“เข้าหน้าฝน” เมฆครึ้ม มีน้ำท่วมขัง ทำให้นึกถึงข่าวความสูญเสียชีวิตจาก “ไฟดูด - ไฟรั่ว” ที่เคยเกิดขึ้นซ้ำๆ ในอดีต แม้จะภาวนาในใจขอหวังให้เหตุการณ์การความสูญเสียเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นซ้ำ เพราะแต่ละชีวิตคนมีค่ายิ่ง ไม่ควรจะต้องมาสูญสิ้นจากสาเหตุที่ไม่สมควรโดยที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นถ้าได้ถอดบทเรียนในอดีต เพราะท้ายสุดชีวิตสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนไทยต้องอยู่บนความรับผิดชอบของเราเอง การจะไปหวังความช่วยเหลือจากรัฐหรือจากผู้อื่นให้มาช่วยระแวดระวังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเอื้อมถึง เพราะเมื่อเกิดเหตุก็ไม่สามารถหาคนรับผิดชอบได้และก็ไม่มีใครจะมาใส่ใจในสวัสดิภาพของชีวิตเราเท่ากับตัวเราเอง
ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 5 พ.ค. 2568 เกิดน้ำท่วมขัง น้องมิ้นอายุ 23 ปีขี่จักรยานยนต์เกิดเครื่องดับ จึงเข็นรถลุยน้ำผ่านใกล้บริเวณเสาไฟส่องสว่างที่เกิดมีไฟรั่วอยู่ ถูกไฟดูดล้มหน้าคว่ำจมน้ำหลายนาทีและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ย้อนไปข่าวดัง 16 ก.ย. 2565 ที่จังหวัดอุดรธานี เด็กนักเรียนถูกไฟดูดหมดสติจากไฟรั่วน้ำท่วมโคนเสาไฟส่องสว่างหลังโรงเรียน ถ้าไม่มีฮีโร่น้องบาสเสี่ยงชีวิตเข้าช่วยลากน้องม. 1 ที่ถูกไฟดูดออกมาก็อาจเกิดเหตุสลดทำนองเดียวกัน
“เสาไฟส่องสว่างโลหะหรืออุปกรณ์โครงโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้า ราวสะพาน รั้ว ป้ายโฆษณา ตู้เอทีเอ็ม ตู้กดน้ำเย็น ประตูไฟฟ้า ล้วนแต่มีข่าวความสูญเสียจากไฟรั่วเกิดขึ้นซ้ำๆ” ควรนึกเสมือนว่ามีอุปกรณ์ดังกล่าวมีไฟพร้อมรั่วอยู่เสมอ แม้ฝนไม่ตกน้ำไม่ท่วมก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ จึงไม่ควรระวังเอามือของเราไปแตะ ค้ำ หรือยัน เพราะอาจทำให้กระแสไฟรั่วที่รออยู่สามารถผ่านเข้าร่างกายเกิดอันตรายได้
“เสาไฟฟ้าส่องสว่างมีส่วนที่เป็นโลหะซึ่งสามารถนำไฟฟ้าได้ โดยจะมีช่อง service ข้างเสาคล้ายช่องหน้าต่างที่สามารถเปิดให้ช่างไฟฟ้าต่อเดินสายไฟเชื่อมให้โคมทำงานได้ แต่ก็เคยมีกรณีที่ช่างไฟอาจมักง่ายติดตั้งมัดสายไฟทองแดงบิดกันไว้เฉยๆ หรือใช้เทปพันเชื่อมต่อสายไฟไม่เรียบร้อย” เทปเสื่อมสภาพจากอุณหภูมิความร้อนภายนอกหลอมละลายทำให้สายไฟส่วนที่เป็นทองแดงไปแตะกับตัวโคมไฟที่เป็นโลหะเกิดไฟรั่วหล่อเลี้ยงตัวเสารอผู้โชคร้ายมาสัมผัส
หากช่อง service นี้ถ้าอยู่ต่ำเกินไปไม่พ้นความสูงที่น้ำสามารถท่วมถึงได้ก็จะเป็นจุดที่สามารถแพร่กระแสไฟฟ้ารั่วออกไปยังรัศมีข้างเคียงได้ หากเกิดน้ำท่วมไม่ควรอยู่ใกล้เสาไฟในบริเวณ 2 เมตร เพราะน้ำสามารถนำกระแสได้แต่เป็นตัวนำกระแสไม่ค่อยดี กระแสไฟรั่วจะค่อยๆ อ่อนลงเมื่อระยะทางห่างจากเสาออกไปคล้ายกับการช็อตปลา “เมื่อเดินลุยน้ำหากเริ่มรู้สึกชาเกิดตะคริวคล้ายไฟเริ่มดูดให้เดินถอยออกจากมาในทิศตรงข้าม อย่าเดินถลำลึกเข้าไป” ปกติหากนำขั้วโลหะที่มีกระแสไฟฟ้ารั่วจุ่มแช่น้ำจะมีฟองอากาศจากการ oxidation คล้ายฟองโซดาจับที่ขั้วโลหะอยู่ แต่เพราะน้ำที่ขุ่นอาจทำให้เราไม่สามารถมองเห็นฟองผุดที่อยู่ใต้น้ำได้
“บริเวณไซต์งานก่อสร้าง ทำถนน ทำรถไฟฟ้ากลางถนน จะมีการให้ไฟส่องสว่างชั่วคราวซึ่งมักจะใช้หลอด LED แบบกันน้ำได้มาใช้งาน” ความสามารถในการกันน้ำนั้นจะใช้รหัส IP ตามด้วยตัวเลขสองหลักเป็นตัวกำกับ ซึ่งสามารถดูรหัส IP ได้จากฉลากข้างกล่อง โดยตัวเลขแรกหมายถึงความสามารถในการกันของแข็ง (เลข 0 ถึง 6) ตัวเลขที่สองหมายถึงความสามารถในการกันของเหลว (เลข 0 ถึง 9) ยังตัวเลขยิ่งสูงจะมีความกันได้สูง
เช่น หลอดไฟกันน้ำที่ขายตามท้องตลาดมี IP56 จะสามารถใช้งานที่สภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นและกันน้ำฉีดแรงดันสูงได้ (แต่อาจมีฝุ่นเล็กน้อยเล็ดลอดเข้าไปได้และยังไม่สามารถนำไปจุ่มแช่น้ำได้) ส่วนหลอดที่มี IP67 จะสามารถกันฝุ่นได้อย่างสมบูรณ์และสามารถนำไปแช่น้ำที่ความลึก 1 เมตรได้ 30 นาที “การใช้งานจึงต้องใช้ให้ถูกต้อง เพราะเฉพาะตัวหลอดเท่านั้นที่สามารถกันน้ำได้ แต่ในการใช้งานติดตั้งเชื่อมต่อสายทองแดงนำกระแสไฟฟ้าจะต้องมีการกันน้ำได้เช่นกัน”
อุบัติภัยจากไฟฟ้าสถานที่ก่อสร้างมักเกิดจากความประมาท การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าหรือสายไฟที่เสื่อมสภาพ ขาดการบำรุงรักษา ผิดประเภทการใช้งาน ไม่ใช้ค่ารหัส IP ป้องกันที่สูงพอ การติดตั้งไม่ถูกต้อง ไม่มีการกั้นพื้นที่แจ้งป้ายเตือนในบริเวณทำงานจำกัดเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องและมีความรู้ทางไฟฟ้า การไม่มีระบบดินหรือเครื่องตัดไฟรั่วที่ติดตั้งอย่างถูกต้อง การทำงานขณะสภาพแวดล้อมที่เปียกชื้นหรือฝนตก โดยผู้ประกอบการควรฝึกอบรมพนักงานเรื่องความปลอดภัยจากไฟฟ้า ไม่เดินเท้าเปล่าขณะปฏิบัติงาน
ให้ผู้ปฏิบัติงานใช้เครื่องป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เช่น สวมรองเท้าบูทยางหุ้มส้นถุงมือ ต้องไม่ซ่อมหรือเดินสายอุปกรณ์ไฟฟ้าเองโดยปราศจากความรู้ ไม่ดื่มสุราของมึนเมาสิ่งเสพติด ไม่เล่นหรือหยอกล้อกันขณะทำงาน ไม่นำเด็กเล็กเข้าในบริเวณ และจัดให้มีการตรวจสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานอยู่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องได้แก่ กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558
หากมีผู้ประสบเหตุจากไฟรั่วไฟดูดถ้าหากสามารถทำได้ต้องตัดการจ่ายไฟฟ้าโดยทันที ให้นำฉนวนเช่นผ้า ไม้ เข็มขัดรั้งผู้ประสบเหตุออกจากบริเวณที่เกิดเหตุ และทำการปฐมพยาบาล CPR หากหัวใจหยุดเต้นและเรียกฉุกเฉิน 1669 เพื่อช่วยเหลือต่อไป
ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร
หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี