ในแทบทุกครั้งที่บรรยายเรื่องการเงินส่วนบุคคล หัวข้อหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มักรู้สึกเฉยๆ ไม่ค่อยสนใจฟังกันสักเท่าไหร่ ก็คือ เรื่องการจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของการเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน (ส่วนใหญ่อยากฟังเรื่องการลงทุนมากกว่า)
เอาเข้าจริง เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน หรือ Emergency Fund เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำคัญถึงขั้นเป็นเป้าหมายแรกของการออมเลยทีเดียว เรียกได้ว่า ก่อนที่จะคิดไปถึงการวางแผนการเงินเพื่อความมั่งคั่ง คนเราควรเผื่อเหลือเผื่อขาด เก็บเงินไว้ในตะกร้านี้ให้เต็มก่อนเป็นอันดับแรก
โดยเป้าหมายของการเก็บเงินก้อนนี้ ก็คือ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรวมต่อเดือน เช่น ถ้าเดือนหนึ่งใช้ 20,000 บาท เงินสำรองก็จะเท่ากับ 20,000 x 6 = 120,000 บาท เก็บสะสมไว้ในที่ที่รักษาเงินต้น (ไม่สูญหายหรือลดลง) และมีสภาพคล่องในการเบิกถอนสูง เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้
● เงินฝากสถาบันการเงิน
● เงินฝากสหกรณ์
● กองทุนรวมตลาดเงิน
● กองทุนรวมตราสารหนี้
● สลากออมทรัพย์ (ออมสิน / ธ.ก.ส. / ธอส.) จะเลือกช่องทางไหนก็ได้ทั้งหมด (ยกเว้น สลากกินแบ่งฯ 555)
ค่อยๆ ทยอยเก็บทีละน้อย ควบคู่ไปกับตะกร้าเงินอื่นๆ (เช่น เงินเกษียณ) เต็มครบ 6 เท่าของรายจ่ายก็หยุดเก็บสะสมแล้วเอาเงินออมไปสะสมในตะกร้าอื่นๆ แทน
เหตุผลที่เราต้องเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้บ้าง ก็เพราะชีวิตมีความไม่แน่นอนสูง ยิ่งกรณีของการขาดหายไปของรายได้(Income Shock) ไม่ว่าจะเกิดจากการตกงาน ถูกลดค่าแรง เลื่อนการรับชำระเงิน คนในครอบครัวเจ็บป่วยกะทันหัน ฯลฯ คนที่ไม่มีเงินสำรอง ก็อาจมีความจำเป็นต้องหยิบยืม และพาชีวิตเข้าสู่วงจรหนี้ได้
ที่จริงตอนตกงาน เรามีเงินที่พอจะนำมาหมุนเวียนได้ อาทิ
1) เงินชดเชยการเลิกจ้าง จากนายจ้าง (ถ้าพี่เค้าไม่เบี้ยว)
2) เงินชดเชยประกันสังคม 50% 6 เดือน (สูงสุด7,500 บาท)
หรือ 3) เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากบริษัทที่ปลดเรา (อันนี้ไม่แนะนำให้ใช้ ถ้าไม่สุดจริงๆ ควรเอาไปลงทุนต่อมากกว่า)
ดังนั้นมีสำรองของตัวเองไว้ส่วนหนึ่ง น่าจะเฉียบกว่ามีทางเลือกในชีวิตมากกว่า
ด้วยเหตุที่เป็น “เงินเตรียมตัว” เรื่องโชคร้ายอาจไม่เกิดกับเรา และด้วยแหล่งสะสมเงินที่ผมแนะนำไป มักมีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำ (เงินสำรองไม่ควรลงทุนในหุ้น อนุพันธ์ ทรัพย์สินดิจิทัล ประกันชีวิต) จึงทำให้ใครหลายคนหงุดหงิดที่เห็นเงินตัวเอง เติบโตในเครื่องมือที่ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนไม่ค่อยสูง
หลายคนจึงละเลย ไม่เก็บเงินสำรอง ข้ามไปลุยกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงด้วยเงินทั้งหมดที่มี คิดง่ายๆ ว่าถ้าลงทุนแล้วกำไร เหตุฉุกเฉินมาก็คงไม่ต้องกังวล เพราะมีกำไรจากการลงทุน (โดยไม่มองความเสี่ยง) หรือบางคนหนักกว่านั้น คือ แค่เริ่มเก็บให้มี ยังไม่เริ่มเก็บเลย ด้วยคิดเอาเองว่า
“เราคงไม่โชคร้ายขนาดนั้น”
แต่ก็มีหลายครั้งเรื่องโชคร้ายที่ไม่น่าจะเกิดกับเรา ดันมาเกิดกับเรา หรือคนในอุปการะของเรา แล้วกลายมาเป็นปัญหาการเงินก้อนใหญ่ ที่ทำให้ชีวิตการเงินเราเสียหาย
ขณะนั่งเขียนบทความนี้ น้องคนหนึ่งเขียนข้อความส่งมาทางเฟซบุ๊กเล่าให้ฟังว่า ปีก่อนบริษัทจ่ายโบนัส 3 เดือน เขาได้เงินมาราว 200,000 บาท (โบนัสเยอะดีจัง)
ตอนแรกตั้งใจจะซื้อของที่อยากได้หลายอย่าง แต่นึกไปนึกมา (ไม่รู้อะไรดลใจ) สุดท้ายตัดสินใจไม่ซื้อของที่เล็งไว้เลยสักอย่าง
เขาหักเงิน 180,000 บาท ไปฝากธนาคารและซื้อกองทุนตราสารหนี้อย่างละครึ่ง เพื่อสะสมไว้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน(น้องเค้ารายจ่ายต่อเดือน 30,000 บาท)
เดือนก่อน น้องท่านนี้เพิ่งถูกให้ออกจากงาน แจ๊คพอตมาลงที่เขาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
แม้จะต้องออกจากงาน แต่เขารู้สึกขอบคุณตัวเองที่วันนั้นตัดใจไม่ซื้อของที่อยากได้ แล้วนำมาสะสมเป็นทุนสำรองชีวิตของตัวเอง (ที่จริงจะเก็บสักครึ่ง แล้วค่อยทยอยเก็บเพิ่มก็ได้) อย่างน้อยก็ยังมีเงินใช้อีก 6 เดือน มีเวลาคิด เวลาหางานใหม่ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องปากท้องได้สักระยะ
เรื่องราวของเงินสำรองมักเป็นอย่างนี้ครับ อาจขัดใจคนเก็บสะสมอยู่บ้าง ในวันที่อะไรยังดีๆ แต่ในวันที่อะไรๆ ไม่เป็นใจวันนั้นแหละ คุณถึงจะเข้าใจความสำคัญของเงินก้อนนี้
แล้วคุณหละ! วางแผนจะรับมือกับความเสี่ยงของการขาดหายไปของรายได้อย่างไร อยู่เฉยๆ เจอแล้วค่อยคิดค่อยว่ากัน หรือลงมือเริ่มเก็บสะสมตั้งแต่วันนี้ และเริ่มหาแหล่งรายได้ที่ 2 และ 3 เป็นทางเลือกเพิ่มเติม
ทางเลือกทั้งหมดเป็นสิทธิที่อยู่ในความรับผิดชอบของคุณครับ โลกยุคใหม่ ความมั่งคั่งไม่ได้อยู่ที่งานหรืออยู่ในมือใครทั้งหมดมันอยู่ในมือคุณเอง
เริ่มเก็บเริ่มออม อย่ามองข้ามเป้าหมายแรกที่สำคัญนี้นะครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี