พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party หรือ PAP) ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลอยู่เดิมก่อนยุบสภา ได้รับชัยชนะเด็ดขาดอีกครั้งในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม 2568 ได้ที่นั่งในรัฐสภา 87 ที่นั่งจากทั้งหมด 97 ที่นั่ง และได้คะแนนเสียงนิยม 65.6 เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลผลการเลือกตั้งของกรรมการเลือกตั้งของสิงคโปร์
สิงคโปร์ มีพื้นที่ของประเทศ เป็นเกาะ รวมประมาณ 719.9 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะย่อยรายล้อมรวม 63 เกาะ มีความหนาแน่นของประชากรสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม มีการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว จนได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสี่เสือแห่งเอเชีย
แต่เดิมสิงคโปร์เป็นเกาะที่เคยเป็นอาณานิคมของหลายประเทศมาก่อน เช่น อาณาจักร มัชปาหิตแห่งชวา มะละกา โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ญี่ปุ่น มาเลเซีย
หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ สิงคโปร์ได้ขอรวมชาติ เข้ากับมาเลเซีย ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพมาลายาในสมัยนั้น เพื่อจะได้ไม่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อพ.ศ. 2506 แต่ชาวสิงคโปร์มีความรู้สึกว่าได้รับการเหยียดชนชาติ จนเป็นเหตุให้สิงคโปร์ประกาศตนเป็นเอกราช เป็นประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2508
ช่วงก่อนที่สิงคโปร์จะแยกตัวออกจากมาเลเซีย บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในขณะนั้นคือ ลี กวนยู ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นเลขาธิการพรรคกิจประชาชนคนแรก ได้นำพรรคชนะการเลือกตั้ง เมื่อ พ.ศ. 2502 จะได้ดำเนินการแยกสิงคโปร์ออกจากมาเลเซีย เมื่อ พ.ศ. 2508
ลี กวนยู เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ได้นำพรรคกิจประชาชนชนะการเลือกตั้งถึง 8 ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จนถึง พ.ศ. 2533 และทำให้สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวบริหารประเทศ เปลี่ยนจากประเทศที่ค่อนข้างด้อยพัฒนาเพราะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ เป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจ
สิงคโปร์ยังมีพรรคการเมืองคู่แข่งอีก 2 พรรค คือ พรรคแรงงาน (WP) นำโดย นายปรีตัม สิงห์ และพรรคสิงคโปร์ก้าวหน้า (PSP) นำโดย ตัน เชียง บ๊อก ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนน้อย
สิงคโปร์มีระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) แบบเดียวกับอังกฤษ การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดมาก เพราะประชาชนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แม้แต่การทิ้งขยะลงบนถนน หรือพื้นที่สาธารณะ จะถูกจับและปรับอย่างเข้มงวด กฎหมายยังมีบทลงโทษด้วยการตี หรือโบยซึ่งปัจจุบันแทบไม่ได้ใช้แล้วข้าราชการให้บริการแก่ประชาชนและดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาเพราะกฎหมายควบคุมอย่างเคร่งครัด จึงไม่มีพฤติการณ์แบบจีนเทา หรือชาวต่างชาติที่มีอิทธิพลประกอบอาชีพเหมือนอย่างในประเทศไทย
สิงคโปร์มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัดมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่กลับมีฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินอยู่ในระดับที่มั่งคั่งที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
ด้วยความที่สิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก คนสิงคโปร์จึงต้องดำเนินธุรกิจอย่างชาญฉลาด ด้วยการเป็นตัวแทน บริษัทใหญ่ๆ บริการ และสินค้าสำคัญที่มีชื่อเสียงต่างๆ จาก
ต่างประเทศ เป็นจำนวนมาก และเป็นตัวแทนในภูมิภาคย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนประเทศอื่นๆ เมื่อนักธุรกิจจากประเทศอื่นต้องการทำธุรกิจ จึงต้องมาเป็นตัวแทนช่วง หรือรับสินค้าช่วงจากสิงคโปร์ เพื่อนำมาขายในประเทศตนเอง ทำให้สิงคโปร์มีรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก
แม้แต่น้ำมันที่ขายในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญของประเทศไทย ยังต้องอ้างอิงราคาขายที่ประเทศสิงคโปร์
สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ เพราะนโยบายเก็บภาษีไม่สูง ไม่เข้มงวดกับชาวต่างประเทศที่มาลงทุน การเปิดธุรกิจต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จึงมีบริษัทต่างประเทศมาเปิดกิจการในประเทศสิงคโปร์เป็นจำนวนมาก
สิงคโปร์เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศในด้านประสิทธิภาพของทรัพยากรบุคคลและการจัดการทางการค้าในฐานะตัวแทนในการขายสินค้าเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าปลอดภาษี ทำให้สินค้าที่ผ่านทางสิงคโปร์มีราคาถูก มีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ และทันสมัยที่สุดในโลกและยังได้เข้าไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย อย่างประเทศไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา
แม้กิจการภายในประเทศจะยังต้องพึงพาแรงงานจากต่างชาติในทุกระดับ แต่ไม่เป็นปัญหาการใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย
รัฐบาลสิงคโปร์จัดสรรงบประมาณในการลงทุนก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการคมนาคมสาธารณะมีความเชื่อมโยงและกระจายไปอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ ทั้งระบบรางและระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ โดยมีอัตราค่าบริการที่ประหยัดจูงใจเพียงพอให้ประชาชนหันมานิยมใช้ระบบบริการขนส่งสาธารณะมากกว่าการใช้พาหนะส่วนตัวจนเป็นค่านิยมที่แสดงถึงสถานะความหรูหราและชนชั้นทางสังคมส่วนบุคคลที่แสดงออกผ่านแบรนด์นวัตกรรมยานยนต์ที่มีชื่อเสียง อันแฝงไปด้วยภาระภาษีและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา
โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจของสิงคโปร์ถือว่าดีกว่าประเทศไทย รายได้ประชากรต่อหัวมีมากกว่า และประชาชนมีหนี้สินน้อยกว่า
มีบางอย่างที่สิงคโปร์เหมือนหรือคล้ายกับประเทศไทยตรงที่ทั้งสองประเทศต่างมีนายกรัฐมนตรี ที่เป็นพ่อ และลูกสืบต่อกันมา
สิงคโปร์มี ลี กวนยู เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก หลังจากที่ สิงคโปร์แยกออกจากมาเลเซียและประกาศตนเป็นประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 จนถึง พ.ศ. 2533 เมื่อนายกรัฐมนตรีคนที่สองที่ชื่อ โก๊ะ จ๊กตง เข้ารับตำแหน่ง ลี กวนยู ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีอาวุโสจากรัฐบาลต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2554 ซึ่งถือว่ามีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในการแสดงความคิดเห็น และดำเนินการทางการเมือง โดยไม่ได้เป็น สทร. เหมือนบางประเทศ
บุตรชายของ ลี กวนยู ชื่อ ลี เสี่ยนหลง เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สาม ก่อนที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ลี เสี่ยนหลงได้ทำงานและอยู่ในแวดวงการเมืองมานานถึง 20 ปี
แม้ว่า ลี เสี่ยนหลง จะได้รับความเชื่อถือเพราะเป็นบุตรชายของ ลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอยู่บ้าง แต่ลี เสี่ยนหลง ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า มีความพร้อมทั้งความสามารถ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ ตลอดจนภูมิหลังทางด้านการศึกษาในการเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศสิงคโปร์
ในประเด็นนี้ หากเทียบกับประเทศไทย จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก
ลี เสี่ยนหลง ได้ลาออกจากนายกรัฐมนตรีคนที่สาม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เพื่อเปิดทางให้ ลอว์เรนซ์ หว่องขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สี่ สาเหตุที่ ลี เสี่ยนหลง ออกจากตำแหน่งน่าจะเกิดจากปัญหาสุขภาพ เนื่องจากเคยได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมาก่อน
ลอว์เรนซ์ หว่อง อดีตข้าราชการ และอดีตรัฐมนตรี ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สี่ และได้นำพรรคกิจประชาชน ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในสิงคโปร์ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 เป็นรัฐบาลพรรคเดียว
หากเปรียบเทียบกับประเทศไทย การที่สิงคโปร์มีรัฐบาลที่มาจากพรรคเดียว เป็นเพราะนโยบายที่ถูกใจประชาชน และผลงานเป็นที่ยอมรับต่อเนื่องมายาวนาน เมื่อบริหารประเทศ
ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ ไม่มีข้อขัดแย้ง ประเทศพัฒนาได้อย่างรวดเร็วในเวลาสั้น
ส่วนประเทศไทยการเมืองยังวนเวียนในวังวนอยู่เหมือนเดิม พรรคการเมืองไม่สามารถเสนอนโยบายที่ถูกใจประชาชน เพื่อให้ได้รับเลือกเป็นรัฐบาลเพียงพรรคเดียว
ยังต้องเป็นรัฐบาลผสม และนโยบายของพรรคการเมืองหลายพรรคต้องผสมร่วมกันแบบรวมมิตร เมื่อมีปัญหาในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล วิธีแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วคือ ปรับคณะรัฐมนตรี ทำให้เกิดการกระตือรือร้นในการทำงาน และประชาชนต้องยอมรับว่ายังต้องให้เวลารัฐมนตรีใหม่ ในการเริ่มทำงานใหม่ ในตำแหน่งใหม่ อีกครั้งอย่างไม่มีไม่มีที่สิ้นสุด
คงอีกนาน ที่ประเทศไทยจะมีการเมืองที่เข้มแข็ง และเศรษฐกิจดีแบบเดียวกับประเทศสิงคโปร์
ดร.รุจิระ บุนนาค
กรรมการผู้จัดการ
Marut Bunnag International Law Office
rujira_bunnag@yahoo.com
Twitter : @RujiraBunnag
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี