โครงการ “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ประกาศดีเดย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ครอบคลุมทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 279.84 กิโลเมตร 194 สถานี
แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นนโยบายเพื่อเอาหน้าประชานิยม ไม่มีความยั่งยืนอะไรเลย
เพียงแค่เอาเงินแผ่นดินมาหาเสียงกับคนในพื้นที่ กทม. ?
1. เมื่อวานนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายที่ตั้งใจทำให้ประชาชน ที่ขณะนี้แบกรับภาระในเรื่องค่าเดินทาง หรือรถไฟฟ้าขึ้นมาหลายต่อ เสียเงินจำนวนมาก และถ้าเราสามารถทำนโยบายนี้ให้สำเร็จ เรื่องการลดมลภาวะ ฝุ่นละออง ก็จะเกิดขึ้น สำหรับแหล่งเงินได้มีการพูดคุยกับกระทรวงการคลัง และดูทั้งหมดแล้วว่าเราสามารถมีแหล่งเงินที่จะมาสนับสนุนในส่วนนี้ได้
นักข่าวถามว่า จะใช้ปีละกี่บาท และเป็นเงินภาษีใช่หรือไม่?
รมว.คมนาคม นายสุริยะ ตอบว่า เงินทั้งหมดนี้เป็นรายได้ที่ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่วนหนึ่ง เมื่อประกอบการแล้วได้กำไร ก็นำเงินส่วนนั้นมาช่วย เบื้องต้นคาดว่าประมาณปีละ 8,000 ล้านบาท
นักข่าวถามว่า พรรคประชาชนหาว่าเป็นการทำเพื่อนายทุน?
รมว.สุริยะ ตอบว่า ตนเองก็ไม่อยากจะกล่าวหาพรรคประชาชน แต่ให้ไปดู เพราะพรรคประชาชนก็เสนอนโยบาย และต้องการทำแบบนี้เช่นกัน เป็นนโยบายเดียวกัน ดังนั้น จะบอกว่าเป็นการเอื้อนายทุน ตนเองขอชี้แจงว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชน และเลขากฤษฎีกาก็เคยบอกกับตนเองชัดเจนว่าเป็นนโยบายที่มองไปที่ประชาชนเป็นหลัก เรามองไปที่ประชาชน ไม่ใช่นายทุนแต่อย่างใด
ส่วนจะเป็นการทำงบประมาณผูกพันทุกปีหรือไม่?
นายสุริยะ กล่าวว่า ในระยะยาวมีการศึกษากันอยู่ และตอนนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาว่าจะทำในระยะยาว จะเอาแหล่งเงินจากไหนเพื่อให้ยั่งยืน ซึ่งส่วนนี้อาจมีการศึกษาในเรื่องการเก็บภาษีรถติด ถ้าเกิดว่ารัฐบาลสามารถมีทางเลือกรถไฟฟ้าแต่ละเส้นให้สมบูรณ์แล้ว แต่ถ้าประชาชนบางส่วนยังคิดอยากจะใช้รถส่วนบุคคลอยู่ ก็มีการจะพิจารณาว่าจะเก็บภาษีส่วนนี้ได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็จะดูประเทศต่างๆด้วย
2. สัปดาห์ที่แล้ว ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย ในราคาไม่เกิน “20 บาทตลอดสาย ” ตามนโยบายของรัฐบาล ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จัดอยู่ในนโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศไว้
ราคาค่าโดยสารจะ 20 บาทตลอดสายได้ รัฐต้องหาเงินมาชดเชยให้ผู้ประกอบการเอกชน
เพราะผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีรูปแบบสัญญาสัมปทานและสัญญาจ้างเดินรถที่มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขทางธุรกิจแตกต่างกัน
โครงการจึงได้กำหนดให้ประชาชนลงทะเบียน ในช่วงเดือนสิงหาคม 2568 ตามเงื่อนไขที่กำหนดบนแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” เพื่อรองรับการใช้งานตามนโยบาย
เงื่อนไขการลงทะเบียนนั้น ยืนยันตัวบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ให้ระบุเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก และสามารถใช้ผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรโดยสาร (Rabbit Card ที่เคยลงทะเบียนไว้) ที่จะใช้งานกับระบบรถไฟฟ้าผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” เริ่มใช้บริการโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568
ครอบคลุมทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบไปด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียว,สีทอง,สีเหลือง,สีชมพู,สีน้ำเงิน,สายสีม่วง,สายสีแดง และ สายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL)
ทั้งนี้ การใช้บริการรูปแบบบัตร Rabbit Card (บัตรเติมเงิน) จะใช้ได้กับสายสีเขียว, สีทอง, เหลือง, ชมพู
ขณะที่บัตร EMV Contactless (หรือบัตรเครดิต Visa/Mastercard) สามารถใช้กับ 6 สาย คือ สายสีแดง, น้ำเงิน, ม่วง, ชมพู, เหลือง, ARL (ไม่รวมสีทองและสีเขียว)
ในอนาคต จะมีการเปิดระบบสแกน QR Code ในมือถือ แทนการใช้บัตร เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน
3. ผลประโยชน์และผลกระทบจากโครงการ
กระทรวงคมนาคม ได้ประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับจากการดำเนินมาตรการฯ ในปีงบประมาณ 2569
ประเมินในเชิงปริมาณและมูลค่าจากจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่ได้รับประโยชน์ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โดยมีสมมุติฐานในการประมาณการมูลค่าผลประโยชน์ในปีงบประมาณ 2569 รวมมูลค่า 21,812.46 ล้านบาท
ผลกระทบในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีปริมาณผู้โดยสารในระบบจำนวนมาก ทำให้อาจมีผลกระทบต่อความจุของระบบ ดังนั้น รฟม. จะดำเนินการหาแนวทางและปรับปรุงความจุของระบบเพื่อรองรับผู้โดยสารก่อนเริ่มดำเนินมาตรการต่อไป
4. นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย โพสต์ X ตอบกรณี สส.พรรคประชาชน พูดว่านโยบายรถไฟฟ้าเอื้อนายทุน ระบุว่า
“สส.พรรคประชาชนในฝั่ง กทม. กำลังงงอะไรรึเปล่าครับ
เห็นออกมาพูดกันใหญ่ว่านโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของพรรคเพื่อไทย เป็นการเอาภาษีประชาชนมาจ่ายเอื้อประโยชน์เอื้อนายทุน
พูดเหมือนไม่สนใจจะลดค่าครองชีพให้ประชาชน ผ่านการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหมือนที่ตัวเองเคยหาเสียงไว้
นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ปลายทางคือการทำให้พี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีค่าเดินทางที่ถูกลง ซึ่งจะเกิดประโยชน์หลายมิติ
-ลดการใช้รถส่วนตัว และฝุ่นพิษจากไอเสีย -ส่งเสริมการกระจายตัวของเมือง คนอยู่อาศัยไกล ก็ยังเดินทางราคาถูกได้ - ลดค่าครองชีพ ให้ประชาชนมีเงินเหลือ สามารถไปพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติอื่น
ซึ่งการจะลดค่าใช้จ่าย ในช่วงที่สัมปทานรถไฟฟ้ากับเอกชนที่ทำไปก่อนหน้าแล้วยังคงอยู่ ไม่สามารถบังคับปรับลดลงมาได้เลย รัฐจึงต้องใช้ เงินอุดหนุน + สร้างรายได้ใหม่เชิงพาณิชย์ ไปพร้อมๆ กัน เพื่อนำรายได้เหล่านั้นมาใช้เป็นแหล่งเงินในการอุดหนุนที่ยั่งยืนต่อไป
แนวคิดเรื่องการ “อุดหนุน” ที่ฝ่ายค้านป้ายสีว่าเป็นการเอื้อเอกชนนี้ ก็เป็นแนวทางเดียวกันกับนโยบายของ อดีตพรรคก้าวไกล ที่เคยหาเสียงว่าจะลดค่าเดินทางให้เหลือ 8-45 บาท โดยกลไก “อุดหนุนส่วนต่าง ในวงเงิน 7,000 ล้านบาท” เช่นกัน
แน่นอนว่าตัวเลขค่าโดยสารที่ต่างกันเชิงนโยบาย ส่งผลให้เงินที่ต้องใช้อุดหนุนแตกต่างกัน แต่อย่าป้ายสีแนวทางการอุดหนุนว่าเป็นตัวร้ายเลยครับ เพราะมันเป็นกลไกบริหารราชการปกติ เพียงแค่การคิดให้เป็นระบบ ต้องประเมินประโยชน์ทางอ้อมอื่นๆ ที่เราจะได้จากการใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการสิ่งนั้นด้วย
แทนที่จะมุ่งวิจารณ์นโยบายพรรคเพื่อไทย ท่านตอบให้ได้ดีกว่าครับว่า “ถ้าเป็นท่านบริหาร จะลดค่าโดยสารแบบไม่ใช้งบประมาณอุดหนุนอย่างไร” หรือพูดชัดๆ ไปเลยครับว่า “ถ้าท่านได้เป็นรัฐบาล จะยกเลิกโครงการนี้ทันทีหรือไม่”
5. แน่นอน โครงการนี้ มีคนได้รับประโยชน์แน่นอน ก็คือประชาชนที่จะใช้สิทธิได้จ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงกว่าราคาตามสัญญาสัมปทานกับเอกชน โดยมีรัฐบาลช่วยหาเงินมาจ่ายชดเชยให้
แต่ปัญหา คือ มันก็ไม่ต่างกันกับการเอาเงินมาจ่าย เอามาแจก ช่วยคนใช้รถไฟฟ้านั่นเอง ไม่ใช่ฝีมือการบริหารจัดการอะไรเลย
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ให้ข้อสังเกตที่ตรงไปตรงมา ชัดเจนมากว่า “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย “ฝันดีปีเดียว?”
ระบุว่า “รัฐบาลบอกว่าเพื่อประชาชน แต่นี่อาจเป็นแค่ “ยาแก้ปวดชั่วคราว” ก่อนเลือกตั้ง
ใครเห็นข่าวแล้วเฮ…ฟังทางนี้ก่อน พร้อมกับช่วยกันค้นหาคำตอบต่อคำถามสำคัญ “มันจะไปได้นานแค่ไหน?” หรือ “แค่ฝันดีปีเดียวแล้วตื่นมาจ่ายแพงเหมือนเดิม?”
ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อเร็วๆ นี้ ให้เริ่มดำเนินนโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2568 - 30 กันยายน 2569 ครอบคลุมรถไฟฟ้าทุกสาย ทุกสี
นโยบายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ส่วนบุคคลไปสู่ระบบขนส่งมวลชน
อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายจะดูเป็น “ของขวัญเพื่อประชาชน” แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียด กลับมีข้อกังวลหลายประการที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน เช่น
1. งบประมาณที่จัดสรรยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ในปีแรกของการดำเนินนโยบาย รัฐบาลตั้งงบประมาณไว้ 5,668 ล้านบาท (ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยบอกว่าจะต้องใช้เงินชดเชยประมาณ 8,000 ล้านบาท/ปี) โดยแบ่งเป็นค่าชดเชยค่าโดยสารให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ร.ฟ.ท., รฟม., กทม. รวม 5,512 ล้านบาท และค่าพัฒนาระบบบริหารจัดการรายได้กลาง 156 ล้านบาท
แต่ข้อมูลจาก กทม.ระบุว่า เฉพาะในส่วนของ กทม.เพียงหน่วยงานเดียว จำเป็นต้องใช้เงินชดเชยถึง 11,059 ล้านบาท เท่ากับว่างบที่ได้รับจริง (2,525 ล้านบาท) นั้นไม่ถึงหนึ่งในสี่ของความต้องการ
2. เจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานยังไม่ชัดเจน
รถไฟฟ้าหลายสายดำเนินการภายใต้สัมปทานให้เอกชน ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสว่า ภาครัฐได้ตกลงค่าชดเชยรายได้กับเอกชนได้ผลเป็นที่ยุติหรือไม่ แต่ผมรู้มาว่า ยังไม่ได้ข้อยุติ
3. ความยั่งยืนในระยะยาวยังไม่แน่นอน
นโยบายนี้ครอบคลุมเพียง 1 ปีเท่านั้น โดยไม่มีแผนรองรับหลังจากวันที่ 30 กันยายน 2569 หากไม่มีการจัดทำแผนการเงินที่ยั่งยืน นโยบายนี้จะกลายเป็นเพียง “มาตรการชั่วคราว” ที่อาจยุติลงทันทีเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ
ยิ่งไปกว่านั้น หากรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะ “ซื้อสัมปทานคืน” ทั้งหมดจากเอกชน ตัวเลขการลงทุนอาจสูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งต้องการการวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบ
4. ประชาชนทุกกลุ่มอาจไม่ได้รับประโยชน์เท่าเทียมกัน
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า “ทุกคน” สามารถรับสิทธิ์ใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้ แต่เงื่อนไขการใช้งานจริงระบุว่า ผู้ใช้ต้องมีการลงทะเบียนผ่านระบบแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” หรือใช้บัตร EMV (Europay, Mastercard และ Visa) หรือ Rabbit Card เท่านั้น
กลุ่มประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ดิจิทัล เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้มีรายได้น้อย อาจไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์นี้ได้โดยสะดวก
5. แหล่งรายได้ชดเชยระยะยาวยังไม่ชัดเจน
การเสนอแนวคิด “ค่าธรรมเนียมรถติด” หรือ Congestion Charge เพื่อเป็นรายได้เพิ่มเติมสำหรับชดเชยค่าโดยสารในอนาคต แต่แนวคิดนี้ยังคงอยู่ในระดับ “การศึกษา” และยังไม่มีความคืบหน้าในเชิงนโยบายหรือข้อกฎหมาย
6. ผู้ให้บริการเตรียมหารถไฟฟ้าเพิ่มไว้หรือยัง?
เมื่อค่าโดยสารถูกลง จะมีผู้โดยสารรถไฟฟ้ามากขึ้นแน่นอน แต่คำถามคือ...ผู้ให้บริการเตรียมรถไฟฟ้าเพิ่มไว้หรือยัง? ถ้าไม่ทันรับมือ แบบนี้คนได้ประโยชน์จะเป็นใครกันแน่?
สรุป
นโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” มีเจตนาที่ดีและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง
แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีคำถามสำคัญหลายข้อ ทั้งในเรื่องความโปร่งใส การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ การบริหารจัดการสัมปทานกับเอกชน และความยั่งยืนของนโยบายในระยะยาว
หากรัฐบาลต้องการให้นโยบายนี้ “อยู่ยาว” และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะก็ต้องเริ่มวางแผนอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้
โดยเฉพาะแผนทางการเงินที่ชัดเจน และการเข้าถึงของประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่รอให้คนขึ้นแน่นก่อนแล้วค่อยคิด
“นโยบายที่ดีไม่ควรเป็นแค่ของขวัญปีเดียว...หากต้องการให้เป็นรากฐานของความเสมอภาคในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของประเทศ”..”
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี