จิตแพทย์อินเดียอุทิศชีวิตสู้กับความเชื่องมงาย หวังช่วยเพื่อนร่วมชาติพ้นภัยมิจฉาชีพ-อันตรายสุขภาพ
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 South China Morning Post นสพ.ท้องถิ่นของฮ่องกง เสนอรายงานพิเศษ The Indian doctor fighting to protect people against harm and ‘entrenched beliefs’ of black magic ว่าด้วย นพ.ฮามิด ดพลการ (Dr Hamid Dabholkar) จิตแพทย์ชาวอินเดีย วัย 45 ปี ที่อุทิศชีวิตเดินหน้าให้ความรู้กับเพื่อนร่วมชาติ เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่อ้างตัวเป็นพ่อมดหมอผีมีวิชาไสยศาสตร์ หรือผุ้ที่ใช้ศาสตร์แปลกประหลาดรักษาโรค แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงนักต้มตุ๋น ซึ่งผู้หลงเชื่อนอกจากจะเสียเงินแล้วยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
รายงานข่าวเริ่มต้นด้วยตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ คู่รักชาวอินเดียในรัฐคุชราฏพบว่าลูกน้อยซึ่งเป็นทารกวัย 2 เดือนไอไม่หยุด เลยไปขอให้ผู้อ้างว่ามีความสามารถในการรักษาด้วย “แท่งร้อน (hot-rod)” แต่สุดท้ายต้องรีบนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาล เมื่อหมอผีกดแท่งเหล็กร้อนแดงที่หน้าอกและท้องของเด็กเพื่อกำจัดวิญญาณชั่วร้าย อาการบาดเจ็บรุนแรงมากจนต้องรักษาตัวในห้องไอซียู โดยแพทย์บอกว่าทารกมีอาการทรงตัว ยังมีกรณีคล้ายกันที่มัธยประเทศ ทารกรายหนึ่งถูกตีด้วยเหล็กร้อน 20 ครั้งโดยหมอผี และอีกรายถูกเผา 50 ครั้ง
นพ.ฮามิด ซึ่งเปิดคลินิกอยู่ในรัฐมหาราษฏระ คอยให้คำปรึกษาและแนะนำการรักษาที่เหมาะสมกับผู้เคยตกเป็นเหยื่อหมอปลอมเหล่านั้น ระบุว่า การรักษาแบบแท่งร้อนนี้พบเห็นได้จนชินตา เมื่อนักต้มตุ๋นบอกว่ามีบางสิ่งที่ชั่วร้ายจ้องไปที่เด็กและต้องกำจัดมันด้วยวิธีนี้ นี่เป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกในหมู่บ้าน โดยแรงบันดาลใจนั้นมาจากการเสียชีวิตของผู้เป็นบิดา ที่ลุกขึ้นมาให้ความรู้กับชาวอินเดียให้ไม่ตกเป็นเหยื่อความเชื่องมงายและอันตรายเหล่านี้ กระทั่งถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อปี 2556 ขณะนำเดินขบวนรณรงค์ในเรื่องดังกล่าวที่เมืองปูเน
นเรนทรา (Narendra) พ่อของ นพ.ฮามิต นั้นเชื่อว่า การศึกษาจะช่วยชาวอินเดียที่เชื่อเรื่องโชคลางได้ แต่เรื่องนี้พูดง่ายกว่าทำ เพราะชนบทของอินเดียยังคงเป็นสวรรค์สำหรับมนต์ดำและปาฏิหาริย์ อย่างไรก็ตาม นพ.ฮามิต ชี้ว่า ความเชื่อเหล่านั้นกระจายไปในทุกชนชั้นในสังคมอินเดีย เพราะแม้แต่ผู้คนที่เรียนจบสูงๆ และอยู่ในสังคมเมือง ก็ยังพึ่งพาคำแนะนำจากหมอดู หมอผี และผุ้ขายสินค้าหลอกลวงต่างๆ ซึ่งรวมถึงการอวดอ้างว่ารักษาโรคมะเร็งได้
“กรณีทั่วไปคือพ่อแม่กังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมแปลกๆ ของลูก หมอปลอมบอกพวกเขาว่าเด็กถูกวิญญาณชั่วร้ายเข้าสิงและบอกให้พวกเขาทำสิ่งที่ไร้สาระหรือเป็นอันตราย ความหวังของผมคือพ่อแม่จะพาเด็กมาหาผมเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้ยินเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่งในเมืองนาคปุระ ที่ทุบตีลูกชายที่ป่วยหนักตามคำแนะนำของผู้รักษาด้วยความเชื่อจนเสียชีวิต คุณมีผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง มีโทรศัพท์มือถือ ใช้งานโซเชียลมีเดีย และสามารถเข้าถึงแพทย์ได้ แต่พวกเขากลับทำสิ่งเหล่านี้” นพ.ฮามิด กล่าว
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ที่เมืองปูเน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้อ้างว่า “น้ำมะเขือเทศสูตรพิศษ (special tomato juice)” ที่ตนผลิตขึ้น สามารถรักษาได้สารพัดโรคตั้งแต่เบาหวาน ปวดตามข้อ ไปจนถึงมะเร็ง โดยมีคนจำนวนมากไปต่อคิวรอดื่มน้ำดังกล่าว ในสังคมอินเดีย การวินิจฉัยจากนักต้มตุ๋นรวมถึงการกล่าวหาผู้หญิงว่าเป็นแม่มด ในขณะที่ในกรณีที่รุนแรง มีการแนะนำให้เด็กบางคนถูกบูชายัญ รวมถึงผู้คนอาจขอคำแนะนำจากผู้ศักดิ์สิทธิ์สำหรับเหตุการณ์ที่ค่อนข้างธรรมดา เช่น การได้งาน การฟื้นฟูธุรกิจที่ล้มเหลว หรือกำหนดวันแต่งงาน
จากความมุ่งมั่นของ นพ.ฮามิด ทำให้เกิดกลุ่มอาสาสมัครมาช่วยเขาทำงาน เรียกว่า “อันธราศรัทธา นิรมูลัน สมิติ (Andhashraddha Nirmoolan Samiti)” ซึ่งแปลว่า “กำจัดความเชื่อที่มืดบอด (Eradication of Blind Faith)” ภารกิจคือการลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ เพื่อหักล้างความเชื่อโชคลางและแจ้งให้ชาวบ้านทราบถึงบริการของคลินิก โดยเป็นการทำงานอย่างเข้าใจบริบททางวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงไม่มีการพูดจาเยาะเย้ยผู้ป่วย แต่เป็นการทำให้ผู้ป่วยสบายใจ
นพ.ฮามิด อธิบายต่อไปว่า เหตุการณ์ที่ผู้คนเชื่อว่าตนเองหรือคนอื่นๆ ถูก “ผีเข้า-เทพสิง (possession)” หลายครั้งพบว่าคนคนนั้นมีอาการทางจิต แต่เพราะความกลัวการถูก “ตีตรา (Stigma)” จากสังคมหากยอมรับว่าป่วยทางจิต ทำให้ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากแพทย์ เช่น ตามวัฒนธรรมแล้ว การพูดว่าผู้หญิงถูกเทพธิดาครอบงำชั่วคราวนั้นง่ายกว่าการบอกว่าเธอคนนั้นป่วยด้วยโรคจิตเภท
รายงานของสื่อฮ่องกง ทิ้งท้ายด้วยความตายที่ไม่สูญเปล่าของ นเรนทรา พ่อของ นพ.ฮามิต เพราะหลังจากนั้น รัฐมหาราษฏระ ได้ออกกฎหมายระบุความผิดฐานแสวงหาประโยชน์ด้วยความเชื่อทางโชคลางไสยศาสตร์ อย่างไรก็ตาม นพ.ฮามิต ระบุว่า กฎหมายสร้างความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก และเมื่อตนเห็นอันตรายที่เกิดขึ้นก็เสียใจ ความรู้เพียงเล็กน้อยก็สามารถรักษาผู้คนได้ คำตำหนิของตนที่มีต่อหมอปลอมเหล่านี้คือ อย่างน้อยที่สุด ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรก็ตาม ก็ควรละเว้นจากการก่ออันตราย
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี