นสินค้าควบคุมโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ หากมีการขึ้นราคาหรือจำหน่ายในราคาสูงเกินความเหมาะสม ก็จะถูกควบคุม และถูกบังคับเรื่องราคาได้อยู่แล้ว”นายนาวา กล่าว
อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการที่ใช้เตาแบบ IF ต้องถูกยกเลิก ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า อาจไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มมากมายเท่าใดนัก โดยทางออกที่สามารถทำได้ ประกอบด้วย การดัดแปลงเตา IF โดยไม่ต้องรื้อทิ้งทั้งหมด เพราะการใช้เทคโนโลยี IF เป็นกระบวนการที่ใช้ตอนนำเศษเหล็กมาหลอม ดังนั้น จึงสามารถปรับปรุงได้โดยนำเทคโนโลยี Billet มาใช้รีดเป็นเหล็กเส้น หรือเหล็กข้ออ้อยได้ ปรับเปลี่ยน หรือดัดแปลงจาก IF เป็น EF ซึ่งมีการควบคุมคุณภาพที่แม่นยำ และเสถียรมากกว่า นอกจากนี้ ผู้บริโภคเองก็จะได้รับประโยชน์จากสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม เพราะสินค้าเหล็กมีความเกี่ยวข้องกับความ ปลอดภัยของที่อยู่อาศัย
“ต้องเรียนว่าที่ผ่านมาช่วงที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ใช้เทคโนโลยี IF ได้ เพราะหากสามารถควบคุมวัตถุดิบได้ดี มีความรับผิดชอบก็สามารถทำได้จริง แต่ปรากฏว่าที่กระทรวงอุตสาหกรรม สุ่มตรวจช่วงหลัง พบว่ามีหลายรายที่ทำได้ไม่ถึงตามมาตรฐาน การปฏิบัติจริงไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือตามที่กำหนด ขณะที่การตรวจสอบเหล็กจากเทคโนโลยี EF โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พบว่าไม่มีรายใดที่ตกมาตรฐาน"นายนาวา กล่าว
นายนาวา กล่าวอีกว่า ในเชิงของการทำธุรกิจถือว่ามีความยุติธรรม เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการได้แต้มต่อ หรือข้อได้เปรียบจากโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีล้าสมัยในเรื่องของต้นทุนการผลิต อีกทั้ง เทคโนโลยี IF นั้น หลายประเทศเช่น จีน และมาเลเซีย เป็นต้น ไม่ให้การยอมรับ และไม่อนุญาตให้นำเข้าไปใช้งานประเทศ
** อนันตเดช พงษ์พันธุ์**
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี