อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ที่ 7% จากผู้ประกอบการที่มีรายได้ 1,800,000 บาทต่อปี หรือ150,000 บาทต่อเดือน
ในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การขยายฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่มีรายได้น้อยกว่า 1,800,000 บาท ต่อปี รวมทั้งการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
“...ธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 1,800,000 บาทต่อปี เช่น อาจมีรายได้ 1,500,000 บาทต่อปี อาจจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทที่ 2 ในอัตรา 1% ของรายได้ 1,500,000 บาท ต่อปี เหมือนดังกรณีประเทศในยุโรป เพราะจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 2 แสนล้านบาท กรมสรรพากรกำหนดผู้มีรายได้กลุ่มนี้ สามารถหักรายจ่ายแบบเหมาจ่ายได้ 60% ส่วนที่เหลือนำมาเสียภาษี ทำให้เสียภาษีปีละหมื่นกว่าบาทเท่านั้น ..การลดรายจ่ายของรัฐบาลทำได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะรายจ่ายประจำที่มีข้าราชการเกือบ 3 ล้านคน ที่จำเป็นต้องเพิ่มรายได้ ปัจจุบัน
การจัดเก็บจากภาษีของรัฐบาล
ทำได้เพียง 15.5% ของจีดีพีจากในอดีตเคยได้สูงถึง 17% การนำผู้มีรายได้กลุ่มนี้ เข้าระบบให้มากขึ้น จะทำให้รัฐบาลจัดทำงบขาดดุลต่ำลงที่ปัจจุบันขาดดุลอยู่ที่ 4.4% ของจีดีพี
อาจเหลือแค่ 3.5% หรือรัฐบาลนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ เช่น การบริหารจัดการน้ำเป็นต้น
ใจความดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงนโยบายเชิงแนวคิดของ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัฐบาลปัจจุบัน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2568
นโยบายเชิงแนวคิดในการจะขึ้นอัตราเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% จากปัจจุบัน 7% และจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทที่ 2 ในอัตรา 1% ของรายได้ 1,500,000 บาท ต่อปี ทั้งสองแนวทาง มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ มุ่งเน้นไปเพื่อนำเงินรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทย และสู้กับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนซบเซาจากสงครามทางการค้าของประเทศมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา
ถ้อยแถลงดังกล่าวเป็นเพียง ความเห็นของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ยังต้องผ่านการอนุมัติจาก คณะกรรมการปฏิรูปภาษีก่อน
ปัจจุบันเศรษฐกิจของภาคธุรกิจเอกชนถือว่า ซบเซา ที่สังเกตได้จาก การปล่อยสินเชื่อของธนาคารน้อยลง
แต่ในทางกลับกันธุรกิจของธนาคารกลับมีผลประกอบการที่ดีและมีผลกำไรสูงขึ้นอย่างน่า ประหลาดใจ ในปี พ.ศ. 2567 กำไรของ 10 ธนาคารที่สุ่มตัวอย่าง มีมูลค่าราว 2.5 แสนล้านบาท
กรณีนี้ อาจจะเป็นเพราะการปล่อยสินเชื่อของธนาคารมุ่งเน้นการปล่อยรายเดิมเพิ่มเติม แต่การปล่อยสินเชื่อเพื่อลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่น้อยรายหรือแทบไม่มีเลย เนื่องจากธนาคารต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหนี้เสีย และรักษาภาพพจน์ของผลประกอบการธุรกิจของตน เพื่อรักษาความเชื่อถือในตลาดและครองใจฐานลูกค้าชั้นดี
สหภาพยุโรป มีข้อกำหนดอนุญาต (VAT Directive) ให้ประเทศสมาชิก กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 อัตรา คือ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มมาตรฐาน และอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแบบลดหย่อน
เช่น ประเทศเยอรมนี อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มมาตรฐาน19% และอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแบบลดหย่อน 7% ในขณะที่ประเทศฟินแลนด์ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มมาตรฐาน 25.5% อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแบบลดหย่อนลำดับแรก ที่ 14% อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแบบลดหย่อนลำดับที่ 2 ที่ 10% (อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของสหภาพยุโรปสำหรับปี 2025)
ธุรกิจการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลในประเทศ ที่ถูกจัดอยู่ในประเภทธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดย่อม หรือเรียกว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อาจจัดอยู่ในกลุ่มที่เข้าข่ายมีรายได้ถึงเกณฑ์ 1,500,000 บาท ต่อปี ต้องถูกบังคับให้เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มและรับภาระภาษี 1%
ระบบการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลาย ล้วนแต่มีเจ้าของลิขสิทธิ์ที่อยู่ในต่างประเทศ รวมถึงระบบการชำระเงินออนไลน์
แม้จะเปิดให้ใช้เป็นเครื่องมือประกอบธุรกิจ มีรายได้แบบสาธารณะ แต่มีการเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ส่วนหนึ่งสำหรับการนำไปใช้ประกอบธุรกิจ และอาจมีเงื่อนไขที่ต้องยอมให้มีการโฆษณาสินค้าและบริการข้ามเขตประเทศ ซึ่งเป็นลูกค้าลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์อีกทางหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลไทยไม่สามารถเรียกเก็บภาษีส่วนนี้ได้เลย
บรรดาผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจการซื้อขายสินค้าเหล่านี้ มีเพียงไม่กี่ราย และอาจไม่ยั่งยืนเสมอไป เพราะส่วนใหญ่มิได้ผู้ผลิตสินค้าเองโดยตรง แต่มักจะเป็นลักษณะซื้อมา ขายไป ซึ่งมูลค่าของสินค้าเหล่านี้ ผู้ซื้อรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% อยู่แล้วในระบบ รวมถึงผู้ค้าออนไลน์ด้วยเช่นกันจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ให้ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1% อีกครั้งในช่วงรอบสิ้นปีของในแต่ละปี
ปัญหาที่กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการในประเทศไทย ที่ปกติจะได้รับการส่งเสริมในรูปของเงินทุนให้เปล่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือด้านภาษี (ยกเว้นภาษีในบางรายการ) แต่เป็นเพียงช่วงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งตามนโยบายของรัฐบาลในแต่ละวาระ มีลักษณะเป็นการชั่วคราว หรือโปรโมชั่น(Event Policy) มิได้ดำเนินนโยบายสานต่ออย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับต่างประเทศ
ถ้อยแถลงของผู้บริหารประเทศ ที่เป็นเพียงแนวความคิด อาจสร้างความ ตื่นเต้น และตื่นตระหนก หรือสร้างผลดีทางด้านเศรษฐกิจ ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
ดร.รุจิระ บุนนาค
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี