ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2561 “ที่นี่แนวหน้า” เคยนำเสนอเรื่อง “ช่องว่าง” ทางโอกาสในการสร้างรายได้ระหว่างประชากรรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาแล้วครั้งหนึ่ง (ที่นี่แนวหน้า : อย่าลืม‘รี-สกิล’ผู้ตกค้างจากโลกเก่า) สืบเนื่องจาก ณ เวลานั้น ประเทศไทยพยายามปรับตัวเข้าสู่ “ยุค 4.0” มีคำที่พูดกันเป็นกระแสมาก เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น จนปัจจุบันคำเหล่านี้ได้กลายเป็นสิ่งที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปจนคุ้นเลยแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า แม้รัฐบาลในขณะนั้นจะพยายามปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อตอบโจทย์งานหรืออาชีพในอนาคต แต่ทั้งหมดตั้งอยู่บนหลักคิดการสร้างคนรุ่นใหม่ ในขณะที่หากดูโครงสร้างกำลังแรงงาน อ้างอิงจาก “รายงานการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2560” จัดทำโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ระบุว่า 1.แรงงานไทยอยู่นอกระบบมากกว่าในระบบ แบ่งเป็นแรงงานในระบบราว 16.87 ล้านคน และแรงงานนอกระบบราว 20.77 ล้านคน
(หมายเหตุ :แรงงานนอกระบบหมายถึงผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับสิทธิความคุ้มครอง ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการ ต่างจากแรงงานในระบบที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะต้องได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย เช่น วันหยุด ประกันสังคม ฯลฯ)
2.ผู้อายุน้อยและการศึกษาสูงมีแนวโน้มเป็นแรงงานในระบบมากกว่านอกระบบ ตัวเลขจากรายงานของ สสช. ข้างต้น ระบุว่า จำนวนของแรงงานในระบบค่อยๆ เพิ่มขึ้น จาก 1.69 ล้านคน ในช่วงวัยรุ่นอายุ 20-24 ปี และเพิ่มไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงท้ายๆของวัยหนุ่มสาวคืออายุ 35-39 ปี อยู่ที่ 2.54 ล้านคนจากนั้นจะค่อยๆ ลดต่ำลง ตรงข้ามกับแรงงานนอกระบบที่ช่วงอายุ 20-24 ปี, 25-29 ปี, 30-34 ปี และ 35-39 ปี อยู่ที่ช่วงวัยละประมาณ 1 ล้านกว่าคนเศษ แต่เมื่อถึงวัยกลางคน หรืออายุ 40 ปีขึ้นไป จนถึงวัยชรา คือ อายุมาก 60 ปี จำนวนจะมากกว่า 2 ล้านคนในทุกช่วงวัย
เช่นเดียวกับระดับการศึกษา แรงงานในระบบมักเป็นผู้มีการศึกษาค่อนไปทางสูง อาทิ อุดมศึกษา (ปริญญาตรีขึ้นไป) มากที่สุดราว 6.01 ล้านคนรองลงมาคือมัธยมปลาย (ม.6 หรือวุฒิที่เทียบเท่า เช่นอาชีวะ ปวช. ปี 3) 3.27 ล้านคน มัธยมต้น (ม.3)ราว 3 ล้านคน และมีแรงงานในระบบที่จบเพียงประถมศึกษา (ป.6) เพียง 2.69 ล้านคนเท่านั้น สวนทางกับแรงงานนอกระบบที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประถมศึกษามากที่สุดถึง 6.26 ล้านคน รองลงมาคือประถมศึกษา5.64 ล้านคน และลดลงไปตามลำดับ จนถึงอุดมศึกษาที่มีเพียง 1.96 ล้านคนเท่านั้น
เรื่องนี้เข้าใจได้ว่าเป็นธรรมดาที่คนรุ่นหลังย่อมได้รับโอกาสมากกว่าคนรุ่นก่อน จากสวัสดิการต่างๆ ที่พัฒนามาตามลำดับ แต่ในโลกใหม่ที่เศรษฐกิจเดิมที่คุ้นชินถูกสั่นคลอนในสังคมที่คนรุ่นเก่ายังมีชีวิตอยู่ ทำให้ประชากรกลุ่มนี้เสี่ยงตกงาน ขาดรายได้และต้องพึ่งพาสวัสดิการของรัฐหรือบุตรหลานเพียงอย่างเดียว ทำให้หลายประเทศพูดถึงคำว่า “รี-สกิล (Re-Skill)” คือการทำให้แรงงานจากโลกเก่าสามารถปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อนได้
จากวันนั้นผ่านไป “รายงานการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2567” โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ “ก็ยังคงให้ข้อมูลไปในทิศทางเดิม” นั่นคือกำลังแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่นอกระบบ กล่าวคือ เป็นแรงงานนอกระบบ 21.1 ล้านคน และแรงงานในระบบ 18.9 ล้านคน เช่นเดียวกับอายุที่พบว่า จากช่วงอายุ 15 – 24 ปี เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 25 – 39 ปี ฝั่งที่เป็นแรงงานในระบบเพิ่มมากกว่าแรงงานนอกระบบ ( ในระบบจาก 1.9 ล้านคน เพิ่มเป็น 8.4 ล้านคน , นอกระบบจาก 1.5 ล้านคน เพิ่มเป็น 4.8 ล้านคน)
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่จำนวนแรงงานในระบบลดลงจากช่วงอายุ 25 – 39 ปี เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 40 – 59 ปี (จาก 8.4 ล้านคน ลดลงเหลือ 7.8 ล้านคน) แรงงานนอกระบบกลับเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงอายุเดียวกัน (จาก 4.8 ล้านคน เพิ่มเป็น 10.1 ล้านคน) และเมื่อถึงช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป (ซึ่งเป็นวัยที่ควรจะเกษียณ) จะเหลือแรงงานในระบบ 6.8 แสนคน ในขณะที่ยังเหลือแรงงานนอกระบบมากกว่า 4.5 ล้านคน
รวมถึงเรื่องระดับการศึกษาก็ไม่ต่างจากการสำรวจเมื่อหลายปีก่อนแต่อย่างใด สำหรับแรงงานในระบบ 3 อันดับแรกของวุฒิการศึกษา คือ อันดับ 1 อุดมศึกษา ร้อยละ 35.8 รองลงมาคือมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 22.1 และอันดับ 3 มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 17.6 ในขณะที่แรงงานนอกระบบ 3 อันดับแรกของวุฒิการศึกษา คือ อันดับ 1 ประถมศึกษา ร้อยละ 28.4 รองลงมาคือต่ำกว่าประถมศึกษา ร้อยละ 19.2 และอันดับ 3 มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 18.9
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2568 “ที่นี่แนวหน้า” มีโอกาสได้ไปฟังวงเสวนา “เชื่อมั่นประเทศไทย : โจทย์ใหม่ ในยุคเปลี่ยนแปลง?”ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาส 28 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งหนึ่งในวิทยากร ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงตัวเลขที่น่าเป็นห่วง ว่า “ราวร้อยละ 40 – 50 ของประชากรไทยทั้งประเทศ เสี่ยงต่อการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ด้วยความที่อายุมากและการศึกษาน้อย
นักวิชาการท่านนี้ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในทศวรรษ 1970 – 1980 (ปี 2513 – 2532) ไทยมีปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา (Dropout) จำนวนมากไม่เรียนต่อในระดับ ม.ปลาย เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1990 (ปี 2533 – 2542) ก็ยังพบเยาวชนจำนวนมากที่จบระดับ ม.ปลาย แล้วไม่เรียนต่อระดับอุดมศึกษา จากนั้นเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2000 -2010 (ปี 2543 – 2562) แม้จะมีผู้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น แต่จำนวนมากเรียนในมหาวิทยาลัยที่คุณภาพไม่ค่อยดีนัก
ส่วน “ทางออก” ดร.สมชัย แนะนำว่า 1.ต้องมีโครงการพัฒนาทักษะระดับชาติ (National Skill Program) เน้นกลุ่มเป้าหมาย “ผู้ตกค้างจากโลกเก่า” ที่คิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของคนทั้งประเทศดังกล่าว ให้ได้รับการพัฒนาทักษะ ตั้งเป้า 10 ล้านคนต่อปี โดยมีตัวอย่างที่ดีจากประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างสิงคโปร์และอินโดนีเซีย
กับ 2.โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Digital Infrastructure) อย่างอินเตอร์เน็ต ควรเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะฐานะยากดีมีจนอย่างไรสามารถเข้าถึงได้ เพราะสามารถ “สร้างโอกาส” ให้คนชายขอบยกระดับฐานะของตนเองได้ ดังเรื่องราวของศิลปินที่มีพื้นเพมาจากการเป็นคนในชนบท อาศัยช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์เผยแพร่ผลงานเพลงของตนจนโด่งดังได้โดยไม่ต้องพึ่งพานายทุนหรือบริษัทค่ายเพลงขนาดใหญ่อย่างในอดีต!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี