เมื่อสัตวแพทย์แจ้งว่าสุนัขของคุณมีค่าเอนไซม์ตับ (liver enzymes) สูงกว่าค่าปกติหมายความว่าเกิดความผิดปกติบางอย่างกับเซลล์ตับ หรือระบบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับสุนัขแล้ว
โดยทั่วไป การตรวจวัดค่าเอนไซม์ตับสุนัข มักจะตรวจดังนี้
ALT (Alanine Aminotransferase), AST (Aspartate Aminotransferase), ALP (Alkaline Phosphatase) และ GGT (Gamma-glutamyl transferase) โดยเอนไซม์เหล่านี้จะรั่วสู่กระแสเลือดเมื่อเกิดความเสียหายที่เซลล์ตับหรือท่อน้ำดี
ภาวะที่เกี่ยวข้องกับค่า ALT และ AST สูง
ALT เป็นเอนไซม์ที่พบมากในเซลล์ตับโดยเฉพาะ เมื่อมีการอักเสบหรือการตายของเซลล์ตับ ค่า ALT จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วน AST พบทั้งในตับ กล้ามเนื้อหัวใจ และกล้ามเนื้อโครงร่าง การเพิ่มขึ้นของ AST จึงอาจหมายถึงปัญหาที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่ตับ
สาเหตุที่ทำให้ ALT/AST สูง
• ตับอักเสบ ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต เช่น Leptospira spp.
• พิษจากสารเคมีหรือยาบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบบางตัว (NSAIDs), ยากันชัก (Phenobarbital), หรือสารพิษจากพืชบางชนิด
• ภาวะตับมีไขมัน มักพบในสัตว์ที่หยุดกินอาหารนานหลายวัน
• เนื้องอกในตับ ทั้งที่เป็นมะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง
• ภาวะเลือดไปเลี้ยงตับไม่เพียงพอ
ภาวะที่เกี่ยวข้องกับค่า ALP และ GGT สูง
ALP เป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเยื่อบุท่อน้ำดี รวมถึงกระดูกและลำไส้ ส่วน GGT พบมากในท่อน้ำดีและไต ค่า ALP ที่สูงในสุนัขสามารถพบได้ในหลายภาวะ โดยเฉพาะในสุนัขสูงอายุ หรือสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มทางพันธุกรรม เช่น พุดเดิ้ล หรือลาบราดอร์
สาเหตุที่ทำให้ ALP/GGT สูง
• ภาวะท่อน้ำดีอุดตันจากนิ่ว หรือก้อนเนื้อกดทับ
• Cushing’ disease (ภาวะฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงเกินไป)
• เนื้องอกหรือมะเร็งของตับ และท่อน้ำดี
• ผลข้างเคียงของยาบางชนิด โดยเฉพาะกลุ่ม corticosteroids
• โรคกระดูกในลูกสุนัข ในช่วงที่มีการเจริญเติบโต
การวินิจฉัยและการประเมินเพิ่มเติม
การมีค่าเอนไซม์ตับสูงไม่ได้แปลว่าตับมีความเสียหายร้ายแรงเสมอไป จึงจะต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินสาเหตุ เช่น ตรวจเลือด ตรวจค่าการทำงานของตับ (bile acids, bilirubin), CBC, ค่าโปรตีน การอัลตราซาวด์ช่องท้อง เพื่อดูขนาดตับ โครงสร้างภายใน ดูว่ามีการกดเบียดของท่อน้ำดีหรือไม่ การเจาะชิ้นเนื้อตับ (biopsy) ในกรณีที่จำเป็น เพื่อยืนยันชนิดของโรค ประเมินประวัติการใช้ยา อาหาร และพฤติกรรมการกิน
การดูแลและการให้อาหาร
การดูแลสุนัขที่มีค่าเอนไซม์ตับสูงจำเป็นต้องใช้แบบองค์รวม ทั้งการวินิจฉัย สังเกตอาการ การใช้ยา และที่สำคัญคือต้องควบคุมอาหารและการจัดการสิ่งแวดล้อม เนื่องจากตับมีหน้าที่สำคัญในการย่อยอาหาร ขจัดสารพิษ สร้างโปรตีน และควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน การดูแลอย่างเหมาะสมจะลดภาระของตับ และช่วยให้เกิดการฟื้นฟูของเนื้อเยื่อตับได้
อาหารสำหรับสุนัขที่มีปัญหาตับ การให้อาหารที่เหมาะสมช่วยลดความเสียหายแล้วยังช่วยเพิ่มเติม และส่งเสริมการฟื้นฟูเซลล์ตับได้ โดยมีหลักการมีดังนี้
• ลดปริมาณโปรตีนแต่เน้นคุณภาพสูง การลดโปรตีนจะช่วยลดการสะสมของสารแอมโมเนียที่เป็นของเสียจากการย่อยโปรตีน ซึ่งตับต้องกำจัด ควรเลือกโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น ไข่ขาว ปลา หรืออาหารทางการแพทย์ (prescription diet) สูตรตับ
• เพิ่มปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม ข้าวกล้อง มันฝรั่ง เพื่อเป็นพลังงานและลดการใช้โปรตีนในการผลิตพลังงาน
• ไขมันมีระดับปานกลางหรือสูง (ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคตับ) ในกรณีที่ไม่มีโรคทางเดินน้ำดีอุดตัน ไขมันที่ดี เช่น น้ำมันปลา (omega-3) หรือน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ อาจช่วยลดการอักเสบได้ แต่ต้องหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวจากเนื้อแดงหรือของทอด
• เสริมสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี วิตามินซี ซีลีเนียม และซิลิมาริน (silymarin – สารสกัดจากมิลค์ทิสเซิล) ซึ่งช่วยลดความเสียหายของเซลล์ตับ
• เสริมไฟเบอร์ เพื่อช่วยควบคุมจุลชีพในลำไส้ และลดการดูดซึมสารพิษ เช่น ไซเลียมฮัสก์ (psyllium husk) หรือฟักทองบด
ข้อควรระวัง
• หลีกเลี่ยงยาหรือสารเคมีที่มีพิษต่อตับ เช่น ยากันเห็บบางชนิด, ยาพาราเซตามอล (ห้ามใช้กับสุนัขเด็ดขาด), ยาสมุนไพรที่ไม่ทราบแหล่งที่มาชัดเจน
• งดของกินที่ไม่เหมาะสมหรือมีไขมันสูง เช่น ตับสัตว์, ไส้กรอก, ขนมขบเคี้ยวสำหรับคน, ช็อกโกแลต และผลิตภัณฑ์ที่มีหัวหอมและกระเทียม
• ให้น้ำสะอาดตลอดเวลา การขาดน้ำจะส่งผลให้ตับทำงานหนักขึ้น แล้วทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับอิเล็กโทรไลต์
• ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ควบคุมพยาธิภายใน หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ และตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
• ควบคุมน้ำหนักตัว สุนัขที่อ้วนมากจะเสี่ยงสูงต่อโรคตับมีไขมัน และเกิดความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึมอื่น ๆ
ขอย้ำว่า ต้องจัดการอาหารและดูแลชีวิตประจำวันของสุนัขที่มีค่าเอนไซม์ตับสูงอย่างเคร่งครัด และต้องหารือแผนการรักษาร่วมกับสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด ขอเน้นว่าอาหารที่เหมาะสมจะช่วยลดภาระของตับ ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังสารพิษ ยา และอาหารต้องห้ามที่อาจทำให้อาการแย่ลง การร่วมมือระหว่างเจ้าของสัตว์กับสัตวแพทย์ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูสุขภาพตับ และทำให้คุณภาพชีวิตสุนัขดีขึ้นในระยะยาว
นายสัตวแพทย์ นนทษิต ชุติญาณวัฒน์
โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี