เรามาทำความรู้จักโรคเบาหวาน ในสุนัขกันครับ โรคเบาหวานในสุนัข (Diabetes Mellitus) เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของระบบควบคุมน้ำตาลในร่างกาย โดยเฉพาะการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างเหมาะสม
อินซูลินทำหน้าที่นำน้ำตาลกลูโคสจากเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน หากไม่มีอินซูลินเพียงพอ น้ำตาลจะสะสมในกระแสเลือดจนสูงผิดปกติ ส่งผลเสียต่ออวัยวะหลายระบบ
สาเหตุของโรคเบาหวานในสุนัข มักเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของตับอ่อน ซึ่งเป็นอวัยวะที่ผลิตอินซูลิน โดยโรคนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน (Insulin-dependent diabetes mellitus) สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ ความผิดปกติทางพันธุกรรม โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ภาวะดื้อต่ออินซูลินจากความอ้วน การได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรือโรคฮอร์โมน เช่น Cushing’ syndrome
สายพันธุ์ของสุนัขที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ พุดเดิ้ล มินิเอเจอร์ชเนาเซอร์ ดัชชุนด์ และบีเกิล อาการที่พบบ่อยในสุนัขที่เป็นเบาหวาน ได้แก่ ดื่มน้ำมากผิดปกติ (polydipsia), ปัสสาวะบ่อย (polyuria), หิวมาก (polyphagia) แต่กลับน้ำหนักลด เหนื่อยง่าย อ่อนแรง ขนแห้ง ขนร่วง และอาจเกิดภาวะต้อกระจกอย่างรวดเร็วซึ่งทำให้ตาบอดได้ หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา อาจเกิดภาวะรุนแรง เช่น เบาหวานคีโตแอซิโดซิส (diabetic ketoacidosis) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
การวินิจฉัยโรคเบาหวานในสุนัขทำได้โดยการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับกลูโคสในเลือด หากพบว่าระดับน้ำตาลสูงกว่าค่าปกติ และมีน้ำตาลในปัสสาวะร่วมด้วย จะช่วยยืนยันการวินิจฉัย บางกรณีอาจมีการตรวจค่า Fructosamine ซึ่งเป็นตัวชี้วัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยในเลือดช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้า เพื่อช่วยในการประเมินความรุนแรงของโรคและการควบคุมในระยะยาว
แนวทางการรักษาโรคเบาหวานในสุนัขเน้นไปที่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับเหมาะสม ได้แก่ การฉีดอินซูลินเป็นประจำวันละ 1–2 ครั้ง ตามชนิดของอินซูลินและคำแนะนำของสัตวแพทย์ การควบคุมอาหารโดยใช้อาหารสูตรเฉพาะที่มีเส้นใยสูงและค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการควบคุมน้ำหนัก หากสุนัขอ้วนจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น ซึ่งทำให้ควบคุมโรคได้ยาก สำหรับการดูแลรักษาโรคระยะยาว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากเจ้าของสัตว์อย่างใกล้ชิด เจ้าของต้องเรียนรู้วิธีการฉีดอินซูลิน และสังเกตอาการของสุนัขเวลาน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น มีอาการสั่น อ่อนแรง เดินเซ หรือหมดสติ จึงต้องควบคุมเวลาการให้อาหารให้สม่ำเสมอ และต้องติดตามระดับน้ำตาลในเลือดหรือปัสสาวะตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
ถ้าหากเจ้าของสุนัขป่วยสามารถควบคุมโรคได้ดี สุนัขจะมีชีวิตยืนยาว มีคุณภาพชีวิตดีเกือบใกล้เคียงกับสุนัขปกติ ดังนั้น ขอย้ำว่า โรคเบาหวานในสุนัขจึงต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง และต้องให้การรักษาอย่างเหมาะสม บวกกับการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดโดยเจ้าของสุนัข
ขอบอกว่าสุนัขที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในระยะยาว หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง และในฐานะสัตวแพทย์ขอย้ำว่าการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา เพราะฉะนั้น โปรดช่วยกันดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงแสนรักของเรานะครับ เพื่อที่เขาจะได้อยู่กับเราอย่างมีความสุขไปนาน ๆ
น.สพ. นนทษิต ชุติญาณวัฒน์
โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี