มนุษย์กับการเดินทางคงยากที่จะตัดขาดจากกันสำหรับคนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ ดังนั้น องค์ประกอบของการเดินทางจึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเราทั้งในเรื่องของการดำรงชีวิต ความสัมพันธ์ ทั้งต่อมนุษย์ด้วยกันเอง และสิ่งแวดล้อม หรือสภาวะทางอารมณ์ เรื่องของสภาพจิตใจ รวมไปถึงความปลอดภัยในชีวิต ฯลฯ
พื้นที่ตรงนี้จึงอยากนำเสนอ “แนวคิด” (IDEA) ในการออกแบบ (DESIGN)องค์ประกอบหลักสำหรับการเดินทางนั่นก็คือ “ถนนหนทาง” ตามพื้นที่ต่างๆเพื่อชวนกันคิด และกระตุ้น “ความใส่ใจ” ว่าทำไมสถานที่ หรือเครื่องมือต่างๆ เหล่านั้นจึงได้รับการประดิษฐ์ หรือคิดค้นขึ้นมา
แน่นอนว่า คงต้องมาเริ่มกันที่ “สวีเดน” กับนโยบาย “Vision Zero” ที่ให้ผลลัพธ์อันยอดเยี่ยมต่อชาวสวีดิชสำหรับการใช้ถนนร่วมกันของผู้ขับขี่ และคนบนทางเท้า จนสร้างแรงดึงดูดใจให้หลายประเทศนำไปออกแบบการใช้งานถนนที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันในประเทศของตัวเอง แต่ก็ไม่ง่ายที่จะสมบูรณ์แบบได้เหมือนประเทศเจ้าของนโยบายต้นฉบับที่สามารถสร้างการตระหนักรู้ร่วมกันของพลเมืองต่อเรื่องคุณค่าของชีวิตภายใต้ความปลอดภัยในระหว่างการใช้ถนนอย่างยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้
แรกเริ่มเดิมทีสวีเดนเองก็ประสบกับปัญหาอัตราการตายของประชากรจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่สูงมาก ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 จึงมีการผลักดันนโยบาย Vision Zero ออกมาจัดการกับปัญหานี้ ผ่านทางรัฐสภาแห่งสวีเดน และการสนับสนุนของประชาชน จากนั้นก็เริ่มทำการยกระดับความปลอดภัย และความใส่ใจในการใช้ถนนร่วมกันของผู้ขับขี่ และคนเดินทางเท้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมาย คือ การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือทางเท้าต้องเป็นศูนย์
สิ่งที่สวีเดนริเริ่มเอาไว้ และหลายประเทศนำไปใช้ก็มีตั้งแต่ การกำหนดความเร็วของผู้ขับขี่ในเขตเมืองที่ต่ำมาก(มีการเติมลูกระนาดเข้าไปในหลายพื้นที่ของถนน เพื่อช่วยในเรื่องของการลดความเร็วของรถอีกทาง) พื้นผิวของทางเท้า หรือทางจักรยาน ต้องมีแผงกั้นแยกออกจากพื้นผิวจราจร การติดตั้งสัญญาณไปจราจรบริเวณทางม้าลาย และไฟกะพริบ พร้อมลูกระนาดเพื่อชะลอความเร็วของรถ อีกทั้งยังมีการห้ามเลี้ยวรถอย่างเด็ดขาดบริเวณทางม้าลาย (โดยเฉพาะการเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ง่ายมากๆ) มีการเติมทางม้าลาย สะพานข้าม และกล้องจับความเร็วจำนวนมหาศาล ตลอดเส้นทางในประเทศสวีเดน
ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การปรับเลนถนนให้เป็น 2+1 คือ มีสองเลนที่สวนกัน โดยมีเลนกลางไว้สำหรับทำความเร็วแซงในกรณีเร่งด่วน หรือฉุกเฉิน ซึ่งต้องอาศัยความระมัดระวังรถสวนจากอีกฝั่งแซงมาเช่นเดียวกัน ตรงนี้ก็จะไปกำหนดจิตใต้สำนึกของผู้ขับขี่ให้พยายามใช้ความเร็วที่ไม่มากบนท้องถนนเช่นนี้ ต่างจากถนน 4 เลนที่สามารถเร่งทำความเร็วแซงได้ดั่งใจ และอาจทำให้นิสัยการใช้ความเร็วในระดับนั้นกลายเป็นปัญหาต่อไปของผู้ใช้ถนน และคนบนทางเท้า นอกจากนั้น รัฐบาลสวีเดนยังสร้างระบบคมนาคมทางเลือกที่สะดวกสบาย และประหยัด สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างคล่องตัว ทั้งรถไฟ รถเมล์ไฟฟ้า รถราง และทางจักยานที่มีคุณภาพ ซึ่งทำมาสำหรับขี่จักรยานในการเดินทางจริงๆ อันจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดได้อย่างราบรื่น
นอกจากนั้น ยังมีการลดจำนวนสี่แยก สามแยกต่างๆ ออกไป และพยายามสร้างการเคลื่อนของถนนเป็นแบบวงเวียนมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่สร้างจุดตัดในการปะทะกันตรงบริเวณแยกต่างๆ แล้วหันไปใช้การควบคุมความเร็วในระหว่างเข้าวงเวียนร่วมกับพาหนะคันอื่นๆ มากระตุ้นวินัยบนท้องถนนของคนขับไปในตัว และที่ขาดไม่ได้ คือ การบงคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น และมีโทษหนักมาก โดยเฉพาะการเมาแล้วขับ
ปัจจุบัน มีการมองไปถึงการติดตั้งเครื่องตรวจแอลกอฮอล์ติดรถยนต์ เพื่อตรวจวัดก่อนสตาร์ทรถว่า สามารถอนุญาตให้เจ้าของรถขับขี่บนถนนต่อไปได้หรือไม่ และที่เป็นโครงการสู่อนาคตกันอยู่นั้นก็คือ การสร้างรถยนต์ปราศจากคนขับที่ยังคงอยู่ในขั้นของการพัฒนาให้มีความปลอดภัย และก็อยากที่บอกไปแล้วว่า ปลายทางของนโยบายนี้คือ การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นศูนย์ โดยกำหนดเวลาเอาไว้เป็นในปี 2050 ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่าน “ผลลัพธ์” ที่เกิดขึ้น ก็ได้สร้างความมั่นใจว่า ความสำเร็จตามที่หวังตั้งใจนั้น น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง โดยอ้างอิงจากอัตราการเกิดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตบนท้องถนน ที่ลดหลั่นลงมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปีจวบจนถึงปัจจุบัน
นี่คือ “การออกแบบ” นโยบายของสวีเดน ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของคนมาเป็นอันดับแรก ด้วยการนำศาสตร์ และเครื่องมือ อันหลากหลายรูปแบบมา
ผสมผสาน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการ นั่นก็คือ “จิตสำนึกในการใช้ถนนร่วมกัน” เพื่อป้องกันความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินเป็นสำคัญ
อีกหนึ่งตัวอย่างที่อยากหยิบยกมาปิดท้าย เป็นถนนหนทาง รวมไปถึงบรรยากาศและคุณภาพของเมืองในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลายคนอาจมองว่า คนญี่ปุ่นนั้นมีวินัยสูงอยู่แล้ว เพียงแค่รัฐบาลออกกฎหมาย หรือสังคมวางกรอบร่วมกันไว้ ประสิทธิภาพของเมืองและความปลอดภัยบนท้องถนน ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก แต่แท้จริงแล้วนอกเหนือไปจากเรื่องของวินัยในการปฏิบัติตามระเบียบของการอยู่ร่วมกันแล้วการที่คนญี่ปุ่นสามารถดำเนินชีวิตตามแนวทางดังกล่าวนี้ได้อย่างไม่อึดอัด หรืออาจบอกว่าเป็นพฤติกรรมที่มาจากจิตสำนึกนั้น การออกแบบเมือง ออกแบบถนนหนทาง ออกแบบอุปกรณ์สาธารณะต่างๆ คือหัวใจในการสร้างแรงขับของการปฏิบัติดังกล่าวออกมาอย่างเต็มใจ
สำหรับใครที่เคยไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น ก็จะเห็นภาพตามที่ได้นำเสนอไปอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น การใช้เส้นมากำหนดระยะของการต่อคิวขึ้นรถ ซื้อของหรือแม้แต่การกำหนดการใช้ท้องถนนของรถยนต์ และคนบนทางเท้าก็จะมีเส้น สีและป้ายต่างๆ คอยแจ้งรายละเอียดอย่างเป็นสัดส่วน เข้าใจง่าย แถมยังเก๋ไก๋ตามสมัยนิยมอีกต่างหาก และเมื่อว่ากันถึง “ทางม้าลาย” ที่ญี่ปุ่นก็มีการออกแบบให้แหลมคมยิ่งสำหรับการสร้างความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการตีเส้นทางม้าลายให้กินเนื้อที่บนท้องถนนแบบกว้างใหญ่ไพศาล และมีการดีไซน์ในหลายรูปแบบเพื่อสอดรับกับสภาพของถนนในบริเวณต่างๆ ที่สำคัญ ระหว่างทางเท้าเชื่อมต่อลงถนนที่มีทางม้าลายพาดอยู่จะไม่มีขอบของรอยต่อ แต่จะเป็นทางลาดลงสู่ถนนเพื่อรองรับสำหรับคนพิการที่ใช้รถเข็น ส่วนขอบของทางเท้าก็จะยกขึ้นมาจากถนนไม่มากนัก และทุกทางม้าลายจะมีจุดพักกลางถนนซึ่งรองรับรถเข็นวีลแชร์เช่นเดียวกันสำหรับการพักคอยที่ปลอดภัย และแน่นอนว่า จะมีไฟสัญญาณในการข้ามถนนกำกับทุกทางม้าลาย
สำหรับคนขับรถก็จะมีสัญญาณไฟจราจรกำกับ แต่จะไม่มีการนับถอยหลังของสัญญาณไฟในทุกแยก เพราะจะทำให้คนขับเร่งเครื่องเวลากระชั้นชิด จึงอาจเกิดอันตายได้ และทางรัฐบาลญี่ปุ่นยังกำหนดความเร็วในเมืองเอาไว้อยู่ที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนในตรอกซอกซอยจะเป็น 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงของความเร็วที่สามารถหยุดกะทันหันได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนั้น ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าการสอบใบขับขี่ในประเทศญี่ปุ่นจะเข้มมากๆ และให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในการใช้ถนนของทุกคน แล้วก็ยังมีเรื่องของกฎหมายที่เป็นเสมือนปราการด่านสุดท้าย เพราะบทลงโทษขั้นต้นก็จะเป็นทั้งปรับเงิน และจำคุก แล้วคิดดูสิว่าขั้นอื่นๆจะหนักหนาสาหัสขนาดไหน สำหรับใครที่อยากได้รายละเอียดเกี่ยวกับการออกแบบเมือง บรรยากาศ และท้องถนนของประเทศญี่ปุ่นอย่างครบถ้วน แนะนำให้อ่านหนังสือ “Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง” ของ “คุณปริพนธ์ นำพบสันติ” ได้ซึ่งที่เอามานำเสนอนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งทั้งหมดที่เล่ามาเพราะอยากบอกกับทุกคนว่า ทุกสิ่งออกแบบได้“ความปลอดภัยบนท้องถนน” ก็เช่นกัน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี