ความเศร้าโศก ความพลัดพราก และความสูญเสีย เป็นสิ่งที่ปุถุชนบนโลกนี้ต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอันปกติสุขให้เปราะบางยิ่งขึ้นด้วยแล้ว สภาพจิตใจที่มั่นคงและการรับมือกับความไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนด้วยความเข้าใจภูมิต้านทานต่อสภาวะอารมณ์และความรู้สึกเมื่อต้องสูญเสียหรือเกิดการพลัดพราก เป็นเรื่องที่สำคัญกับทุกชีวิต และสำคัญอย่างยิ่งต่อ “เด็กปฐมวัย”ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในชีวิต หากเขาเหล่านั้นไม่เข้าใจ อาจก่อให้เกิดแผลในจิตใจวันที่เขาเติบโตขึ้นมา
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานเสวนาออนไลน์“อ่านยาใจ : ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย”บทสนทนาและนิทาน สื่อเรียนรู้ความสูญเสียและปลุกพลังบวกเพื่อเด็ก ผ่านระบบ ZOOM Meeting เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจเด็กปฐมวัย โดยใช้ “หนังสือนิทาน”เป็นเครื่องมือ
ในวันที่พลัดพราก อย่าบอกให้เด็กเข้มแข็ง
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล อธิบายว่า เด็กจะไม่เข้าใจเรื่องการเสียชีวิตเหมือนผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยอายุไม่เกิน 6 ปี จะไม่เข้าใจว่าการเสียชีวิตคือการจากไปอย่างถาวร ฉะนั้นผู้ปกครองจะเข้ามามีบทบาทในการอธิบายให้เด็กรู้ และเข้าใจว่าการเสียชีวิตหมายถึงอะไร
สิ่งสำคัญคือ อย่าให้เด็กปล่อยผ่านอารมณ์ อย่าบอกให้เด็กเข้มแข็ง เพราะทางจิตวิทยาแล้ว ความรู้สึกมีทั้งแง่บวก-แง่ลบ ฉะนั้นต้องใช้โอกาสนี้ให้เด็กได้เรียนรู้อารมณ์ด้านลบ
ในกรณีที่เด็กเริ่มรู้สึกว่าไม่เหลืออะไร หรืออยากเสียชีวิตตามพ่อ-แม่ไป หรือมีอารมณ์พลุ่งพล่าน และไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติผู้ปกครองสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองเองจำเป็นต้องเยียวยาจิตใจตนเองก่อนที่จะช่วยเด็กเสมอฉะนั้นต้องกลับมาทบทวนก่อนว่าเรารู้สึกอย่างไรพร้อมหรือยังสำหรับช่วยเหลือเด็ก โดยเฉพาะในเวลาที่เด็กมาถาม ควรเล่าให้เขาฟังง่ายๆ ว่าญาติ หรือพ่อแม่ เสียชีวิตแล้ว การดูแลที่เหมาะสม หรือการใช้นิทานบอกเล่ารวมถึงสอบทานความรู้สึกเด็กอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เด็กดีขึ้น
“นิทาน” คือเครื่องมือเพื่อสอบทานความรู้สึก
ด้าน พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์เจ้าของเพจหมอแพมชวนอ่าน และกรรมการมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า นิทานและหนังสือ เป็นเครื่องมือที่จะคุยกับเด็กในเรื่องสำคัญ เราสามารถใช้นิทานเป็นการจุดประเด็นชวนคุย เพราะเมื่อใจของผู้ใหญ่และเด็กสงบแล้ว ก็จะเป็นช่วงที่อยู่ในอารมณ์ที่พร้อมจะพูดคุยก็น่าจะเป็นเวลาเหมาะสมที่จะพูดกันเชิงลึกไม่ใช่พูดท่ามกลางความวุ่นวาย เราใช้หนังสือเป็นตัวช่วยเป็นการเกริ่น ไม่ใช่บอกว่าคนนั้นตาย แต่เป็นการพูดเพื่อถามความรู้สึก ว่าเด็กต้องการความช่วยเหลือหรือไม่
พญ.ปุษยบรรพ์ ยกตัวอย่างหนังสือ “คุณตาจ๋า ลาก่อน” ที่ใช้หมีตัวใหญ่เปรียบเสมือนคุณตาที่เสียชีวิต โดยที่มีหมีตัวเล็กเปรียบเสมือนเด็กที่ไม่เข้าใจว่า คุณตาเป็นอะไร ในหนังสือยังมีตัวละครช้างที่เปรียบเสมือนผู้ใหญ่อธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่า คุณตาหมีเสียชีวิต และจะไม่ตื่นขึ้นมาอีกแล้ว ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน รวมไปถึงคอยอนุญาตให้หมีเล็กสามารถเสียใจได้อย่างเต็มที่หนังสือบอกเราว่า ไม่ว่าจะเศร้าเสียใจมากๆ แค่ไหนแต่ทุกคนทุกชีวิตจะกลับมามีชีวิตปกติ สุดท้ายเราก็ต้องใช้ชีวิตต่อไป
ผู้ใหญ่ต้องปลอบประโลมอย่างละเอียดอ่อน
นายปรีดา ปัญญาจันทร์ นักเขียน นักวาดภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็ก ในฐานะผู้สร้างสรรค์ชุดนิทาน ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย เรื่อง“ตุ๊กตาของลูก” เล่าว่า บางครั้งการสูญเสียก็เข้ามาโดยที่เด็กไม่ทันตั้งตัว สำหรับเด็กแล้ว ความสูญเสียไม่ได้หมายถึงการเสียชีวิตอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการพลัดพรากอีกด้วย ฉะนั้นหน้าที่ของผู้ใหญ่คือจะต้องมีวิธีการปลอบประโลมที่ละเอียดอ่อน หากพูดคำว่าเข้มแข็งอย่างเดียว เด็กจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเข้มแข็งในสถานการณ์แบบนี้
“ผมแต่งนิทานเรื่อง “ตุ๊กตาของลูก”ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อที่จะสื่อให้เห็นถึงการใช้ชีวิตต่อไป โดยตัวละครเด็กผู้หญิงในเรื่องจะผูกพันกับตุ๊กตาที่แม่ให้ไว้ ก่อนจะมาถึงช่วงที่แม่เสียชีวิต ซึ่งจะเป็นการเล่าผ่านจินตนาการของเด็กที่เมื่อโศกเศร้าก็จะมีตุ๊กตาคอยเช็ดน้ำตา เพราะเด็กมองว่าตุ๊กตาคือตัวแทนของแม่ สามารถดูแลจิตใจได้” นายปรีดา อธิบาย
อย่าพูดเสริมขณะอ่านนิทานให้เด็ก
อีกหนึ่งนิทานยาใจภูมิคุ้มใจของเด็กปฐมวัย เรื่อง“หางตุ้มกับหูตั้ง”ผลงานของ น.ส.ระพีพรรณ พัฒนาเวช นักเขียน บรรณาธิการอิสระและกรรมการมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่เขียนขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับเด็ก และยังได้สอดแทรกกิจกรรมท้ายเล่ม เพื่อให้ครู หรือพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง สามารถทำกิจกรรมต่อเนื่องกับเด็กได้ โดย น.ส.ระพีพรรณ แนะนำว่า สำหรับการอ่านหนังสือคือ ควรเลือกให้เหมาะกับวัยของเด็ก และควรอ่านตามตัวหนังสือรวดเดียวโดยที่ไม่แต่งเติมหรือพูดเสริมในขณะที่กำลังเล่า เนื่องจากการพูดแทรก อธิบาย หรือพูดสอนระหว่างอ่าน อาจจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ต่อเนื่อง ไม่รู้เรื่องราว เพราะมัวแต่คิดตอบคำถาม กลายเป็นว่าเด็กจะฟังนิทานด้วยความกังวล และจะรู้สึกว่าหนังสือไม่ต่อเนื่องกัน เพราะถูกหยุด ไม่เห็นภาพ เพราะการอ่านตามตัวหนังสือ เด็กได้เห็นตัวอย่างที่ดีในการอ่าน ได้เห็นการทำงานของตัวหนังสือ
“อ่านไป-ถามไป” ยิ่งทำให้เด็กหวาดกลัว
ดร.รังรอง สมมิตร อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวในหัวข้อ “เสริมพลังใจ ปลุกพลังบวกด้วยหนังสือ” ว่า หนังสือทำให้เด็กเรียนรู้อารมณ์ที่หลากหลายผ่านความรู้สึกตัวละคร โดยเฉพาะหนังสือภาพที่ขยายพรมแดนให้เด็กได้เรียนรู้มากขึ้น และทำให้เห็นถึงอาหารใจ ที่จะเข้าไปหล่อเลี้ยงจิตใจผ่านรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ในหนังสือ ขณะเดียวกัน หากใช้หนังสือในทางที่ผิด ก็อาจจะทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวมากกว่าการได้พลังใจ เช่น การอ่านหนังสือและตั้งคำถามให้เด็กตอบ เพราะเด็กจะรู้สึกกังวลในการตอบคำถามมากกว่าจดจ่อกับเนื้อเรื่อง ฉะนั้น ให้เด็กได้แชร์ความรู้สึกก็จะดีกว่า ความสม่ำเสมอในการอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง อ่านหลายครั้งหลายวัน อาหารใจจะส่งต่อถึงเด็กได้ หนังสือไม่ได้ทำแค่เพียงแค่ให้การเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังนำความรู้สึกต่างๆ ให้เด็กด้วย เช่น ความรัก การเห็นคุณค่าในตัวเอง การเชื่อมโยงกับธรรมชาติและผู้อื่น รวมไปถึงการชื่นชมตัวเอง
สร้างความกรุณาต่อตัวเอง ก่อนดูแลเด็ก
นายวิเศษ บำรุงวงศ์ นักจัดกระบวนการ จาก ธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า Resilience หรือภูมิคุ้มใจ มีหลากหลายมิติ เช่น ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ บางที่จะใช้แทนคำว่ายืดหยุ่น หรือฟื้นคืน แต่ความหมายเหมือนกัน เพราะทักษะพื้นฐานของ Resilience คือ เมื่อเวลาเจอวิกฤตจะสามารถลุกเดินต่อไปได้ และทักษะนี้จะไม่ได้ใช้เลย หากไม่มีวิกฤตเกิดขึ้นในสมองจะมีเซลล์ประสาทที่เรียกว่ากระจกเงา เมื่อคนรอบข้างแสดงอารมณ์อย่างไร ตนเองก็เกิดอารมณ์นั้นตามไปด้วย Self-Compassion หรือความกรุณาต่อตนเอง เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้สามารถดูแลอารมณ์ของตนเองได้มี 3 องค์ประกอบ คือ 1. Mindfulness ความสามารถดึงตนเองกลับมาได้ 2.ทุกคนต่างเป็นมนุษย์ร่วมกัน เป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ความรู้สึก และ 3.ความใจดีต่อตนเองที่มีอยู่ในตัว
เด็กต้องการคนที่ยอมรับอารมณ์เขาได้
นางกรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้บริหารโรงเรียนจิตตเมตต์ กล่าวถึง “การสานพลังการอ่านสร้างทักษะ Resilience kid”โดยยกตัวอย่างหนังสือนิทานที่ช่วยฟูมฟักความรู้สึกเด็กได้เป็นอย่างดี โดยระบุว่า “หนังสือนิทานเป็นได้ทั้งยาและวิตามิน สามารถเป็นสิ่งที่สร้างเสริมให้จิตใจของเด็กแข็งแกร่งได้ แม้ว่าเด็กอาจจะยังไม่ได้เผชิญปัญหาก็ตาม จากตัวอย่างหนังสือ “ฉันชอบตัวเองจังเลย” ที่พูดถึงการภูมิใจในตัวเอง ทำให้มีความรู้สึกฮึกเหิม ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้เด็กสามารถแข็งแกร่งได้ด้วยความภูมิใจเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นความเป็น Resilience หมายความว่าต้องเริ่มแกร่งตั้งแต่ภายในจิตใจเริ่มจากตัวของเด็กอย่างไรก็ดี หากเด็กต้องเผชิญกับความสูญเสียและความเศร้า เขาไม่ได้ต้องการแค่คนสอนแต่ต้องการคนที่มีความเข้าใจ ยอมรับในอารมณ์และสนับสนุนความรู้สึกนั้นได้”
นางกรองทอง ยกตัวอย่างหนังสือ “ถ้วยฟูไม่อยากเศร้า”ว่า ได้พูดถึงตัวละครที่มีการสูญเสีย แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนคอยเข้ามาปลอบและพร้อมจะรับฟัง หนังสือจะอธิบายกับเด็กว่า ทุกอย่างจะดีขึ้น แม้ต้องเผชิญกับความเศร้า แต่ก็มีความหวังอยู่ข้างหน้า และเด็กก็จะเห็นแสงสว่างของอนาคต ซึ่งเป็นหนังสือที่สามารถใช้เยียวยาจิตใจเด็กได้เป็นอย่างดี
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครอง และผู้แวดล้อมเด็กปฐมวัย ทั้งครูพี่เลี้ยง ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯลฯ ได้มีสื่อและกระบวนการที่สามารถพูดคุยและปลุกพลังบวกเพื่อเด็กเล็กไปพร้อมๆ กับการปลุกพลังบวกของตัวเอง ในสถานการณ์โควิด-19 ที่เรายังต้องเผชิญความยากลำบากกันอีกระยะหนึ่ง
ผู้ที่สนใจสามารถเปิดอ่านและดาวน์โหลดหนังสือเรื่อง “ตุ๊กตาของลูก”และ “หางตุ้มกับหูตั้ง” ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่เว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ www.earlychildhoodbookbank.com และเว็บไซต์มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน www.happyreading.in.thส่วนหนังสือเล่มอื่นๆ ที่น่าสนใจ สามารถติดต่อตรงทางสำนักพิมพ์ห้องสมุดที่เปิดบริการหรือติดต่อศูนย์หนังสือจุฬาฯ 0-2255-4433