ll มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 2 อยู่ที่ 14,639 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.3 แสนล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY หลังจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 0.3% YoY โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ไก่ ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป โดย ข้าว (53.0% YoY) เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร และนโยบายจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย ส่วนยางพารา (37.3%YoY) ปรับตัวขึ้น จากราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (4.1%YoY) ได้รับผลบวกจากความต้องการนำเข้าในตลาดตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น จากความกังวลต่อภาวะสงคราม ส่วนสินค้าที่หดตัว ได้แก่ มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และน้ำตาลทราย
สำหรับทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญในปี 2567-2568 เช่น ข้าว คาดว่าในปี 2567 ปริมาณการส่งออกข้าวจะอยู่ที่ 9.2 ล้านตัน หรือยังคงขยายตัวราว 5.0%YoY จากปัญหาอุปทานข้าวโลกที่ตึงตัวจากปัจจัยเอลนีโญในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ประเทศคู่ค้ายังคงมีการสะสมสต๊อกข้าว ซึ่งผลผลิตข้าวไทยยังมีเพียงพอสำหรับส่งออก เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรกอาจส่งผลต่อไทยน้อยกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังยังต้องติดตามนโยบายจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงในเดือนตุลาคม เนื่องจากผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของลานีญา อาจทำให้ซัพพลายข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาข้าวในตลาดโลกในช่วงปลายปีมีแนวโน้มลดลง และยังต้องติดตามปัญหาต้นทุนค่าขนส่ง ที่คาดว่ายังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจกระทบความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรมข้าว
ส่วนในปี 2568 คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวจะลดลงมาอยู่ที่ 7.8 ล้านตัน หรือลดลง-15.1%YoY โดยหากภัยแล้งในอินเดียเริ่มคลี่คลายจะทำให้อินเดียผ่อนคลายนโยบายควบคุมการส่งออกข้าว ทำให้อานิสงส์จากการที่ผู้นำเข้าข้าวหันมานำข้าวไทยทดแทนอินเดียหมดลง ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับลดลง โดยคาดว่าราคาส่งออกข้าวขาว 5% เฉลี่ยของไทยจะอยู่ที่550 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือลดลง -7.6%YoY
มันสำปะหลัง ในปี 2567-2568 คาดว่า อุตสาหกรรมต่อเนื่องในจีนยังมีความต้องการนำเข้ามันสำปะหลัง เนื่องจากความต้องการข้าวโพดต่อสต๊อกข้าวโพดของจีนที่ยังสูงอยู่ที่ราว 1.5 เท่า แต่ในปี 2567 ผลผลิตมันสำปะหลังไทยมีแนวโน้มจะไม่เพียงพอต่อการส่งออก เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในไทยในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังได้รับความเสียหายและผลผลิตมีจำกัด รวมทั้งต้องแข่งขันด้านราคากับราคาข้าวโพดในจีนที่มีราคาถูกกว่า ส่วนในปี 2568 หากสภาพอากาศเอื้ออำนวยคาดว่าจะทำให้ผลผลิตกลับมาขยายตัวได้ คาดว่า ในปี 2567 ปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดจะอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน หรือหดตัว -45.0%YoY สำหรับราคาเฉลี่ยมันเส้นในประเทศและราคาส่งออกจะอยู่ที่ 8.1 บาท/กก. และ 230 เหรียญสหรัฐ/ตันตามลำดับ (ลดลง -5.8%YoY และ -15.4 %YoY) ส่วนในปี 2568 ปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดคาดจะอยู่ที่ 2.7 ล้านตัน หรือขยายตัว 10.0%YoY ขณะที่ราคาเฉลี่ยมันเส้นในประเทศและราคาส่งออกจะปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 8.0 บาท/กก. และ 225 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ (ลดลง -1.0%YoY และ -2.0%YoY)
ยางพารา ในปี 2567 คาดว่า มูลค่าส่งออกยางแผ่นและยางแท่งจะอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 58.0% YoY โดยเป็นผลจากราคาส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 33.0%YoY เป็น 1.9 พันเหรียญสหรัฐ/ตัน เพราะในช่วงครึ่งปีแรกราคาส่งออกอยู่ในระดับสูง จากผลกระทบของปรากฏการณ์แอลนีโญในช่วงปลายปี 2566 ที่ทำให้ผลผลิตยางพาราโลกต่ำกว่าความต้องการใช้ยางพาราของโลก อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าราคาส่งออกยางพาราจะมีแนวโน้มลดลง ตามผลผลิตยางพาราโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้น 15.0%YoY ตามภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่ทยอยฟื้นตัว ส่วนในปี 2568 คาดว่า มูลค่าส่งออกยางแผ่นและยางแท่งจะอยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1%YoY โดยเป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 5.0%YoY เป็น 2.2 ล้านตัน ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ขณะที่ราคาส่งออกยางพาราปรับตัวลดลง -2.9%YoY เป็น 1.5 พันเหรียญสหรัฐ/ตัน จากผลผลิตยางพาราโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก
ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ในปี 2567 คาดว่า มูลค่าการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งจะอยู่ที่ราว 2.28 แสนล้านบาท หรือหดตัว-4.3%YoY เนื่องจากได้รับปัจจัยกดดันด้านผลผลิตเป็นหลัก โดยแม้ราคาทุเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นแต่สภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของทุเรียนลดลง โดยคาดว่า ผลผลิตทุเรียนในปี 2567 จะอยู่ที่ราว 1.28 ล้านตัน หรือลดลง -13%YoY นอกจากนี้ การส่งออกไปจีนเผชิญปัจจัยท้าทายจากคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น ภายหลังมาเลเซียสามารถส่งออกทุเรียนสดเข้าจีนได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2567 ขณะที่เวียดนามและฟิลิปปินส์เร่งขยายการส่งออกทุเรียน ซึ่งอาจทำให้การแข่งขันด้านราคาในตลาดจีนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นกระทบการส่งออกผลไม้ของไทย
ส่วนในปี 2568 คาดว่า มูลค่าการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งจะอยู่ที่ราว 2.46 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 7.8%YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน ประกอบกับปริมาณผลผลิตผลไม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวย อีกทั้งความต้องการบริโภคผลไม้เมืองร้อนของชาวจีนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การแข่งขันในตลาดจีนมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จากการเร่งขยายการส่งออกทุเรียนของประเทศคู่แข่ง ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย รวมถึงผลผลิตทุเรียนของจีนที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น
ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ในปี 2567-2568 คาดว่า ปริมาณส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปจะอยู่ที่ 1.12 และ 1.17 ล้านตัน หรือยายตัว 3.4%YoY และ 4.2%YoY คิดเป็นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 146,401 และ 153,721 ล้านบาทหรือขยายตัว 4.0%YoY และ 5.0%YoY ตามลำดับเนื่องจากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีทิศทางฟื้นตัว ตามการเติบโตของการท่องเที่ยวและธุรกิจร้านอาหาร เช่นเดียวกับการส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปญี่ปุ่นที่ยังขยายตัว ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในญี่ปุ่นที่นิยมบริโภคอาหารพร้อมทาน รวมทั้งการระบาดของไข้หวัดนกในญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปจะช่วยหนุนการนำเข้าไก่เนื้อของไทยเพิ่มขึ้น
แม้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2567 จะขยายตัวได้ แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้ 1.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รอบใหม่ อาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของจีน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยางพารา เนื่องจากไทยส่งออกยางพาราไปจีน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 39% ของมูลค่าการส่งออกยางพาราทั้งหมดของไทย ทำให้อาจได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีนในอัตรา 100% ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้ายางพาราเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนมีแนวโน้มลดลง
2.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาจกระทบต่อต้นทุนการส่งออก ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าขนส่งที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันและค่าระวางเรือในตลาดโลก รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดตะวันออกกลางในสัดส่วนที่สูง เช่น สินค้าในกลุ่มข้าวและอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น3.การแข่งขันในตลาดจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ภายหลังมาเลเซียสามารถส่งออกทุเรียนสดเข้าจีนได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2567 ขณะที่เวียดนามและฟิลิปปินส์เร่งขยายการส่งออกทุเรียน ทำให้การแข่งขันด้านราคาของทุเรียนสดในตลาดจีนมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น อาจกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทย
4.ต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจกดดันต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร โดยล่าสุดรัฐบาลมีแผนจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปัจจัยท้าทายจากมาตรการสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่เข้มงวดขึ้น เช่น กฎหมายที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป (EU Deforestation-free products) ที่จะเริ่มนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 30 ธ.ค. 2567 อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยางพารา และน้ำมันปาล์ม 5.สภาพอากาศในช่วงครึ่งปีหลังที่เข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาอาจทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยอาจส่งผลต่อนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศต่างๆ ที่ในช่วงที่ผ่านมามีการนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นทยอยได้รับอานิสงส์ลดลง เช่น นโยบายจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจมีการผ่อนคลายลงในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เป็นต้น 6.การขึ้นค่าแรงทั่วประเทศเป็น 400 บาท โดยให้เริ่มมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะกระทบกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการใช้แรงงานจำนวนมากเช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เป็นต้น
Krungthai COMPASS
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี