“เมื่อความยุติธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นในโลกของคนเป็น บางทีผีอาจต้องเป็นผู้ทวงมันกลับคืนมา” นี่คือแก่นหลักของซีรี่ส์เกาหลี Oh My Ghost Clients ที่เพิ่งจบลงไปกับเรื่องราวของทนายความที่สามารถเห็นผีและใช้ความสามารถนั้นเพื่อช่วยลูกความซึ่งเป็นวิญญาณของแรงงานที่เสียชีวิตจากการถูกเอารัดเอาเปรียบและการละเลยในสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะในเหตุการณ์คดีสุดท้าย เราได้เห็นผีจำนวนมากรวมตัวกันเรียกร้องความยุติธรรมหลังจากถูกทอดทิ้งในเหตุโกดังไฟไหม้
ในขณะที่ซีรี่ส์ทำหน้าที่ปลุกความรู้สึกของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ความจริงในประเทศไทยก็ตอบกลับด้วยความสลดของรถบัสนักเรียนไฟไหม้บนถนนวิภาวดี เมื่อปลายปี’67 เด็กหลายสิบชีวิตหนีตายจากรถบัสที่ผิดกฎหมายและไม่มีระบบความปลอดภัย เมื่อเรื่องนี้ถูกสืบย้อนกลับ ก็พบว่าใบอนุญาตตรวจสภาพรถเป็นของปลอม และมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่รับสินบนเพื่อปล่อยให้รถไม่มีมาตรฐานวิ่งบนถนน
ต่างสถานที่ ต่างวัฒนธรรม แต่สองเหตุการณ์นี้มีจุดร่วมสำคัญคือ คนตายเพราะระบบที่ถูกละเลย
ในซีรี่ส์ Oh My Ghost Clients ตอนจบตัวเอกพยายามต่อสู้กับบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ละเมิดมาตรฐานความปลอดภัย จนเกิดเพลิงไหม้โกดัง มีคนงานเสียชีวิตหลายราย และวิญญาณเหล่านั้นกลับมาทวงถามความจริงที่พวกเขาไม่เคยได้รับ ไม่ว่าจะเป็นระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ที่ไม่ทำงาน ทางหนีไฟที่ถูกล็อก หรือกล้องวงจรปิดที่หายไปอย่างมีเงื่อนงำ
หันกลับมามองที่กรณีรถบัสนักเรียนในไทย เราพบข้อเท็จจริงที่เจ็บปวดไม่แพ้กัน รถคันดังกล่าวได้รับใบรับรองสภาพจากหน่วยงานที่ควรเป็นหลักประกันความปลอดภัย แต่ภายหลังกลับพบว่าไม่ได้มีการตรวจสอบสภาพรถจริงตามระเบียบ ใบอนุญาตที่ควรจะเป็นเครื่องยืนยันความพร้อม กลับกลายเป็นแค่กระดาษที่แลกมาด้วยเงินเพียงเล็กน้อย จึงต้องถามว่า ใครคือผู้ที่ควรรับผิด?
ผู้ชมหลายคนอาจจะคิดว่าคอร์รัปชันหมายถึงการรับเงินใต้โต๊ะของเจ้าหน้าที่ หรือการล็อบบี้ให้ผลประโยชน์บางอย่างเกิดขึ้น แต่ในทั้งสองกรณีนี้ เราเห็นคอร์รัปชันที่ลึกซึ้งกว่านั้น มันคือ “คอร์รัปชันเชิงระบบ” ซึ่งไม่ได้มีแค่ผู้รับเงินกับผู้จ่ายเงิน แต่หมายถึงการร่วมมือของหลายภาคส่วนเพื่อให้ระบบที่ควรปกป้องชีวิตประชาชน กลับกลายเป็นเครื่องมือทำร้ายและอันตรายถึงชีวิต
ในซีรี่ส์ บริษัทเอกชนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐปลอมแปลงเอกสาร ตัดงบความปลอดภัย และล็อบบี้ให้เรื่องเงียบ เช่นเดียวกับกรณีรถบัสนักเรียนในไทย ที่พบว่าใบตรวจสภาพบางใบถูกออกให้โดยไม่มีการตรวจจริง แลกกับเงินเพียง 1,500 บาท เป็นการแลกความปลอดภัยของเด็กๆ กับเงินเพียงเล็กน้อย ความผิดที่ดูเล็กน้อยเหล่านี้ กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมที่ไม่ควรเกิดขึ้นแม้แต่นิดเดียว
ในซีรี่ส์ ผีสามารถรวมตัวกัน และสื่อสารความจริงจนคนเป็นได้ยิน แต่ในชีวิตจริง วิญญาณของเด็กในรถบัสไม่มีโอกาสแม้แต่จะพูดคำสุดท้าย พวกเขาไม่มีโอกาสถามว่า “ทำไมประตูถึงเปิดไม่ได้?” และไม่มีสิทธิแม้แต่จะโวยว่า “ใครเป็นคนอนุญาตให้รถคันนี้วิ่งบนถนน?”
Oh My Ghost Clients อาจเป็นเพียงซีรี่ส์แฟนตาซี แต่ก็สะท้อนความจริงอันน่ากลัวของโลกใบนี้ว่า สังคมมักจะมองข้ามเสียงของผู้ไร้อำนาจ จนกระทั่งพวกเขาต้องตาย ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่ควรรอให้ถึงวันนั้น ไม่ควรรอให้มีผีมาเตือน เพราะความยุติธรรมควรเกิดขึ้นในโลกของคนเป็น
ข้อเสนอเพื่อไม่ให้เรื่องนี้เกิดซ้ำ
-ประการแรก ต้องปฏิรูประบบตรวจสภาพรถและอาคารให้โปร่งใส ไม่เปิดช่องให้ใบอนุญาตปลอมเกิดขึ้นได้อีก โดยเชื่อมต่อข้อมูลเข้าสู่ระบบกลางที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้จากทุกฝ่าย
-ประการที่สอง ต้องเพิ่มบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยถือว่า “การไม่ตรวจ” เป็นการมีส่วนร่วมในความเสียหายทางอาญาเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดโดยตรง
-ประการที่สาม ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน โรงเรียน หรือผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความปลอดภัยของระบบขนส่งเด็กอย่างจริงจัง พร้อมช่องทางร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงง่าย
ซีรี่ส์จบลงด้วยเสียงเรียกจากผีตัวใหม่ เหมือนกับบอกว่า ความอยุติธรรมยังวนเวียนไม่รู้จบ และในโลกของความเป็นจริง ความตายของเด็กๆ ในรถบัสก็คือสัญญาณเตือนว่า หากเรายังไม่เปลี่ยนแปลง ระบบเดิมจะยังฆ่าคนเงียบๆ ต่อไป
นันท์วดี แดงอรุณ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี