ก่อนเงินเดือนจะเข้ากระเป๋า (ในอีกไม่กี่วัน) อยากชวนทุกคนมาวางแผนจัดการรายได้กันสักหน่อย จะได้รู้ว่าเงินจะพอใช้มั้ย ถ้าไม่พอ ขาดเหลือเท่าไหร่ และต้องเตรียมการอะไรบ้าง
1. ทำตัวเลขการเงิน “ล่วงหน้า”
ทำตัวเลขรายรับรายจ่าย “ล่วงหน้า” ที่ต้องทำล่วงหน้า ก็เพื่อจะได้เห็นว่า เงินที่จะได้รับ ได้มาเท่าไหร่ (หลายคนอาจมีรายการหักเยอะแยะเต็มไปหมด) และรายจ่ายที่รู้แน่ๆ ว่าต้องจ่าย มีอยู่เท่าไหร่ มีเงินเหลือให้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเท่าไหร่ (ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ของใช้ส่วนตัว ฯลฯ)
เริ่มต้นให้ทำตัวเลข และทำงบไว้ทั้งหมด ไม่ให้ตกหล่น
2. ตรวจสอบว่า “เงินพอใช้มั้ย”
โดยดูจากบรรทัดสุดท้าย รายได้ - เงินหักออม - ค่าใช้จ่าย = เงินคงเหลือ
ถ้าบวกลบคูณหารแล้วว่า “พอ” (เงินคงเหลือไม่ติดลบ) ... ก็ให้รักษาวินัย ใช้จ่ายตามแผน (จะได้มีเงินเหลือจริง)
แต่ถ้า “ขาด” (เงินคงเหลือติดลบ) เงินช๊อต เงินไม่พอ … ก็จะได้ว่า “ขาดเท่าไหร่” จะได้เตรียมการแต่เนิ่นๆ
3. ลองตัดลดรายจ่าย
ลองดูรายจ่ายทีละรายการ แล้วลองคุยกับตัวเองจริงๆ จังๆ ว่าอันไหนลดได้ อันไหนละได้ เพื่อที่เงินจะได้พอใช้ ตรงนี้การทำตัวเลขรายการใช้จ่ายอย่างละเอียดไม่ตกหล่นจะช่วยได้มาก
หลายครั้งคนเรามีค่าใช้จ่ายที่ควักจ่ายแบบอัตโนมัติ (เช่น บริการสมาชิกต่างๆ) แต่ไม่ค่อยได้ใช้งาน หรืออาจเป็นรายจ่ายซ้ำซ้อน ที่ตัดออกได้ หรือแพ็คเกจบางอย่างที่เบาได้ตามการใช้งานจริง อันนี้ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้
หรือถ้าหนี้เยอะ นี่เป็นเวลาที่ต้องจริงจังกับการเจรจาปรับเงื่อนไขการผ่อน ปรับโครงสร้างหนี้ หรืออาจใช้การรวบรวมหนี้รวม (รีไฟแนนซ์) ทางไหนช่วยได้ เอาทุกทาง เพื่อให้ผ่อนเบาลง
4. เตรียมเงินสำรอง (หรือสินเชื่อ)
ถ้าวางแผนลดรายจ่ายแล้ว ก็ยังไม่พอใช้ ก็อาจถึงคราวต้องแคะกระปุก เอาเงินออมมาเติมให้ใช้จ่ายได้พอดี หรือถ้าไม่มีเงินออม และรายจ่ายมีความจำเป็นจริงๆ ก็อาจพิจารณาวางแผนเรื่องสินเชื่อตระเตรียมไว้บ้าง เพราะถ้าฉุกละหุกต้องใช้เงินแล้วไม่ได้เตรียมไว้ สุดท้ายก็จะได้กู้เงินดอกเบี้ยแพงมาหมุน (แต่ทางที่ดีอย่าให้มีถึงจุดนี้เลย)
กรณีเงินไม่พอทุกเดือน ลดค่าใช้จ่ายก็เต็มที่แล้ว ก็ต้องยอมรับสภาพ ว่าต้องเหนื่อยเพิ่ม หาอะไรทำเพิ่ม ก็ควรต้องคิดจริงจังได้แล้ว (ติดลบสัก 2 เดือน ก็เอาได้แล้วมั้ย)
ทั้งหมดทั้งมวลที่ต้องทำตัวเลขล่วงหน้า รวมถึงแผนการจัดการก่อนที่เรื่องจะเกิด ก็เพื่อให้มั่นใจว่า เงินรายได้ที่ได้รับ จะมีแบ่งไปเก็บออมและพอใช้จ่ายได้ จนถึงเงินเดือนในเดือนถัดไป ไม่ต้องขอหยิบขอยืมใคร
สิ่งสำคัญที่ต้องระวังสำหรับการจัดการเงิน ก็คือ “อย่าให้การเงินสะดุด” อย่าให้สภาพคล่องเสียหาย หลายคนสะดุดแล้วกลับมาไม่ง่าย
ดังนั้น การทำตัวเลขการเงินล่วงหน้า ทดลองใช้จ่ายในกระดาษ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยให้เราเห็นการเงินตัวเองตลอด 30 วัน แล้วเริ่มจัดระเบียบการเงินให้เข้าที่เข้าทาง
ก่อนเงินเดือนเข้าบัญชี ลองวางแผนใช้จ่ายดูสักที ไม่ได้เสียเวลาอะไรมากมาย แต่แก้ปัญหาการเงินสะดุดได้ชะงักทีเดียวเชียว
#TheMoneyCoachTH
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี