เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เสนอข่าว Thailand to Impose 300 Baht Entry Fee for Foreign Travelers From June as Tourism Booms อ้างการเปิดเผยของ พิพัฒน์ รัชกิจประการ (Phiphat Ratchakitprakarn) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ว่า ที่ป่ระชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Entry Fee) หรือ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป
สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยเครื่องบิน จะต้องจ่ายคน 300 บาท ขณะที่การเข้าประเทศทางบกหรือทางเรือ จะอยู่ที่คนละ 150 บาท ซึ่ง พิพัฒน์ กล่าวว่า รัฐบาลคาดว่าจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทในปีนี้ และส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในการทำประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุสำหรับนักท่องเที่ยวระหว่างที่พำนักในประเทศ รวมถึงดูแลแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา แนวคิดการค่าธรรมเนียมเข้าประเทศถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวในท้องถิ่น โดยไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านวัด ชายหาด และอุทยานแห่งชาติกำลังต้อนรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้าไปเยือนอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกมาตรการคุมเข้มในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และความเคลื่อนไหวของจีนที่จะยุตินโยบายแผ่นดินปลอดโควิด
ทางการไทยคาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยอาจสูงถึง 30 ล้านคนในปี 2566 เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจาก 11.2 ล้านคนในปี 2565 ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีแนวคิดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน แต่ถูกเลื่อนออกไปจากสถานการณ์โรคระบาดดังกล่าว โดยค่าธรรมเนียมนี้จะถูกคิดรวมไปพร้อมกับค่าตั๋วเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม สำหรับการเข้าประเทศผ่านพรมแดนทางบกยังไม่มีหลักเกณฑ์ออกมา
วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ (Wuthichai Luangamornlert) กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพาร์คซิตี้ จำกัด หรือ “สวนสยาม” ให้ความเห็นว่า แม้จะยินดีกับข่าวนี้ แต่การเก็บค่าธรรมเนียมและการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด ต้องทำให้มั่นใจเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่มีรายงานว่า หุ้นของบริษัทท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวบางแห่งร่วงลงในกรุงเทพฯ ซื้อขายตามข่าวดังกล่าว บมจ.ท่าอากาศยานไทย ลดลงมากถึงร้อยละ 1.7 และดัชนีบริษัททัวร์และการพักผ่อนถอยลงมากถึงร้อยละ 1.6 ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดในรอบสัปดาห์
- 006