ความตึงเครียดไทย-กัมพูชาปะทุขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2568 เมื่อกัมพูชาประกาศจะยื่นฟ้องประเทศไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่ออ้างสิทธิ์เหนือโบราณสถานสำคัญสามแห่ง ได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาควาย รวมถึงพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญอย่าง "สามเหลี่ยมมรกต" บริเวณช่องบก ซึ่งเป็นจุดบรรจบชายแดนของสามประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และลาวปราสาทตาเมือนธม
สามปราสาทชายแดน
กลุ่มปราสาทตาเมือน ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วยปราสาทสามหลัง คือ ปราสาทตาเมือนธม: ปราสาทหินทรายขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ปราสาทตาเมือนโต๊ด สันนิษฐานว่าเป็นอโรคยาศาล (โรงพยาบาล) ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และปราสาทตาเมือนบายกรีม ที่คาดว่าเป็นธรรมศาลาหรือจุดพักของนักเดินทาง ส่วน ปราสาทตาควาย ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 12 กิโลเมตร ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่กัมพูชาอ้างว่าอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรมีชัยของตน และเคยเป็นพื้นที่ที่มีความตึงเครียดทางทหารในอดีต
ช่องบก : รอยต่อสามประเทศ
ช่องบก เป็นส่วนหนึ่งของ "สามเหลี่ยมมรกต" (Emerald Triangle) ซึ่งเป็นรอยต่อชายแดนไทย-ลาว-กัมพูชา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร เชื่อมโยงระหว่างอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานีของไทย เมืองมูลประโมกข์ แขวงจำปาศักดิ์ของลาว และเมืองจอมกระสานต์ จังหวัดพระวิหารของกัมพูชา พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจน
ย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ. 2528-2530 ช่องบกเคยเป็นสมรภูมิสำคัญที่ทหารไทยต้องต่อสู้กับกองทัพเวียดนาม ซึ่งเข้ายึดครองกัมพูชาหลังโค่นล้มเขมรแดง ส่งผลให้ทหารไทยต้องพลีชีพถึง 109 นาย
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 เกิดเหตุปะทะระหว่างทหารไทยและกัมพูชาในพื้นที่ช่องบก สาเหตุมาจากการที่ทหารกัมพูชาขุดคูดินยาว 650 เมตร ซึ่งไทยมองว่าเป็นการละเมิดข้อตกลง MOU ปี 2543 โดยมีทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย
รากฐานความขัดแย้ง : แผนที่และอธิปไตยที่ทับซ้อน
การอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่สามปราสาทและช่องบกของทั้งสองประเทศมีรากฐานมาจากความไม่ชัดเจนของแนวเขตแดนตามสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส (พ.ศ. 2447 และ 2450) และแผนที่ในยุคอาณานิคมที่ฝ่ายไทยไม่ยอมรับ กัมพูชาอ้างว่าปราสาททั้งสามอยู่ในเขตแดนของตน และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแห่งชาติแล้ว ขณะที่ไทยยืนยันว่าโบราณสถานทั้งหมดอยู่ในอธิปไตยของไทย โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537
บทเรียนจากอดีต : กรณีปราสาทพระวิหารและการปะทะที่ผ่านมา
ในปี พ.ศ. 2505 ศาลโลกเคยมีคำตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา แม้คำตัดสินนั้นจะไม่ได้ครอบคลุมถึงสามปราสาทที่เป็นปัญหา แต่ก็กลายเป็นบรรทัดฐานให้กัมพูชาใช้อ้างสิทธิ์ในพื้นที่อื่นๆ ตามแนวชายแดน ความตึงเครียดยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2554 เกิดการปะทะทางทหารอย่างรุนแรงบริเวณปราสาทตาควายและตาเมือนธม และในปี 2567 ยังมีเหตุการณ์ที่ชาวกัมพูชาร้องเพลงชาติบนปราสาทตาเมือนธม ซึ่งฝ่ายไทยมองว่าเป็นการยั่วยุ
สถานการณ์ปี 2568 ความตึงเครียดที่ยังไม่คลี่คลาย กองกำลังของทั้งสองฝ่ายมีการเสริมอาวุธ และลาดตระเวนอย่างเข้มข้นตลอดแนวชายแดน การเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ท่ามกลางกระแสชาตินิยมที่เริ่มปรากฏให้เห็นในพื้นที่ ผู้คนถูกปลุกระดมผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งจากการแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของปราสาท การเผยแพร่คลิปยั่วยุทหารไทย และการเปลี่ยนแปลงพิกัดใน แผนที่กูเกิล ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็น "สงครามไซเบอร์" รูปแบบใหม่
นอกจากการฟ้องร้องในเวทีระหว่างประเทศแล้ว กัมพูชายังใช้มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ เช่น การหยุดซื้อน้ำมันจากไทย รณรงค์ไม่ซื้อสินค้าจากไทย รวมถึงห้ามส่งสินค้าผักผลไม้จากไทยไปยังเวียดนาม ขณะที่ไทยก็มีมาตรการปิดพรมแดน ห้ามคนไทยเดินทางข้ามแดนไปเล่นการพนัน ส่งผลให้เศรษฐกิจบริเวณชายแดนได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
สถานการณ์นี้มีความเสี่ยงสูงที่จะลุกลามออกเป็น 4 รูปแบบ:
1. สันติภาพผ่านการเจรจา: ผ่านกลไกอาเซียนหรือทวิภาคี ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมถอย
2. ความตึงเครียดต่อเนื่อง: โดยฝ่ายกัมพูชาเดินหน้าสร้างภาพ เช่นส่งนักท่องเที่ยวมาร้องเพลงชาติในพื้นที่พิพาท ซึ่งอาจใช้เป็นหลักฐานในศาลโลกทำนองเดียวกับภาพกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเยือนเขาพระวิหารแล้วมีทหารฝรั่งเศสมาต้อนรับ ซึ่งศาลพิจารณาว่า หากเขาพระวิหารเป็นของไทย ทหารฝรั่งเศสจะมาต้อนรับไม่ได้
3. การปะทะทางทหารเฉพาะจุด: ที่อาจลุกลามบานปลายหากเกิดความเข้าใจผิดหรือการยั่วยุเกินขอบเขต
4. สงครามชายแดนเต็มรูปแบบ: หากการเจรจาล้มเหลวและรัฐบาลไทยถูกกดดันจากภาคประชาชน
หากสถานการณ์ถึงจุดวิกฤต มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงตามมา ได้แก่:
• การเสียชีวิตของกำลังพลทั้งสองฝ่าย
• จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างมากในทั้งสองประเทศเนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์สงคราม
• การอพยพของประชาชนทั้งสองประเทศในพื้นที่ความขัดแย้ง
• ความเสียหายต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของทั้งสองชาติ
• วิกฤตด้านมนุษยธรรมจากจำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้น
ในกรณีที่ประชาชนสองชาติปะทะกันบริเวณพื้นที่พิพาท ไม่ว่าจะเป็นการยั่วยุ หรือการใช้ความรุนแรง อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การปลุกกระแสชาตินิยมและทำให้ต้องใช้มาตรการที่แข็งกร้าวขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยตรง
คนไทยควรเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร?
ในสถานการณ์ที่อ่อนไหวเช่นนี้ คนไทยควรเตรียมความพร้อม :
• ติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และระมัดระวังการส่งต่อข้อมูลที่ไม่ผ่านการตรวจสอบอย่างดี
• รายงานเหตุผิดปกติ ให้กับหน่วยงานความมั่นคงทันที
• สงบนิ่งและไม่ตอบโต้ทางอารมณ์ เพื่อลดความตึงเครียด
• ส่งกำลังใจและสิ่งของจำเป็น ให้เจ้าหน้าที่ชายแดน ที่ทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของไทย
• ใช้หลัก “กาลามสูตร” ของพระพุทธเจ้า “อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อสิ่งใด ต้องพิจารณาด้วยตนเองอย่างรอบคอบก่อน”
"ไทยรวมกำลังตั้งมั่น จะสามารถป้องกันขันแข็ง ถึงแม้ว่าศัตรูผู้มีแรง มายุทธแย้งก็จะปลาศไป"
โดย สุริยพงศ์
ขอบคุณภาพจากเพจเฟสบุ๊ก ข่าวทหาร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี