“เกษตรกรส่วนใหญ่ทำงานจากประสบการณ์เดิม ภูมิปัญญาเดิมซึ่งไม่ได้เสียหาย พาเขามาถึงตรงนี้ก็ถือว่าเต็มที่แล้ว ถ้าจะยกระดับให้สูงกว่านี้ต้องใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการจัดการขั้นสูง และอันนี้คือบทบาทที่คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม จะเข้าไป”
คำกล่าวของ ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่เคยให้สัมภาษณ์กับทีมงาน “นสพ.แนวหน้า” เกี่ยวกับโครงการยกระดับรายได้ของเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งมีอยู่แล้วในมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าไปสนับสนุนประชาชนในพื้นที่ (“ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน” แก้จนภาคเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์ : หน้า 17 นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 29 มิ.ย. 2563)
ซึ่งโครงการดังกล่าวหรือที่เรียกกันในชื่อที่จำง่ายๆ ว่า “เกษตรแม่นยำ” เลือกพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดคือ “สกลนคร” เน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำในพื้นที่ และมีความโดดเด่นด้านผ้าย้อมคราม “จันทบุรี” มีความพร้อมจากจุดแข็งทั้งกิจการอัญมณี ประมง และสวนผลไม้ และ “กระบี่” ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันกันอย่างแพร่หลาย จึงมุ่งหวังว่าจะสามารถยกระดับคุณภาพผลผลิตปาล์ม รวมถึงเลี้ยงแพะที่กินใบปาล์มเป็นอาหารเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
หาก กมธ.วิทย์ เปรียบเสมือนเจ้าภาพคอยประสานงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ และมหาวิทยาลัยในแต่ละพื้นที่เปรียบดั่งกองหน้าที่ส่งทีมวิจัยเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คงเปรียบได้กับ “กองหนุน”ส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวโดย ผศ.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการภารกิจส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว. กล่าวว่า เป็นบทบาทที่เปลี่ยนไปจากเดิมสมัยที่ยังใช้ชื่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่เน้นการให้ทุนวิจัยเป็นหลัก
ซึ่ง สกว. เดิมเป็นหน่วยให้ทุนวิจัย แต่ในปี 2562 เกิดการปฏิรูประบบวิจัย สกสว. ถูกปรับเปลี่ยนให้ไปทำหน้าที่สำคัญโดยเป็นหน่วยที่ทำหน้าที่จัดทำแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และจัดสรรงบประมาณวิจัยให้กับหน่วยบริหารจัดการทุน (Program Management Unit : PMU) และหน่วยงานต่างๆของประเทศที่ทำวิจัย โดยในปัจจุบันหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยมี 7 PMU ได้แก่ วช. สวก. NIA สวรส. บพท.(PMU-A) บพค.(PMU-B) และ บพข.(PMU-C) แต่ละ PMU จะมีกรอบการให้ทุนวิจัยที่แตกต่างกัน
ในส่วนของการให้ทุนวิจัยเชิงพื้นที่จะเป็นบทบาทของ บพท.(PMU-A) เป็นหลัก และนอกเหนือจากที่ทำเรื่องแผน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ ววน.แล้ว จะมีส่วนที่ต้องทำเพิ่มเติมคือการพัฒนาระบบ ววน. ระบบติดตามและประเมินผล รวมถึงระบบที่ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ด้วย กล่าวคือ “ไม่ใช่แค่ให้แผนให้เงินอย่างเดียว
แต่ไปทำระบบอำนวยความสะดวกที่ส่งเสริมให้งานวิจัยที่ทำเสร็จแล้วไม่ขึ้นหิ้ง” แต่ถูกส่งต่อให้กับผู้ใช้ประโยชน์จนทำให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบต่อประเทศ
“เราพยายามพัฒนาแพลตฟอร์มการเชื่อมต่อและผลักดันงานวิจัยกับผู้ใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ (National Research Utilization Platform) เช่น แพลตฟอร์ม Tech2biz ที่เชื่อมต่องานวิจัยของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยบริหารจัดการทุนกับผู้ประกอบการ ในส่วนของการใช้ประโยชน์ด้านนโยบาย แพลตฟอร์ม PRP-LLB เชื่อมโยงการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติและกระทรวงต่างๆ และแพลตฟอร์มการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ช่วยขับเคลื่อนและส่งเสริมการนำงานวิจัยและนวัตกรรมที่พร้อมใช้ไปแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่
แล้วเราก็มีความร่วมมือ อย่างทั้ง สส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) สว. (สมาชิกวุฒิสภา) ก็ถือว่าเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้านหนึ่ง แต่เป็นผู้ใช้ประโยชน์ด้านนโยบาย สกสว. มีความร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เราสนับสนุนข้อมูลงานวิจัยตามความต้องการของสภาฯโดยสรุปเป็น policy brief/research brief และถูกเชิญไปเป็นหน่วยวิชาการของกรรมาธิการต่างๆ” ผศ.สุดสวาสดิ์ อธิบาย
จากจุดเริ่มต้นที่ สกสว. ได้รับเชิญให้เป็นหน่วยงานที่ปรึกษาของ กมธ.วิทย์ จึงได้มีโอกาสเดินทางไปยังพื้นที่ในโครงการนำร่อง เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชน ซึ่ง ผศ.สุดสวาสดิ์ เปิดเผยว่า ศ.ดร.กนก ให้ความสำคัญอย่างมากกับการพบปะพูดคุยกับเกษตรกรตัวจริง ก่อนที่จะรับฟังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่ามีข้อติดขัดอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ การลงพื้นที่ร่วมกันของหลายๆ หน่วยงานพร้อมกับกมธ.ววน. ทำให้แต่ละหน่วยงานร่วมมือกันทำงานได้ดียิ่งขึ้น
โดยหลังจากลงพื้นที่ หากมีงานวิจัยใดที่แล้วเสร็จและตอบโจทย์ปัญหาของคนในพื้นที่ สกสว.จะประสานกับหน่วยงานวิจัย หรือ PMU ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งไม้ต่อในการดำเนินการผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ต่อไป หากโจทย์ใดที่ยังไม่มีงานวิจัยที่ตอบโจทย์ ทีมก็จะรับนำข้อมูลดังกล่าวไปส่งต่อให้กับฝ่ายแผนและฝ่ายงบประมาณใน สกสว. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนกรอบการวิจัยในปีถัดไปให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ ก่อนส่งไม้ต่อให้หน่วยบริหารจัดการทุนจัดสรรงบวิจัยต่อไป
รอง ผอ.ภารกิจส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว. กล่าวต่อไปถึงบริบทที่แตกต่างกันระหว่าง 3 จังหวัดนำร่อง เช่น สกลนคร มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ เรื่องดิน แต่มีสินค้าที่โดดเด่นอยู่แล้วอย่างผ้าย้อมคราม แต่ก็ติดปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะยกระดับให้ดีขึ้นได้อีก ส่วนจันทบุรี มีหมู่บ้านที่ทำประมง มีชาวสวนผลไม้ มีความต้องการแปรรูปผลไม้และสัตว์น้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร
และ กระบี่ เองก็ต้องการเพิ่มผลผลิตและแปรรูปผลผลิตปาล์มน้ำมัน การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก การเลี้ยงแพะ ซึ่ง สกสว.จะพยายามหางานวิจัยที่ตอบโจทย์ประเด็นเหล่านี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ร่วมกับ กมธ.อีกทาง ส่วนใดที่ยังต้องการการทำงานวิจัยเพิ่มเติมก็ส่งไม้ต่อให้เป็นโจทย์ของหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยต่อไป
ผศ.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์
“มีแม้กระทั่งที่เขาคุยกันแล้วเป็นต้นแบบ (Model) ที่น่าสนใจ เขาพยายามทำเศรษฐกิจใหม่ คือไม่ใช่แค่เศรษฐกิจภายในจังหวัดแต่เป็นเศรษฐกิจข้ามจังหวัด เช่น แปรรูปปลากะพง (จันทบุรี) ไปให้โรงแรมที่กระบี่ไหม? หรือเอาผลผลิตผ้าคราม
(สกลนคร) ไปรวมกับอัญมณีที่จันทบุรีไหม? หรืออะไรอย่างนี้ มันก็จะมีต้นแบบที่น่าสนใจและเป็นอะไรที่น่าติดตาม” ผศ.สุดสวาสดิ์ ยกตัวอย่างอีกข้อค้นพบ
ผศ.สุดสวาสดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าในช่วงที่เศรษฐกิจทั้งประเทศไทยและทั่วโลกยังไม่ฟื้นจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวชะลอตัว ส่งผลให้จำนวนคนตกงานเพิ่มขึ้น หลายคนตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนาบ้านเกิด การนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเข้าไปสนับสนุน ผ่านการสร้างอาชีพ หรือทำให้อาชีพเดิมที่ทำอยู่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการเหล่านี้ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ “หมู่บ้านแม่นยำ” หรือ https://www.facebook.com/moobaanmaanyaam/
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี