ปัจจุบันมีการระบาดของไวรัสโคโรนาไปยังผู้คนทั่วโลกแล้วกว่า 134,829 ราย ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 4,984 คน ในส่วนของประเทศไทยนั้นมีผู้ติดเชื้อไปแล้วประมาณ 75 รายและผู้เสียชีวิต 1 คน นับเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับที่ 40 (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2563) โดยทางกระทรวงสาธารณสุข (ประเทศไทย) ได้ประกาศการระบาดของเชื้อไวรัสว่า ยังคงอยู่ในระยะที่ 2 หรือระยะการระบาดแค่วงจำกัดในประเทศ ที่สามารถสืบหาแหล่งต้นตอได้ (ระบุที่มาของการรับเชื้อ) และมีการแจ้งเตือนอยู่ในระดับที่ 3 คือให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง
ทั้งนี้สำหรับการแพร่ระบาดของโรคจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1) พบการติดเชื้อจากประเทศต้นทาง แต่ไม่พบการติดต่อในประเทศ 2) พบคนไทยติดเชื้อมาจากต่างประเทศ (แหล่งเพาะเชื้อ)และติดต่อไปสู่คนใกล้ตัว และ 3) พบการติดเชื้อในประเทศสู่คนหมู่มากอย่างรวดเร็วโดยที่ผู้ติดเชื้อไม่มีประวัติเดินทางไปในประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งคล้ายกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ (H1N1) โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านการระบาดวิทยาได้คาดการณ์กันว่า ประเทศไทยอาจมีโอกาสที่จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ในอีกไม่ช้า ซึ่งก็ทำให้ต้องมาคิดกันต่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น ในระดับไหน อย่างไร และจะสื่อสารออกมาให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อคลายความกังวลเมื่อไหร่ ท่ามกลางความโกลาหลของข่าวสารที่เชื่อมโยงสถานการณ์ไวรัสโคโรนากับการเมืองไทยในปัจจุบัน
โดยก่อนหน้านี้ (9 กุมภาพันธ์ 2563) “เปิดโลก” ได้นำเสนอบทความ เรื่อง “นวัตกรรมการรับมือไวรัสอู่ฮั่น”เอาไว้ (สามารถอ่านได้ที่ https://www.naewna.com/lady/columnist/42968)ซึ่งมีประเด็นว่าด้วยการนำนวัตกรรมต่างๆ ที่แต่ละประเทศนำออกมาใช้ในการรับมือต่อการระบาดของไวรัส ดังนั้น โอกาสนี้จึงขอนำเสนอเพิ่มเติมถึงมาตรการการรับมือกับไวรัสโคโรนาของแต่ละประเทศ ว่ามีแนวทางในการรับมือรูปแบบไหน และอย่างไร ตามบริบทของระดับการแพร่ระบาดที่แตกต่างกันไป
เริ่มกันที่ “ประเทศจีน” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นประเทศแรกเริ่มของการระบาด ซึ่งทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงสุด ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ 80,814 ราย และผู้เสียชีวิต 3,177 คน สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้มีมาตรการในการรับมืออย่างเด็ดขาด ด้วย “การปิดประเทศ” (Lockdown) ห้ามพลเมืองเดินทางออกนอกประเทศ รวมไปถึงปิดการทำงานชั่วคราวของบริษัทและองค์กรต่างๆ เพื่อสกัดการระบาดของเชื้อไวรัสตัวนี้อย่างเข้มข้น ซึ่งล่าสุดทางการจีนก็ออกมาประกาศแล้วว่า สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงเป็นเลขหลักเดียวได้แล้ว พร้อมๆ กับโรงพยาบาลสนามหลายแห่งก็ได้ปิดตัวลง เมื่อสามารถรักษาผู้ติดเชื้อให้หายกลับมาเป็นปกติได้ ถึงขนาดหลายประเทศยกย่องว่า จีนกลายเป็นผู้ชนะในสงครามกับไวรัสครั้งนี้ไปแล้ว
ต่อมาที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้ช่วงแรกๆ ของการระบาดในจีนก็คือ “ประเทศอิตาลี” ซึ่งกลายเป็นประเทศในโซนยุโรปประเทศแรกที่พบการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 15,113 ราย และผู้เสียชีวิต 1,016 คน ซึ่งนับเป็นอันดับสองรองจากประเทศจีน ล่าสุดนายกรัฐมนตรี “จูเซปเป้ คอนเต้” (Giuseppe Conte) ก็ได้นำมาตรการคล้ายกันกับจีนมาใช้ด้วยการประกาศปิดประเทศ ปิดโรงเรียน และมหาวิทยาลัยอย่างน้อยไปจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2563 และห้ามการเดินทาง โดยการที่ประชาชนจะเดินทางออกจากบ้านนั้น ต้องเป็นในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น อาทิ การไปทำงาน ก็จะต้องเป็นการทำงานที่สามารถยืนยันได้ว่าไปทำงานจริง ที่สำคัญ งดการเข้าเยี่ยมในเรือนจำ และยกเลิกกิจกรรมกีฬาทั้งหมด รวมไปถึงการปิดกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่มตั้งแต่ 6 โมงเย็นเป็นต้นไป
ส่วน “ประเทศไอร์แลนด์” แม้จะยังไม่สาหัสเท่าไหร่ ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ 70 ราย และผู้เสียชีวิต 1 คน แต่นายกรัฐมนตรีประเทศไอร์แลนด์ “ลีโอ วาลัดกา” (Leo Varadkar) ก็ประกาศสั่งปิดโรงเรียนมหาวิทยาลัย และสถานที่ดูแลเด็กทันทีเริ่มตั้งแต่วันที่ 13-29 มีนาคม 2563 และให้ยกเลิกการประชุมหรือการรวมกลุ่มในที่ร่มที่มีจำนวนคนมากกว่า 100 คน รวมไปถึงการรวมคนในที่โล่งแจ้งเกินกว่า 500 คน ที่สำคัญจัดให้มีการคัดกรองที่สนามบินอย่างเข้มข้น โดยผู้ที่มีอาการจะต้องถูกกักตัวทันที
แต่ที่น่าตกใจก็คือ มหาอำนาจอย่าง“สหรัฐอเมริกา” ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อถึง 1,762 ราย และมีผู้เสียชีวิต 41 คน ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสโคโรนาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ธุรกิจห้างร้านต่างๆ รวมไปถึงแวดวงกีฬายอดนิยมอย่างบาสเกตบอลที่ต้องหยุดทำการแข่งขัน ซึ่งกลายเป็น Talk of The World ทันที เมื่อประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศห้ามการเดินทางเข้าจากยุโรป กลุ่มประเทศเชงเกน ยกเว้นเพียงสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ เท่านั้น ยกเว้นการเดินทางกลับของผู้ที่ถือสัญชาติอเมริกัน โดยที่ไม่มีการปรึกษาหรือแจ้งเตือนต่อกลุ่มประเทศยุโรปที่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ทำเอาสหภาพยุโรป (EU) ต้องออกมาแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจต่อมาตรการของสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้น
มาที่ฝั่งอาเซียน (ASEAN) กันบ้างสำหรับ “ประเทศฟิลิปปินส์” ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 52 ราย และผู้เสียชีวิต 2 คนล่าสุดประธานาธิบดี “โรดริโก ดูเตอร์เต”ได้ออกประกาศยกเลิกการเดินทางเข้า-ออกเมืองหลวงของประเทศทุกเส้นทางไม่ว่าจะเป็น ทางบก ทางทะเล และทางอากาศ โดยก่อนหน้านี้ก็ได้มีการห้ามทำกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนเป็นจำนวนมาก การประกาศกักกันโรคในชุมชนที่พบการระบาด และได้สั่งปิดโรงเรียนเป็นเวลา 1 เดือนไปแล้ว
วกกลับมาที่ “ประเทศไทย” ของเรา ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นอันดับที่ 40 ของโลก แต่ก็ได้รับการยกย่องจาก Global Health Security Agenda(GHSA) หรือดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพให้อยู่ในอันดับ 6 ของโลก ซึ่งรองจากอเมริกา สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และแคนาดา ตามลำดับ ซึ่งมาตรการสกัดการระบาดของเราในวันนี้ก็คือ การจัดให้มีการคัดกรองที่สนามบินโดยผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศต้องกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน และมีการวัดอุณหภูมิอย่างต่อเนื่อง และหากพบอาการจะถูกส่งไปตรวจหาเชื้อไวรัสทันที ส่วนผู้ที่กลับมาจากประเทศเสี่ยง จะถูกกักกันโรคในพื้นที่ที่กำหนดไว้ และคนที่มีอาการจะถูกส่งไปตรวจหาเชื้อไวรัส
แม้มาตรการการคัดกรองของไทยอาจจะไม่ได้เข้มงวดแบบประเทศอื่นๆ แต่ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีความพร้อมด้านสถานพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ชั้นเยี่ยมที่สามารถรับมือกับไวรัสได้เป็นอย่างดีโดยอัตราของผู้ติดเชื้อที่หายแล้วของไทยอยู่ที่ร้อยละ 50 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่สูงและด้วยวัฒนธรรมไทยที่มีการไหว้เป็นสัญลักษณ์ของการทักทาย ทำให้ไม่มีพฤติกรรมการจับมือหรือการสัมผัสร่างกายใดๆ ตรงนี้ก็สามารถลดการติดเชื้อของโรคระบาดได้ในระดับหนึ่งด้วยเช่นกันและในตอนนี้ผู้นำของหลายๆ ประเทศก็หันมาใช้วิธีการไหว้เป็นการทักทายแทนแล้ว
สุดท้ายนี้ก็ขอฝากแนวข้อควรปฏิบัติของ “องค์การอนามัยโลก” ในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโคโรนา2019 เอาไว้ว่า 1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยที่ติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง 2) ล้างมือบ่อยๆโดยเฉพาะหลังจากสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยหรือสิ่งที่อยู่รอบตัวผู้ป่วย 3) หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ในฟาร์ม หรือสัตว์ป่าโดยไม่มีการป้องกัน 4) ผู้ที่มีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงควรมีมารยาทในการไอ (รักษาระยะห่างเมื่อไอเมื่อไอหรือจามให้ปิดปากและจมูกด้วยทิสชูหรือผ้าแบบใช้แล้วทิ้งและล้างมือ)และ 5) สำหรับสถานพยาบาล ให้ยกระดับมาตรฐานของข้อปฏิบัติในการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในแผนกฉุกเฉิน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี