7 พ.ค. 2568 นสพ.The Korea Herald ของเกาหลีใต้ เสนอรายงานพิเศษ [Hello Thailand] Thailand turns to Korea for key projects, eyeing mutual growth ว่าด้วยประเทศไทยได้ชักชวนให้เกาหลีใต้ร่วมลงทุนในโครงการ “แลนด์บริดจ์ (Land Bridge)” ซึ่งเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่าง 2 ฟากฝั่งทะเล คืออ่าวไทยฝั่ง จ.ชุมพร และทะเลอันดามันฝั่ง จ.ระนอง โดยจะมีท่าเรือน้ำลึกใน 2 จังหวัดข้างต้น และเชื่อมต่อกันด้วยเส้นทางรถไฟและถนน
โครงการดังกล่าวซึ่งมีเม็ดเงินลงทุน 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1 ล้านล้านบาท คาดหวังว่าจะช่วยลดเวลาการขนส่งได้ 4 วัน เมื่อเทียบกับการไปใช้เส้นทางช่องแคบมะละกา ทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลดลงได้ร้อยละ 15 ทั้งนี้ สื่อแดนโสมขาว อ้างคำกล่าวของ ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ (Suksit Srichomkwan) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของไทย ที่ให้สัมภาษณ์กับทาง Korea Herald ในช่วงที่มาร่วมงาน Ignite Thailand-Korea Business Forum เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2568 ที่ระบุว่า เรือมากกว่า 85,000 ลำผ่านช่องแคบมะละกาทุกปี และจำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ทุกปี ทำให้มีความเสี่ยงต่อความแออัด อุบัติเหตุ และความล่าช้า
ด้วยการคาดการณ์ว่าช่องแคบจะเต็มความจุภายในปี 2573 ศึกษิษฏ์ กล่าวว่า แลนด์บริดจ์ไม่ใช่แค่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ย้ำว่าโครงการนี้ไม่ได้มุ่งหวังที่จะแข่งขันกับสิงคโปร์และมะละกา โดยเปลี่ยนเส้นทางการจราจรติดขัดและรองรับระบบขนส่งและเรือขนาดเล็ก ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาการจราจรทางทะเลแล้ว ยังอาจเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของไทยได้ด้วย โดยอาจดึงดูดการลงทุนได้มากถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.4 ล้านล้านบาท และกระตุ้น GDP ของไทยได้ร้อยละ 1 – 2 1 ขึ้นอยู่กับประเภทของความร่วมมือที่เกิดขึ้น
สำหรับประเทศไทย โครงการแลนด์บริดจ์สามารถกระตุ้นการพัฒนาในจังหวัดภาคใต้ได้ด้วยการขยายเส้นทางการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารทะเล ขณะเดียวกันก็เพิ่มการไหลเวียนของการค้าผ่านเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ครอบคลุม 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง)
ความร่วมมือข้ามพรมแดนถือเป็นหัวใจสำคัญของความพยายามของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน โดยมีการเจรจาเชิงบวกกับทั้งจีนและมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างหนึ่งคือการที่โครงการต้องพึ่งพาสินค้าจากจีนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเบื้องต้น ในเรื่องนี้ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของไทย คาดหวังว่า จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และไทย ซึ่งแต่เดิมก็มีความแข็งแกร่งอยู่แล้วในภาคการท่องเที่ยว ให้กลายเป็นความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการลงทุนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ศึกษิษฏ์ กล่าวถึงรูปแบบธุรกิจของเกาหลีใต้ที่มีศักยภาพในการขยายขนาดในประเทศไทยว่า ไทยนั้นให้ความสำคัญกับนักลงทุนที่นำห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดมาสู่ประเทศ ไม่ใช่แค่การประกอบขั้นสุดท้ายเท่านั้น โดยเน้นย้ำถึงจุดแข็งของเกาหลีใต้ในด้านการต่อเรือ โลจิสติกส์ การดำเนินงานท่าเรือ และงานวิศวกรรมโยธา ซึ่งทำให้บริษัทต่างๆ ของเกาหลีใต้เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะคว้าโอกาสนี้
“เมื่อเทียบกับปัญหาในอดีตกับผู้รับเหมาชาวจีนแล้ว ประเทศไทยมีความไว้วางใจในบริษัทของเกาหลีใต้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อถือได้มากกว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเปิดกว้างมากต่อสถาบันการเงินของเกาหลีใต้ที่สนับสนุนโครงการที่นำโดยเกาหลีใต้” ศึกษิษฏ์ กล่าว
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของไทย ขยายความเพิ่มเติมว่า สถาบันการเงินและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเกาหลีใต้ สามารถได้รับประโยชน์จากโอกาสการลงทุนในระดับขั้นพื้นฐาน (Ground-floor Investment) เนื่องจากพื้นที่โครงการส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ดังตัวอย่างหนึ่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการแล้ว คือ SK Bioscience บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของเกาหลีใต้ สนใจที่จะผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งชีวการแพทย์และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญสำหรับความร่วมมือทวิภาคี
ทั้งนี้ โอกาสในอนาคตคาดว่าจะเติบโตขึ้น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีกฎระเบียบที่รัดกุมขึ้นและมีแรงจูงใจเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมหลัก ซึ่ง ศึกษิษฏ์ ระบุว่า จะมีแรงจูงใจทางภาษีสูงสุด 8 ปี เงินอุดหนุน และตัวเลือกการลงทุนร่วม อีกทั้งจะปรับแต่งผลประโยชน์เหล่านี้ตามความเหมาะสมเชิงกลยุทธ์และความต้องการของนักลงทุนแต่ละราย
ศึกษิษฏ์ ยังกล่าวอีกว่า โครงการนี้คาดว่าจะแยกตัวออกจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในขณะที่ดำเนินไป โดยเน้นย้ำว่าเป็นความพยายามในระยะยาว มีการร่างกฎหมายเฉพาะสำหรับเขตนี้ โดยทำให้การสนับสนุนของรัฐบาลมีผลผูกพันทางกฎหมายไม่ว่าในอนาคตพรรคการเมืองใดจะเข้ามามีอำนาจก็ตาม อนึ่ง เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยกำลังวางแผนจัดฟอรัมเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจจัดขึ้นในเดือน ธ.ค. 2568 โดยหวังว่าจะเชิญนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้เข้าร่วมด้วย
“นอกจากนี้ ยังหวังว่าจะมีการเจรจาหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และรูปแบบความร่วมมือทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีใต้และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของไทย กล่าว
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.koreaherald.com/article/10481664
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี