พยาบาลไต ผู้เป็นพยาบาลเวชปฏิบัติการบำบัดทดแทนไต หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคไต ได้กลายเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียเอง จากกฎระเบียบใหม่ของสภาการพยาบาลเกี่ยวกับคุณสมบัติในการปฏิบัติหน้าที่
กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ ข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2563 (ด้านการ
บำบัดทดแทนไต (การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม) ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับ นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 เป็นต้นไป
ตามข้อบังคับนี้ ที่ใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 พยาบาลไต ผู้ปฏิบัติงานที่ห้องฟอกไต ต้องผ่านการอบรม หลักสูตรพยาบาลเฉพาะทางสาขาการบำบัดทดแทนไต หรือสาขาเวชปฏิบัติการบำบัดทดแทนไต ที่สภาการพยาบาลให้การรับรอง
พยาบาลไต ที่ผ่านการอบรมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง และได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล ได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญต่อเนื่องติดต่อกันมา และเป็นกำลังหลักสำคัญให้แก่ผู้ป่วยโรคไตโดยไม่มีปัญหา พยาบาลไตหลายคนได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่
ต่อมาเมื่อไม่นานมานี้ สภาการพยาบาลได้แก้ไขข้อบังคับดังกล่าว ให้พยาบาลไตผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องผ่านการอบรมจากสภาการพยาบาลเท่านั้น
ผลของการแก้ไขข้อบังคับนี้ ทำให้พยาบาลไตจำนวนนับพันคนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะจะกลายเป็นพยาบาลที่ขาดคุณสมบัติในการปฏิบัติหน้าที่จากข้อบังคับใหม่ และจะต้องเป็นภาระเข้ารับการอบรมจากสภาการพยาบาลใหม่อีกครั้ง ที่ประมาณการว่า มีค่าใช้จ่ายในการอบรม คนละ 40,000 บาท ทั้งที่พยาบาลไต เหล่านั้น กำลังปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตอยู่แล้ว และพยาบาลไตหลายคน ทั้งที่ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นพยาบาลไตผู้เชี่ยวชาญ กลับต้องมาอบรมใหม่ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคไตทั่วประเทศอาจได้รับความเดือดร้อน
จึงเป็นเหตุให้พยาบาลไตรวมตัวกันเพื่อฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เกี่ยวกับการแก้ไขข้อบังคับที่ไม่เป็นธรรมนี้ ซึ่งตามข้อเท็จจริง หากถือเป็นเรื่องที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน
พยาบาลไตควรใช้สิทธิยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อขอคุ้มครองหรือระงับการใช้บังคับตามข้อบังคับใหม่นี้อย่างเร่งด่วนเป็นการชั่วคราว และมีความเป็นไปได้สูงที่ศาลจะอนุญาตตามที่ขอ
ล่าสุด นายกสภาการพยาบาลได้แถลงว่า สภาการพยาบาลกำลังอยู่ระหว่างหารือกับสมาคมพยาบาลโรคไต เพื่อจัดทำหลักสูตรอบรมเพิ่มเติมแก่พยาบาลโรคไตกลุ่มเดิมดังกล่าว และเมื่อผ่านการอบรมแล้วจะได้ขึ้นทะเบียนตามข้อบังคับของสภาการพยาบาล โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่
หากดำเนินการตามที่นายกสภาการพยาบาลแถลง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แม้ว่าอาจจะดูช้าไปบ้าง ทั้งที่ควรจะวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้า และดำเนินการตามแผน ไม่ใช่ปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปเอง จนเกิดความระส่ำระสายในวงการพยาบาลไต แล้วค่อยหาทางแก้ปัญหา
กรณีนี้ เทียบเคียงกับวงการการศึกษาไทย ที่แต่เดิมครูยุคก่อนบางท่าน อาจไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับสูงหรือระดับปริญญาตรี แต่มีใบประกอบวิชาชีพครูตามกฎระเบียบเดิม เมื่อมีกฎระเบียบใหม่ออกมา ให้ครูต้องสำเร็จการศึกษาในระดับสูง ก็ไม่ได้ยกเลิกใบอนุญาตของครูยุคก่อนแต่ส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาเพิ่มเติมแทน
สภาการพยาบาลน่าจะนำแนวทางปฏิบัติขององค์กรวิชาชีพครู เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการตั้งแต่แรก ไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาแล้วจึงแก้ปัญหา
ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการพยาบาลไต แท้จริงแล้วเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิด และแนวทางแก้ปัญหาแบบไทยๆ ซึ่งกำลังจะเป็นประเทศมหาอำนาจ ในอนาคตอันใกล้
ดร.รุจิระ บุนนาค
กรรมการผู้จัดการ
Marut Bunnag International Law Office
rujira_bunnag@yahoo.com
Twitter : @RujiraBunnag
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี