การดูแลสภาพแวดล้อมควบคู่ไปกับการรักษาโรคหรืออาการป่วยของปลานั้น จัดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เนื่องจากปลาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลา ดังนั้น กิจกรรมในการดำรงชีวิตทุกชนิด เช่น การกินอาหารการหายใจ การขับถ่าย การสืบพันธุ์ ล้วนแต่ต้องอาศัยน้ำเป็นตัวกลางทั้งสิ้นหากสภาพน้ำที่เลี้ยงไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตประจำแล้ว ย่อมจะส่งผลต่อการเจ็บป่วยของปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาป่วยที่มีสุขภาพอ่อนแอ ย่อมต้องการสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าปลาปกติที่มีความแข็งแรงมากกว่าผู้เลี้ยงที่ดีจึงต้องศึกษาชีววิทยาของปลาแต่ละชนิดที่จะเลี้ยงว่ามีความเหมาะสมที่จะเลี้ยงในสภาพแวดล้อมเช่นไร อาจศึกษาได้จากตำราการเลี้ยงปลา สอบถามจากผู้มีประสบการณ์ หรือสังเกตจากการทดลองเลี้ยงด้วยตนเอง จึงจะทราบและเข้าใจถึงความต้องการสภาพแวดล้อมแบบใดที่ปลาแต่ละชนิดต้องการครับ
@สภาพแวดล้อมที่ดี
สภาพแวดล้อมที่ดีหมายถึง สภาพน้ำที่สะอาด มีออกซิเจนละลายน้ำมาก มีอินทรียสารในน้ำน้อย ไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นแปลกปลอมในตู้ปลา หรืออาจหมายถึงน้ำที่มีระดับความขุ่นและมีปริมาณแพลงตอนพืชที่มีสภาพที่ใกล้เคียงธรรมชาติ เพื่อการพรางตัวของปลา มีการไหลเวียนของน้ำตลอดเวลาหรืออาจเป็นน้ำนิ่งๆ มีการไหลเวียนของน้ำน้อยที่เหมาะสมกับปลาแต่ละชนิดซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้เลี้ยงควรศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องจากการเลี้ยงปลาให้มีสุขภาพแข็งแรง เมื่อปลามีสุขภาพแข็งแรงก็จะมีความทนทานต่อโรคมากขึ้นปรสิตหรือเชื้อโรคต่างๆ จะทำให้ปลาป่วยได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ดี ถ้าแม้ปลาที่เลี้ยงจะมีสุขภาพแข็งแรง แต่ช่วงเวลาต่างๆ ที่ปลาจะอ่อนแอกว่าปกติก็สามารถพบได้ เช่น ในปลาที่อายุน้อย หรืออายุมากๆหรือปลาที่ตั้งท้อง ปลาที่วางไข่ ปลาที่เลี้ยงลูก เป็นต้น ระยะเวลาเหล่านี้จะเป็นช่วงที่ปลามีโอกาสป่วยจากการติดเชื้อปรสิต แบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัส ได้โดยง่ายผู้เลี้ยงจึงควรสังเกตปลาอย่างใกล้ชิด และเมื่อพบความผิดปกติก็ควรรีบหาสาเหตุแห่งความผิดปกติให้พบและหาวิธีแก้ไขและรักษาที่เหมาะสม
@ ปัญหาที่พบบ่อยในการใช้ยาในสัตว์น้ำ
ปัญหาที่สำคัญคือ การใช้ยาและสารเคมีอย่างผิดๆ เช่น ใช้ยาไม่ถูกกับโรค ใช้ปริมาณมากหรือน้อยเกินไป ระยะเวลาที่ให้ยาไม่เหมาะสม วิธีการให้ยาไม่เหมาะสมเป็นต้น
ตัวอย่างของการใช้ยาและสารเคมีอย่างผิดๆ เช่น
- การใช้น้ำยาปรับสภาพน้ำที่ไม่ทราบองค์ประกอบ ไม่ทราบคุณสมบัติโดยการหยดหรือเติมลงในน้ำทุกครั้งหลังการเปลี่ยนถ่ายน้ำ หากน้ำที่เปลี่ยนเป็นน้ำประปาที่สะอาดอยู่แล้ว การใส่สารเคมีลงไปก็นับเป็นการเติมสารพิษลงไปในน้ำทำให้สภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตของปลาให้แย่ลง
- การใช้ยาที่กำหนดคุณสมบัติว่ารักษาได้ทั้งโรคปรสิต โรคแบคทีเรีย เชื้อรา รักษาได้ครอบคลุมทุกโรค กับปลาที่อ่อนแอ โดยไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ก็เป็นวิธีที่ผิด เนื่องจากไม่มียาในสัตว์น้ำชนิดใดที่มีคุณสมบัติครอบคลุมการรักษาโรคได้ทุกโรค การโฆษณาเกินจริงจะทำให้ผู้เลี้ยงใช้ยาหรือสารเคมีเกินจำเป็น และไม่ตรงกับอาการหรือโรคของปลาส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผล สิ้นเปลืองและทำให้อาการของโรคพัฒนามากขึ้นและซับซ้อนขึ้น เมื่อทำการวินิจฉัยโรคในภายหลังจะพบว่าปลาป่วยด้วยอาการหลายอย่างร่วมกันรวมถึงภาวะเหงือกอักเสบเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่มีทั้งสาเหตุจริงที่ก่อโรคและสาเหตุที่แทรกซ้อนและจากการใช้ยาผิดประเภท
ตัวอย่างการใช้ยาและสารเคมีที่ไม่เหมาะสมที่พบบ่อยอีกหนึ่งตัวอย่างคือ การใช้เกลือในปริมาณน้อยๆ เติมลงในน้ำทุกครั้งที่เปลี่ยนถ่ายน้ำ กรณีนี้ก็เช่นเดียวกันกรณีที่เติมสารปรับสภาพน้ำต่างกันที่มีความระคายเคืองต่อเหงือกและผิวหนังปลาน้อยกว่าทำให้สังเกตเห็นการระคายเคืองได้น้อยกว่าหรือไม่สามารถสังเกตพบแต่ผลที่ตามมาจากการใช้เกลือต่อเนื่องตลอดเวลาจะทำให้ปลาและปรสิตที่อาจมีอยู่แล้วบนตัวปลาทนทานต่อระดับความเค็มของเกลือทำให้การรักษาโรคปรสิตทำได้ยาก ข้อควรคำนึงและพึงระวังให้เสมอสำหรับการใช้สารเคมีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คือ “ใช้เมื่อจำเป็น” ไม่ใช้พร่ำเพรื่อตลอดเวลา เพราะถึงแม้สารเคมีนั้นจะปลอดภัยต่อปลา แต่ก็อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในตู้ปลาได้ เช่น เกลืออาจทำให้เชื้อบางชนิดเจริญเติบโตได้มากขึ้น เนื่องจากชอบสภาพแวดล้อมที่มีความเค็มเป็นต้น
@ การเลือกซื้อยาหรือสารเคมีที่ใช้
เราสามารถเลือกซื้อยาหรือสารเคมี ได้จากหลายแหล่ง เช่น ตลาดนัดร้านขายปลา ร้านขายยา ร้านขายเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ขึ้นกับคุณภาพและชนิดของสารเคมีที่ต้องการ แต่สิ่งที่ต้องทราบก่อนจะเลือกซื้อยาหรือสารเคมีใดๆมาใช้คือ ปลาป่วยเป็นโรคอะไร มีความผิดปกติอะไร มีความจำเป็นต้องใช้ยาหรือสารคมีชนิดใดในการรักษาหรือไม่
ความผิดปกตินานาประการของปลาอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือสารเคมีใดๆ ในการรักษา ใช้เพียงแค่เวลาและการปรับสภาพแวดล้อมก็จะหายได้เอง หากจำเป็นต้องใช้ยาและสารเคมี ก็ควรดูฉลาก กำกับยาว่า มีสารเคมีใดเป็นองค์ประกอบมีคุณสมบัติตามที่ต้องการหรือไม่ สีและลักษณะเนื้อยาองค์ประกอบที่สังเกตได้เป็นชนิดที่ตรงกับคุณสมบัติที่ระบุไว้หรือไม่ หากไม่ทราบก็ควรหาข้อมูลเบื้องต้นจากหนังสือหรือขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์หรือนักวิชาการที่มีประสบการณ์ก่อน
ปัจจุบันยาและสารเคมีที่ผู้ขายระบุว่าใช้สำหรับปลามีมากมายหลายชนิด แต่มักจะไม่ระบุองค์ประกอบของยา หรือสารออกฤทธิ์ ผู้เลี้ยงทุกคนควรร่วมมือกันปฏิเสธการเลือกซื้อยาที่ไม่มีรายละเอียดของตัวยาและส่วนประกอบเหล่านี้ รวมถึงยาหรือเคมีที่โฆษณาคุณประโยชน์เกินจริงเพื่อไม่เป็นการส่งเสริมให้มีผู้ผลิตยาปลอมสำหรับใช้ในปลาออกมาจำหน่ายในท้องตลาดด้วยครับ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก รศ.สพ.ญ.ดร.อรัญญา พลพรพิสิฐ “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคติดเชื้อในปลา” (Center of Excellence in Fish infectious diseases, CEFID) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี