“ไม่มีเงิน แต่มีเครดิต เครดิตยังสร้างเงินให้กับเราได้”
เวลาถูกเชิญไปบรรยายให้กับน้องๆ มหาวิทยาลัยที่กำลังจะเรียนจบ หรือพนักงานใหม่ขององค์กรต่างๆ คำแนะนำแรกที่ผมมักจะให้กับคุณผู้ฟังรุ่นน้อง ก็คือ “10 ปีแรกของการทำงาน อย่าเพิ่งสร้างหนี้”
แต่ดูเหมือนจะเป็นคำเตือนที่มาไม่ทันการณ์ เพราะหลายที่ที่ผมไปบรรยาย ทำงานแค่ปีสองปี ก็เริ่มมีหนี้กันแล้ว แถมเป็นหนี้บริโภคกันเสียด้วย อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคลที่อ้างว่าจำเป็นต้องใช้ในสิ่งที่อยากได้ (บ้างก็ว่าของมันต้องมี) บัตรเครดิตคนละหลายใบจ่ายเต็มจำนวนไม่ได้ต้องผ่อนขั้นต่ำ บัตรกดเงินสดก็มีติดกระเป๋ากันไว้เพียบ ถ้าติดกระเป๋าอย่างเดียว ก็ไม่ว่ากัน แต่ส่วนใหญ่มีการกดเงินเขามาใช้กันไปแล้ว แล้วก็ผ่อนขั้นต่ำหนี้คงค้างหมุนวนไปเรื่อยๆ
สำหรับหนี้บัตรกดเงินสด ซึ่งปัจจุบันคิดดอกเบี้ยกันที่ 25 เปอร์เซ็นต์ต่อปี สมมุติง่ายๆ ว่า เรากดเงินเขาออกมาใช้ 15,000 บาท พอถึงกำหนดวันชำระหนี้ เราคืนเขาเต็มจำนวนไม่ได้ เลือกผ่อนขั้นต่ำ 3 เปอร์เซ็นต์ คือ 450 บาท
สิ่งที่เราต้องทราบก็คือ 450 บาท ที่ชำระขั้นต่ำไป จะต้องนำไปจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 300 บาท และตัดเงินต้นที่ยืมมาเพียง150 บาท แบบนี้แค่กดออกมา 1 ครั้ง และจ่ายแต่ขั้นต่ำไปเรื่อยๆโดยไม่กดเงินเพิ่มออกมาจากบัตรอีกเลย (ซึ่งเป็นไปได้ยากพอสมควร)กรณีนี้กว่าเราจะปิดหนี้จนหมด จะใช้เวลานานถึง 18 ปี และต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมประมาณ 29,000 บาท (แพงกว่าเงินต้น 2 เท่า)
อ่านไม่ผิดครับ 18 ปี!! ยิ่งหากเรายังมีการกดเงินเพิ่มอยู่เรื่อยๆ และจ่ายแต่ขั้นต่ำตลอด แบบนี้ไม่รู้จะหมดหนี้กันวันไหนเลยนะ (นานกว่า 18 ปีแน่ๆ)
และที่แย่กว่าการเป็นหนี้บริโภคตั้งแต่อายุยังน้อย ก็คือ …
1) การเสียโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่ออื่นๆ ในอนาคต เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ เช่น พออายุสัก 30 ปี หลายคนเริ่มวางแผนแต่งงาน บางคนวางแผนซื้อบ้านหรือคอนโดฯเป็นของตัวเอง หรือบ้างอาจต้องมีรถยนต์สำหรับไว้ใช้ทำงานด้วย
คนที่เป็นหนี้บริโภคสะสมก็จะเข้าถึงสินเชื่อที่จำเป็นในเวลาที่จำเป็นได้ลำบาก เพราะภาระผ่อนหนี้เดิมก็มีสูงอยู่แล้ว ครั้นจะเพิ่มสินเชื่อบ้าน รถ หรือธุรกิจเข้าไปอีก ก็อาจทำให้อัตราส่วนเงินผ่อนชำระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio, DSR) สูงเกินกว่า50 เปอร์เซ็นต์ และทำให้สินเชื่อไม่ได้รับการอนุมัติ
2) เกิดความผิดพลาดในการผ่อนชำระสินเชื่อบริโภค ประวัติการชำระหนี้เสียหาย และอาจไปถึงขั้นเป็นหนี้เสีย มีภาระหนี้หนักและถูกติดตามทวงถาม จนกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
ต่อไปนี้คือคำแนะนำสำหรับทุกท่านที่ต้องการจัดการสินเชื่อให้ดี ให้พร้อม เพื่อสร้างเครดิตทางการเงินที่ดีให้กับตัวเอง
1) ก่อนใช้สินเชื่อทุกประเภท ต้องทบทวนความจำเป็น และความสามารถในการชำระหนี้คืน ให้มั่นใจว่าจะสามารถชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ได้ตลอดอายุสัญญา
2) บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ซึ่งเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยสูง(16-25%) ควรชำระหนี้เต็มจำนวนทุกครั้งที่ใช้ ไม่ควรมีหนี้คงค้าง(Full Payment, Not Minimum Payment)
3) ควรวางแผนการเงินเป็นประจำทุกเดือน (ทำงบรายรับรายจ่ายล่วงหน้า) กรณีมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อน เช่น สินเชื่อสหกรณ์ สินเชื่อส่วนบุคคล ให้วางแผนให้เรียบร้อยก่อนว่า เราสามารถผ่อนชำระคืนได้ทุกเดือนตามเงื่อนไข
4) ผ่อนชำระหนี้ทุกประเภทให้ตรงเวลา เพราะนอกจากจะช่วยรักษาเครดิต เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในครั้งต่อๆ ไปแล้ว ยังประเภทดอกเบี้ยซึ่งถือเป็นต้นทุนในการใช้เงินทุน
5) หมั่นตรวจสอบเครดิตการเงินเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลประวัติการชำระหนี้ถูกต้องรวมถึงไม่มีข้อมูลแปลกปลอมที่อาจทำให้เสียโอกาสในอนาคต
6) ตรวจสอบรายละเอียดการใช้จ่าย การชำระหนี้ และเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้เป็นหลักฐานให้ครบถ้วน จนกว่าหนี้ดังกล่าวจะถูกชำระจนหมดไม่มีเหลือคงค้าง
ผมเองเคยเป็นคนหนึ่งที่สูญเสียเครดิตหลังจากเริ่มแก้ปัญหาหนี้ไปได้ไม่นาน จากการผิดนัดชำระหนี้แทบทุกรายการ จึงรู้ดีกว่าการเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ในเวลาที่จำเป็นนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้เสียโอกาสมากแค่ไหน กว่าจะทำการเคลียร์หนี้ทุกรายการจนหมด ไหนจะต้องรอข้อมูลเครดิตให้กลับมาดีอีกครั้ง ก็ใช้เวลานานกว่า 5 ปี
จึงอยากเน้นย้ำ และแนะนำคนรุ่นใหม่ทุกท่านให้บริหารจัดการเครดิตการเงินให้ดี เพื่อให้พร้อมเข้าถึงโอกาสต่างๆ ที่อาจวิ่งเข้ามาหาชีวิตได้ในวันใดวันหนึ่ง ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น ความพร้อมทางการเงินสำหรับคนเครดิตดี จะยิ่งทำให้ชีวิตการเงินพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้
“รักษาเครดิตให้ดี เพราะไม่มีเงิน แต่มีเครดิต เครดิตยังดึงดูดเงิน เพื่อสร้างโอกาสให้กับเราได้”
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี