มีโอกาสได้ทราบข่าวของนักแสดง และนางแบบสาวชาวญี่ปุ่น “กิโกะ มิซูฮาร่า” (Kiko Mizuhara) จึงตามไปดูการแถลงของเธอทั้งน้ำตา ผ่าน Instagram ส่วนตัว ซึ่งเป็นการเปิดเผยประเด็นของการถูกคุกคามทางเพศในกองถ่ายทำภาพยนตร์ Ride or Die โดยพุ่งเป้าไปที่โปรดิวเซอร์ชายของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว รวมไปถึงประเด็นของนักแสดงชายอีกท่าน ที่ต้องเข้าฉากแสดงเกี่ยวกับการร่วมรักกัน แต่ก็ปฏิเสธที่จะติดเทปตรงบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อป้องกันพื้นที่จุดสงวน
เมื่อหลายปีที่ผ่านมา นางแบบคนเดียวกันนี้ ก็เคยออกมาเล่าถึงประสบการณ์ในทำนองเดียวกันนี้เช่นกัน ในตอนนั้นเธอว่าถึงเรื่องของการถ่ายแบบที่ต้องเปลือยอก และเอามือปิด ดังนั้น จึงต้องเปลื้องเครื่องแต่งกายท่อนบนออกหมด แต่ในสถานการณ์ดังกล่าว ช่างภาพ และทีมงานทั้งหมดกว่า 20 คน ก็ยืนมองกันอยู่เต็มห้องที่ใช้ในการถ่ายภาพ โดยที่ไม่มีการกันใครที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป โดยเฉพาะทีมงานผู้ชายที่ควรต้องให้เกียรติต่อเรื่องเช่นนี้และหลังจากการเปิดเผยนั้น ก็มีนางแบบอีกหลายคนออกมายอมรับว่า ตัวเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับที่กิโกะเจอ และมีความรู้สึกในด้านลบต่อการกระทำดังกล่าวไม่ต่างกัน
ถ้าย้อนกลับไปตามสถานการณ์ในอดีตของกิโกะ และนางแบบสาวคนอื่นๆ ในกรณีที่ได้นำเสนอไป น่าสังเกตว่า สังคมของญี่ปุ่น รวมไปถึงสื่อสารมวลชนที่นั่น ดูจะไม่ให้ความสนใจต่อประเด็นที่เหล่านางแบบออกมาตีความว่าพวกเธอถูกลวนลามทางเพศมากนักต่างจากปัจจุบัน ที่การออกมาแถลงของกิโกะผ่านสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัว ในกรณีการถูกคุกคามทางเพศ ที่กองถ่ายทำภาพยนตร์ Ride or Die ได้รับความสนใจจากสังคมญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในประเทศญี่ปุ่น ที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนการหยุดคุกคามทางเพศกันอย่างล้นหลามบน Instagram ของนางแบบสาว อีกทั้งนิตยสารหลายเล่มก็ขอสัมภาษณ์เธอ และทำสกู๊ปออกมาตีแผ่พฤติกรรมคุกคามทางเพศของวงการบันเทิงญี่ปุ่น รวมไปถึงหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นเอง ก็เล่นข่าวการคุกคามศิลปินดาราผู้หญิงของผู้กำกับภาพยนตร์ท่านหนึ่ง ซึ่งทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี จนบุคคลที่มีส่วนร่วมต่อการกระทำดังกล่าวต้องออกมาขอโทษ และยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยความสมัครใจ
โดยส่วนตัวเชื่อว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมาจากการรณรงค์ของ #MeToo ที่เกิดขึ้นจากกระแสของการไม่ยอมถูกกระทำทางเพศโดยไม่เต็มใจอีกต่อไปของผู้หญิงที่มีประสบการณ์อันเลวร้ายต่อเรื่องนี้ และพลังของบุคคลที่สนับสนุนเกี่ยวกับสิทธิ และเสรีภาพ สำหรับประเด็นนี้ ในหลายประเทศทั่วโลก จนทำให้บุคคลที่มีชื่อเสียงหลายท่าน โดยเฉพาะผู้หญิงในแวดวงต่างๆ ทั้งศิลปินดารา สื่อสารมวลชน นักการเมือง รวมไปถึงพนักงานเงินเดือนทั่วไป พร้อมใจกันออกมาเปิดเผยการถูกคุกคามทางเพศของพวกเธอจากบุคคลที่มีอำนาจเหนือกว่า ทั้งทางกาย ทางฐานะและชนชั้นทางสังคม เพื่อสลายพฤติกรรมดังกล่าวนี้ให้หมดไป และทำให้ทัศนคติในการมองผู้หญิงของสังคมทั่วไปได้รับการยกระดับขึ้น ในเชิงของการสร้างความสัมพันธ์อันเหมาะสม และการให้เกียรติต้องเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
อันที่จริง ที่มาที่ไปของกระแส #MeToo นั้น หลายคนรับทราบมาว่า เกิดขึ้นหลังจากที่ “ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน” โปรดิวเซอร์ระดับตำนานของวงการภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา ถูกสำนักข่าว The New York Times ปล่อยบทความกล่าวหาว่า มีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ ต่อผู้หญิงหลายคนในวงการบันเทิงสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และเก็บการกระทำดังกล่าวให้เงียบได้ ด้วยอำนาจหน้าที่ที่เหนือกว่า และเงินสำหรับการปิดปากเหยื่อสาวเหล่านั้น
หลังบทความชิ้นนั้นได้รับการตีแผ่ออกมาในปี 2017 โดยอ้างอิงนักแสดงสาวที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันร่วมเป็นพยานบอกเล่าด้วยแล้ว ก็ได้มีนักแสดงสาวอีกหลายต่อหลายคนออกมาเปิดเผยว่า ตัวเองก็ถูกกระทำจากไวน์สตีนเช่นกัน จากนั้น#MeToo ก็ได้ปรากฏขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้กำลังใจแก่เหยื่อที่ถูกกระทำการล่วงละเมิดเหล่านั้น รวมไปถึงการบอกเล่าประสบการณ์เลวร้ายจากการถูกล่วงละเมิดอันจำยอมด้วยอำนาจของผู้หญิง และบุคคลมากมายทั่วโลก
ว่ากันว่า อิทธิพลสำคัญที่ทำให้สำนักข่าว The New York Times กล้าที่จะนำเสนอประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศของไวน์สตีน ต่อนักแสดงสาว และผู้หญิงที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์นั้น มาจากการที่ “เกร็ทเชน คาร์สัน” ผู้ดำเนินรายการของสำนักข่าวโทรทัศน์ Fox News ได้ยื่นฟ้อง“โรเจอร์ เอลส์” ผู้บริหารช่อง Fox News และอดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ ในปี 2016 ทำให้พนักงานสาวอีกหลายคนใน Fox News ได้ออกมาร่วมบอกเล่าถึงพฤติกรรมอันน่าละอายของผู้ทรงอิทธิพลด้านสื่อสารมวลชนคนนี้ ในแบบไม่ไว้หน้า รวมไปถึงการบุกไปทำประเด็น “ห้องลับ” ของเอลส์ จาก The Hollywood Reporter ก็ได้ทำให้ทีมกรรมการบริหารต้องตั้งคณะสอบสวนพฤติกรรมของผู้บริหารคนนี้ และกดดันให้เอลส์ต้องลาออกจากตำแหน่งในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา และทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง Bombshell ในปี 2019 พร้อมเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเผยเรื่องราวการล่วงละเมิดทางเพศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์สหรัฐฯ ตามที่ได้นำเสนอไปแล้ว
แม้ว่า โรเจอร์ เอลส์ จะยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่การกระทำดังกล่าวก็ทำให้ชื่อเสียงของเขาดับลง และจบอาชีพสื่อสารมวลชนของตัวเองไปตลอดกาล รวมไปถึงเป็นการจุดชนวนให้กระแส #MeToo เกิดขึ้น ส่งผลให้ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน รับโทษจำคุก 23 ปี จากความผิดในการก่ออาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้น
ที่สำคัญ กระแส #MeToo ยังส่งอิทธิพลจากตะวันตก มายังฝั่งตะวันออกของโลก โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ ที่มีสถิติการฟ้องร้องเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่สูงมาก แต่การดำเนินการต่อคดีนั้น เป็นไปในทางตรงกันข้าม แต่หลังจากมีการออกมาเปิดเผยจากผู้หญิงในแวดวงต่างๆ ทั้ง อัยการ การเมือง การศึกษา และอุตสาหกรรมบันเทิง ว่ามีสถานการณ์เกี่ยวกับการใช้อำนาจของความเป็นชาย อำนาจในหน้าที่ อำนาจทางชนชั้นในการกระทำล่วงละเมิดต่อพวกเธอ แต่กฎหมายไม่สามารถลงโทษผู้กระทำ และปกป้องสิทธิของพวกเธอได้ พร้อมใช้ #MeToo ในการสร้างความสนับสนุนบนสื่อสังคมออนไลน์ รวมไปถึงการตามประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องของสื่อสารมวลชนระดับแถวหน้า ทำให้ ประธานาธิบดี (ในช่วงเวลานั้น) “มุน อิน แจ” ได้ออกมาประกาศให้เจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในคดีความดังกล่าวนี้อย่างจริงจัง พร้อมให้ความร่วมมือกับคณะรัฐมนตรีในการสังคายนากฎหมายอันเกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มโทษในการใช้อำนาจทางเพศอันไม่ถูกต้อง ให้มีความเด็ดขาดมากยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น และจีน ก็เริ่มมีการพิจารณาคดีล่วงละเมิดทางเพศอย่างจริงจัง และอยู่ในความสนใจของสื่อสารมวลชน และสังคมทั่วไปอย่างต่อเนื่อง กระนั้น ก็ยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระแส #MeToo ว่า เป็นการสร้างความโกรธเกลียดให้เกิดขึ้นต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในกระบวนการยุติธรรม และอาจส่งผลกระทบให้ผู้กระทำ ได้ถูกสังคมตัดสินไปแล้ว ไม่ว่าผลทางคดีความในตอนท้ายจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี