หลังจากที่เราพบว่า ปลาที่เลี้ยงนั้นเริ่มแสดงอาการป่วยแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการเป็นสิ่งแรกเลยคือ แยกปลาป่วยออกจากปลาปกติ เพื่อนำมาปฐมพยาบาลก่อนไปพบคุณหมอ ซึ่งวิธีการจะเป็นอย่างไร วันนี้ผมยังมีข้อมูลดีๆ จาก “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคติดเชื้อในปลา” (Center of Excellence in Fish infectious diseases, CEFID) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ.น.สพ.ดร. ชาญณรงค์ รอดคำครับ
การเตรียมปลาป่วยออกมาเพื่อปฐมพยาบาลนั้น สิ่งที่เราต้องเตรียมและคำนึงถึงในการแยกปลาออกมาปฐมพยาบาล ดังนี้
1. ภาชนะสำหรับแยกปลาป่วย
เราควรจัดหาภาชนะเพื่อแยกปลามารักษาโดยเฉพาะ ถ้าเป็นปลาขนาดเล็กถึงขนาดกลางก็นิยมใช้ถังหรือตู้กระจกที่มีความจุน้ำอย่างต่ำสัก 50 ลิตร แต่ถ้าเป็นปลาขนาดใหญ่ ก็อาจใช้ถังหรือตู้ขนาด 150 ลิตรขึ้นไปหรือไม่ก็เป็นบ่อปลา ซึ่งอาจเป็นบ่อพลาสติกหรือบ่อปูนก็ได้ครับ
2. ตำแหน่งการวางตู้หรือบ่อพยาบาล
ตำแหน่งของตู้หรือบ่อสำหรับใช้พยาบาลปลาป่วยนั้น ควรวางในบริเวณที่มีแสงส่องสว่างเพียงพอ เพราะเราต้องคอยสังเกตอาการปลาอย่างใกล้ชิด สิ่งที่สำคัญ บริเวณนั้นจะต้องไม่อยู่ในจุดที่ทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมากนัก หากจะให้ดี ควรหาเครื่องทำความร้อนหรือฮีทเตอร์มาใช้ควบคุมอุณหภูมิน้ำอีกสักตัว เพื่อไม่ให้น้ำเย็นเกินไปก็จะเป็นการดีครับ
3. ความสะอาด
ควรทำความสะอาดภาชนะก่อนนำมาใช้ แต่ต้องระวังเรื่องสารตกค้างด้วยอาจล้างอุปกรณ์ด้วยน้ำเกลือเข้มข้น หรือใช้ด่างทับทิมเจือจาง หลังจากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง
4. การเตรียมน้ำ
น้ำที่จะนำมาใส่บ่อหรือตู้ปฐมพยาบาลปลานั้น ต้องเป็นน้ำที่ปราศจากคลอรีน หากเป็นน้ำประปา ควรตั้งทิ้งไว้ 1-2 วัน เพื่อให้คลอรีนสลายตัวหมดก่อนและน้ำที่ใช้ต้องมีอุณหภูมิเท่ากันกับตู้เลี้ยงที่กำลังจะแยกปลาป่วยออกมาด้วยเพื่อไม่ให้ปลาช็อคจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
5.ที่หลบซ่อนของปลา
ควรจัดหาวัสดุให้ปลาหลบซ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเกิดอาการเครียด เช่นขอนไม้ ต้นไม้ หรือก้อนหิน แต่อย่าวางสิ่งเหล่านี้ให้รกจนเกินไป การจัดวางควรจัดบริเวณกลางไปจนถึงหลังตู้ ไม่ควรปูกรวดหรือทรายที่พื้นตู้ เพราะจะเป็นที่สะสมหรือฟักตัวของเชื้อโรคและพยาธิได้
6. การกรองน้ำ
ควรติดตั้งตัวกรองน้ำขนาดเล็ก เพื่อช่วยให้น้ำสะอาด มีการไหลเวียนที่ดีและมีปริมาณออกซิเจนเพียงพอต่อปลาป่วยที่แยกออกมา
7. การเคลื่อนย้ายปลา
การเคลื่อนย้ายปลาออกจาบ่อหรือตู้เดิม ผู้เลี้ยงต้องค่อยๆ จับปลาป่วยออกมา การจับปลาควรทำอย่างนุ่มนวล ไม่ควรใช้กระชอนไล่ควานอย่างบ้าคลั่งเพราะจะทำให้ปลาช็อคจนเสียชีวิตได้ ควรค่อยๆ ทำอย่างละมุนละม่อม โดยใช้กระชอนสองอันที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวปลาหลายๆ เท่า ค่อยๆ ต้อนจนเข้ามุมแล้วช้อนออกมาใส่ถุงพลาสติคหรือกะละมังที่เตรียมไว้
จากนั้น นำถุงพลาสติกหรือกะละมังไปลอยไว้ในน้ำของตู้พยาบาล (สามารถลอยทั้งถุงได้เลย แต่ยังไม่ต้องเทปลาลงในบ่อครับ) เพื่อปรับอุณหภูมิให้เท่ากันดีเสียก่อน ใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาที จากนั้นค่อยเอากระชอนช้อนเฉพาะตัวปลา ใส่ลงตู้พยาบาล แต่ “อย่า”เทน้ำที่ได้จากตู้เดิมลงไปด้วย
ถึงตอนนี้ปลาก็พร้อมสำหรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไปแล้วครับ
@ เราควรจะทำอย่างไรกับตู้เลี้ยงเดิมที่ยังมีปลาที่ไม่ป่วยอยู่ ??
สิ่งง่ายที่สุดที่ทำได้ คือให้เปลี่ยนน้ำหรือถ่ายน้ำประมาณ 20-25% เพื่อไม่ให้สภาพน้ำเปลี่ยนแปลงอย่าเฉียบพลัน และสังเกตอาการของปลาตัวอื่นๆ ต่อไปอีกสักระยะ เพื่อหาดูว่าปลาตัวไหนมีอาการผิดปกติอีกหรือไม่ หากมีปลาป่วยเพิ่ม เราจะได้นำมารักษาได้ทันท่วงทีครับ
ต้องจำไว้ว่า "เมื่อเห็นปลาป่วย อย่าเพิ่งใส่ยาด้วยตนเอง จนกว่าจะวินิจฉัยอาการของโรคอย่างแน่นอน และเตรียมภาชนะสำหรับรักษาให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน" และที่สำคัญควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อการวินิจฉัยให้ตรงกับโรคหรือความผิดปกตินั้นจริงๆ เสียก่อนครับ
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี