“ด่านตรวจ” หรือชื่อทางการว่า “จุดตรวจ-จุดสกัด” เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในป้องกันอาชญากรรมรวมถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยการเรียกตรวจค้นยานพาหนะต้องสงสัยว่าอาจมีสิ่งผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ตลอดจนผู้ขับขี่ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพยาเสพติดอย่างไรก็ตาม “ที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของการตั้งด่านในสายตาประชาชนไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะเรื่องความไม่โปร่งใส” มีรายงานร้องเรียนปรากฏอยู่เนืองๆ
ทำให้เมื่อช่วงต้นเดือนต.ค. 2563 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ “ระงับการตั้งด่าน” ไว้ก่อน เพื่อทบทวนหลักเกณฑ์ในการตั้งจุดตรวจ-จุดสกัด ให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย สามารถป้องกัน ระงับยับยั้งอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและที่สำคัญต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน กระทั่งล่าสุดในค่ำคืนวันที่4 พ.ย. 2563 “มีการสาธิตการตั้งด่านตรวจตามแนวคิดใหม่ เน้นความโปร่งใส” ณ สน.ทองหล่อ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ใน 4 สถานการณ์ คือ
1.การเรียกตรวจตามปกติทั่วไป เจ้าหน้าที่จะสอบถามว่ามาจากไหน-จะไปที่ใด ดูทะเบียนรถ และดูภายในรถว่า มีวัตถุต้องสงสัยหรือไม่ รวมถึงหากมีพฤติกรรมต้องสงสัยว่า ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ในกรณีไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ และปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็จะให้ขับขี่ยานพาหนะต่อไปได้ พร้อมขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ
2.การเรียกตรวจตามปกติทั่วไป แต่พบว่าผู้ขับขี่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะให้ขับขี่ยานพาหนะไปจอดชิดขอบทาง
ด้านซ้าย ซึ่งจะเป็นพื้นที่ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์อย่างละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันโรคติดต่อต่างๆ เจ้าหน้าที่จะต้องแสดงให้ผู้เข้ารับการตรวจเห็นว่าหลอดที่นำมาให้เป่าเพื่อตรวจวัดนั้นเป็นหลอดใหม่ด้วย โดยตามกฎหมายระบุว่า ผู้ขับขี่ยานพาหนะต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
3.การเรียกตรวจผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมา ไม่ให้ความร่วมมือและเมื่อตรวจสอบประวัติยังพบว่ามีหมายจับ ซึ่งระหว่างเข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งต้องรีบนำสิ่งของมาวางปิดกั้นเพื่อไม่ให้รถคันดังกล่าวขับหลบหนีรวมถึงป้องกันทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไปออกไม่ให้ได้รับอันตราย จากนั้นบอกให้รถคันต้องสงสัยขับชิดขอบทางด้านซ้ายที่เป็นจุดตรวจค้นโดยขั้นตอนนี้จะมีทั้งการตรวจวัดแอลกอฮอล์ พร้อมกับชี้แจงกับผู้ขับขี่ว่าหากไม่ยอมตรวจกฎหมายจะถือว่ามีความผิดฐานเมาแล้วขับโดยอัตโนมัติ
ขณะเดียวกัน เมื่อตรวจสอบประวัติพบหมายจับ เจ้าหน้าที่จะตรวจค้นยานพาหนะซ้ำอีกครั้งหนึ่งโดยผู้ขับขี่สามารถร่วมสังเกตการณ์การตรวจค้นยานพาหนะของตนได้ และ 4.การเรียกตรวจยานพาหนะต้องสงสัยว่าจะใช้ขนส่งสิ่งของผิดกฎหมายตามที่ได้รับแจ้งเบาะแส โดยเมื่อยานพาหนะเป้าหมายขับขี่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ต้องกั้นพื้นที่ไว้เพื่อไม่ให้หลบหนี อีกทั้งการเข้าไปเรียกให้ผู้ขับขี่ลงจากรถต้องดำเนินการตามหลักยุทธวิธี เพราะอาจมีการ ต่อสู้เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อผู้ขับขี่ยอมลงจากรถแล้ว ก็จะมีการตรวจค้น
อนึ่ง กรณีพบยาเสพติด ก็จะต้องตรวจสอบอีกครั้งว่า เป็นยาเสพติดของจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเคยเจอกรณียาเสพติดปลอม โดยหากเป็นยาเสพติดจริงจึงจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป รวมถึงมีการตรวจค้นรถโดยที่ผู้ขับขี่ยังได้ดูอยู่ด้วย อนึ่ง เมื่อมีการจับกุมเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา ทั้งนี้ การดำเนินการของด่านตรวจทุกขั้นตอนจะถูกบันทึกวีดีโอด้วยกล้องวงจรปิด และเก็บเป็นข้อมูลไว้ประมาณ 3 วัน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถขอดูย้อนหลัง
สำหรับ “หลักเกณฑ์การตั้งจุดตรวจ” นั้นมีอยู่ 7 ข้อ ได้แก่ 1.ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา โดยเป็นระดับผู้บังคับการ (ผบก.) ขึ้นไป 2.มีการวางแผนที่ชัดเจน เช่น สถานและเวลาที่ตั้งจุดตรวจ กำลังพลที่ใช้และผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน ซึ่งแผนต้องออกทุกๆ 7 วัน หรือ 15 วัน หรือ 1 เดือน 3.การกำหนดสถานที่ตั้งจุดตรวจต้องมาจากข้อมูล เช่น ผู้กระทำความผิด สถิติอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ สภาพการจราจรและความสะดวกของผู้ขับขี่
4.จุดตรวจต้องมีป้ายเครื่องหมาย เช่น เครื่องหมายจราจร “หยุด” และต้องแสดงป้ายยศ ชื่อ-สกุล และตำแหน่งหัวหน้าประจำจุดตรวจ พร้อมข้อความ “หากพบเห็นเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบให้แจ้งผู้บังคับการ โทร. ... หรือแจ้งร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ สายด่วน 1599” ด้วย 5.เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจทุกนาย ต้องมีกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวแบบดิจิทัลชนิดติดตัว เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดหลักโปร่งใสตรวจสอบได้
6.การจัดตั้งโต๊ะตรวจวัดแอลกอฮอล์แบบยืนยันผล ต้องเป็นพื้นที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ และมีข้อความว่า “จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ สน./สภ. ... มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวแบบดิจิทัลไว้เป็นหลักฐาน เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นมาตรฐานสากล” เพื่อป้องกันความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชน 7.หลังเสร็จสิ้นการตั้งจุดตรวจ ให้รายงานผลการปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น โดยให้หัวหน้าสถานีตำรวจจัดทำระบบเก็บไฟล์ภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นเวลา 3 วัน นับตั้งแต่วันตั้งจุดตรวจ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทางคดีสามารถตรวจสอบได้
ส่วนขั้นตอนการเรียกตรวจ ประกอบด้วย 1.การเรียกตรวจเบื้องต้น ไม่จำเป็นต้องเรียกพาหนะทุกคัน โดยเจ้าหน้าที่จะสังเกตเบื้องต้นว่าผู้ขับขี่มีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าอาจกระทำความผิด 2.การตรวจค้นตัวบุคคล เพื่อหาสิ่งของผิดกฎหมาย 3.การตรวจค้นยานพาหนะ เริ่มตรวจจากหลังรถไปหน้ารถและภายในตัวรถตามลำดับ โดยผู้ขับขี่จะได้ร่วมสังเกตการณ์ตลอดการตรวจค้น 4.การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีระบบ CRIMES on Mobile ทำให้ตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว
5.การตรวจวัดแอลกอฮอล์ ทำโดยใช้เครื่องวัดแบบมาตรฐานและผ่านการสอบเทียบค่าเรียบร้อยแล้ว 6.การจับกุม หลังตรวจค้นบุคคล-ยานพาหนะ ตรวจประวัติอาชญากรรมว่ามีหมายจับหรือไม่ และตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ หากพบการกระทำผิดเจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ และส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป และ 7.การจัดเก็บรวบรวมข้อมูล โดยเก็บข้อมูลภาพเคลื่อนไหวการปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจไว้ 3 วัน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทางคดีสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
นี่คือการเริ่มต้นที่ดีของตำรวจในการ “ปฏิรูปด่านตรวจ” แต่สิ่งที่อยากเห็นต่อไปคือ “ความต่อเนื่อง” ทั้งจุดเดิมที่ปฏิบัติอยู่แล้วก็ดำเนินการต่อไป รวมถึงขยายผลให้ครอบคลุมทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อให้ภาพลักษณ์ของด่านตรวจเป็นที่น่าไว้วางใจของประชาชน!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี