หากเราจะมองหาตัวอย่างร่วมสมัยของประเทศที่เศรษฐกิจพังพินาศจนต้องประกาศผิดนัดชำระหนี้ ข้าวของราคาแพงเป็นเท่าตัวในช่วงเวลาไม่กี่เดือน สังคมแตกสลาย และประชาชนออกมาลุกฮือโค่นล้มรัฐบาล อาจไม่มีกรณีศึกษาใดสดใหม่ไปกว่าศรีลังกา
ดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่ามีศักยภาพสูงในภูมิภาคเอเชียใต้ ทว่า เพราะการเมืองที่ถูกครอบงำโดยตระกูลเดียว กลับกลายเป็นประเทศที่ต้องเผชิญวิกฤตสาหัสทั้งด้านเศรษฐกิจ การคลัง และความเชื่อมั่นในสถาบันรัฐ
งานวิจัยโดย Ramesh และ Vinayagathasan ในปี 2024 ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การทุจริต การบิดเบือนกลไกนิติรัฐ การไร้กลไกตรวจสอบถ่วงดุล และการใช้งบประมาณรัฐอย่างไร้ประสิทธิภาพ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่กัดกร่อนประสิทธิภาพรัฐบาลของศรีลังกาตลอดหลายปีที่ผ่านมาภายใต้ตระกูลราชปักษา
งานศึกษานี้พบว่าแม้การควบคุมการทุจริตและการยึดมั่นในหลักนิติรัฐจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของรัฐได้จริงในระยะยาว แต่ในกรณีศรีลังกากลับพบปัญหาเรื้อรังทั้งเรื่องการเมืองครอบครัว (dynastic politics) การทุจริตเชิงนโยบาย (policy corruption) และการใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งท้ายที่สุดได้นำพาประเทศเข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ หรืออาจจะเรียกได้ว่าประเทศเข้าสู่ภาวะล้มละลาย เพราะไม่มีเงินจะใช้หนี้คืน
ในบรรดาตระกูลการเมืองที่สร้างรอยแผลให้แก่ศรีลังกา คงไม่มีตระกูลใดโดดเด่นเกินกว่าตระกูลราชปักษา ตั้งแต่ มหินทรา ราชปักษาที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถึงสองสมัย ก่อนจะผลักดันน้องชาย โกตาบายา ราชปักษา ขึ้นเป็นผู้นำประเทศต่อ และอีกหลายตำแหน่งสำคัญทั้งในคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานความมั่นคงที่ถูกแบ่งปันให้เครือญาติ
ภายใต้โครงสร้างแบบนี้การจัดสรรงบประมาณของรัฐไม่ได้ตอบสนองต่อผลประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง แต่กลับถูกนำไปผูกติดกับโครงการขนาดใหญ่ที่อิงประโยชน์กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม เช่น โครงการสนามบินร้าง ท่าเรือไร้เรือ หรืออาคารสัญลักษณ์หรูหราที่ไม่ได้สร้างรายได้ จนทำให้หนี้สาธารณะของศรีลังกาพุ่งอย่างรวดเร็ว
การทุจริตของตระกูลการเมืองไม่ได้จำกัดเพียงการยักยอกเงินเข้ากระเป๋าเท่านั้น แต่มันยังบิดเบือนลำดับความสำคัญของนโยบายสาธารณะ ทั้งก่อหนี้มหาศาลและใช้กลไกรัฐไปปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อเศรษฐกิจถดถอยเพราะหนี้สินล้นประเทศ ประชาชนก็ถูกผลักเข้าสู่ความยากจน ข้าวของแพง ไฟฟ้าดับ น้ำมันขาดแคลน จนต้องรวมตัวกันออกมาโค่นล้มรัฐบาลราชปักษาในที่สุด
หากมองย้อนกลับมายังประเทศไทย จะเห็นว่าปรากฏการณ์ “ตระกูลการเมือง” หรือการสืบทอดอำนาจในหมู่ญาติพี่น้องก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แม้โครงสร้างของรัฐไทยอาจมีมาตรการตรวจสอบถ่วงดุลมากกว่าศรีลังกา แต่การตั้งพรรคพวกกันเองควบคุมทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ หรือการใช้เครือญาติในการดำรงตำแหน่งสำคัญของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจก็เป็นสิ่งที่สังคมไทยควรตระหนักว่ามันอาจนำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่คล้ายกันได้
บทเรียนจากศรีลังกาจึงเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจเราคนไทยให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างระบบการเมืองที่เปิดกว้าง โปร่งใส และต้านทุจริตอย่างจริงจัง เราจำเป็นต้องยืนยันหลักนิติรัฐ (rule of law) ที่ไม่อ่อนข้อให้กับอำนาจการเมือง ไม่ยอมให้การบังคับใช้กฎหมายถูกบิดเบือนเพื่อปกป้องคนในเครือข่ายผู้มีอำนาจ
อีกทั้งต้องลงทุนกับกลไกตรวจสอบ ทั้งในรูปขององค์กรอิสระ สื่อมวลชน และประชาสังคมที่เข้มแข็ง ตลอดจนยกระดับระบบจัดซื้อจัดจ้าง การใช้จ่ายงบประมาณ และการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะให้โปร่งใสมากที่สุด
เหนือสิ่งอื่นใด บทเรียนจากศรีลังกาคือเสียงของประชาชนต้องไม่ถูกปิดปากหรือถูกเบี่ยงเบน เพราะการมี “voice and accountability” ที่แท้จริงแม้ในระยะสั้นอาจสร้างแรงกระเพื่อมให้รัฐบาลต้องปรับตัว และในระยะยาวจะเป็นหลักประกันที่สำคัญที่สุดต่อการป้องกันวิกฤตของรัฐ ดังที่เกิดขึ้นในศรีลังกา
เราคงไม่อาจบอกได้ว่าการเมืองแบบตระกูลเดียวจะนำประเทศสู่หายนะเหมือนกันทุกที่ ทว่าเมื่อดูตัวอย่างจากศรีลังกา มันคือคำเตือนที่ดังพอจะปลุกให้เราคนไทยตระหนักว่าความเฉื่อยชาต่อการทุจริตทางการเมืองในวันนี้ อาจกลายเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงที่ยากเกินกว่าจะแก้ไขในวันข้างหน้า
อ้างอิง
Ramesh, R., & Vinayagathasan, T. (2023). The Impact of Corruption, Rule of Law, Accountability, and Government Expenditure on Government Effectiveness: Evidence From Sri Lanka. Journal of Asian and African Studies, 59(6), 1843-1866. https://doi.org/10.1177/00219096221146999
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี