วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
'พระอาจารย์บัว' นิมนต์ 'พระอาจารย์เจี๊ยะ' มาอยู่เป็นเจ้าอาวาส 'วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม'

'พระอาจารย์บัว' นิมนต์ 'พระอาจารย์เจี๊ยะ' มาอยู่เป็นเจ้าอาวาส 'วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม'

วันจันทร์ ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565, 18.22 น.
Tag : หลวงปู่มั่น หลวงปู่เจี๊ยะ พ่อท่านลี หลวงปู่ขาว ภาวนา พุทโธ ผ้าขี้ริ้วห่อทอง
  •  

(ต่อจากตอนที่แล้ว) วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม บ้านคลองสระ ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ภายในขอบเขตแห่งขัณฑสีมา อารามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยคณะศรัทธาได้ถวายที่ดินแก่ พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน พระอาจารย์บัวได้นิมนต์พระอาจารย์เจี๊ยะมาอยู่เป็นเจ้าอาวาส

จากท้องทุ่งป่าสนใบดกหนาสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ รายรอบด้วยทุ่งนาเขียวขจี ได้กลายเป็นอารามป่ากรรมฐานใกล้เมืองกรุงฯ ที่ร่มรื่นอบอวลไปด้วยกลิ่นศีลธรรมของสมณศิษย์กรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น และกลิ่นแมกไม้นานาพันธุ์น้อยใหญ่ที่ปลูกขึ้นรายรอบ ทั่วบริเวณเนื้อที่ ๑๔๖ ไร่ ๓ งาน ๘๘ ตารางวา 


วัดป่าภูริทัตตปฏิปทารามแห่งนี้ คือ สถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นประดุจมรดกที่พระอาจารย์เจี๊ยะทิ้งไว้ให้แก่ศาสนิกชนคนรุ่นหลัง ณ สถานที่แห่งนี้ พระอาจารย์เจี๊ยะได้สร้างอนุสรณ์สถาน ถวายเป็นอาจาริยบูชาแด่พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์กรรมฐาน คือ “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” ผู้ซึ่งมีบุญคุณล้นเกล้าและเป็นที่เคารพรักอย่างยอดยิ่ง ด้วยการสร้างภูริทัตตเจดีย์ บรรจุพระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น

ที่ศาลาวัดป่าภูริทัตตปฏิปทารามนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ภาพบูชาของพระบูรพาจารย์ ได้แก่ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ตื้อ อจลธัมโม พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ขาว อนาลโย ท่านพ่อลี ธัมมธโร

ด้านข้างศาลามีโรงไฟ สำหรับซักย้อมจีวร ฉันน้ำปานะ ฯลฯ ถัดจากนั้นไปทางด้านทิศใต้เป็นที่อยู่ของพระภิกษุ ทางด้านทิศตะวันออกเป็นโรงครัวและเขตอุบาสิกาที่เข้ามาพักปฏิบัติธรรม

ด้านหน้าศาลาเป็นที่ตั้งของภูริทัตตเจดีย์ เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมสร้างด้วยหินอ่อน ภายในปูด้วยหินแกรนิต ยอดทำด้วยทองคำ อันงามสง่าควรค่าแก่การบูชาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มีหินแกะสลักรูปพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และของพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท ที่ลูกศิษย์สร้างถวาย

ตามเอกสารที่ใช้อ้างอิง ในขณะนั้นมีพระสงฆ์มาจำพรรษาอยู่กว่า ๓๐ รูป ต่างผลัดเวรกันมาดูแลทำความสะอาด พระรูปใดที่ไม่มีหน้าที่ หลังจากฉันเช้าเสร็จแล้วจะไปปฏิบัติธรรมอยู่ในกุฏิที่ปลูกอย่างเรียบง่ายในป่า ห่างกันพอประมาณ

กุฏิสงฆ์ภายในวัดแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ๑. กุฏิแบบถาวร เพื่อต้อนรับพระเถระที่ชราภาพ และสำหรับพักฟื้นพระอาพาธ ที่เดินทางจากต่างจังหวัดมารับการรักษาที่กรุงเทพฯ ๒. กุฏิแบบเรียบงาย พอแกการบังแดด ลม ฝน ขนาดกว้างยาวเพียงพอแก่การอยู่เพียงรูปเดียว ฝาผนังใช้ผ้าจีวรเก่ากางกั้น น่าศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง

ทุกกุฏิจะมีทางจงกรม อย่างน้อย ๑ เส้น ยาวประมาณ ๒๕ ก้าว อยู่ใต้ร่มไม้สนดูร่มเย็นเป็นลานทางปราบกิเลสตัวขี้เกียจขี้คร้าน

อานิสงส์ของการเดินจงกรม คือ (๑) ทนต่อการเดินทางไกล (๒) ทนต่อการบำเพ็ญเพียร (๓) มีอาพาธน้อย (๔) ย่อยอาหารได้ดี (๕) ทำสมาธิได้นาน

กุฏิแต่ละหลังห่างกันพอประมาณ มีคูน้ำกางกั้น เพื่อให้สัปปายะเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม...เพื่อพบอริยธรรม 

กิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ที่นี่ คือ ยามเช้าก่อนออกบิณฑบาต พระภิกษุสามเณรขัดถูปัดกวาดศาลาและบริเวณรอบๆ ส่วนพระคิลานุปัฏฐากประมาณ ๘ รูป ก็ผลัดเปลี่ยนกันดูแลพระอาจารย์เจี๊ยะในยามอาพาธ มิให้ขาดตกบกพร่อง

ในเวลาบ่ายโมง พระเณรทั้งหมดมารวมฉันน้ำปานะ บ่ายสามโมงเย็น ทำข้อวัตรปัดกวาดเสนาสนะ ขัดถูกุฏิศาลา บริเวณวัด หน้าวัด ทำความสะอาดห้องน้ำห้องส้วมอย่างพร้อมเพรียงกัน

และกิจวัตรประจำวันที่สำคัญยิ่ง คือการนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรมสร้างสติปัญญามีความเพียรกล้า หาทางแผดเผากิเลสด้วยวิธีการต่างๆ ตามที่พระอาจารย์เจี๊ยะสั่งสอน เพื่อดับไฟคือความรุ่มร้อนกระวนกระวายภายในจิตใจให้เหือดแห้งไป

พระอาจารย์เจี๊ยะท่านจะสอนพระเณรอยู่เสมอว่า “...พระหัวโล้นๆ ถ้าสั่งสมจีวรสังฆาฏิ ข้าว น้ำ อาหาร ฯลฯ ไว้มากๆ เท่ากับพยายามสั่งสมข้าศึกให้กับตัวเอง ชีวิตพระควรอยู่อย่างบางเบา ไม่ควรมีอะไรเป็นเครื่องกังวล การภาวนาฆ่ากิเลสให้ตายไปจากใจสำคัญที่สุด”

เมื่อพระอาจารย์เจี๊ยะ หรือพระครูสุทธิธรรมรังษี ได้ปฏิบัติพัฒนาวัดจนเป็นที่เจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับเลื่อนเป็นพระครูชั้นเอก เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ท่านอยู่จำพรรษาที่นี่ตั้งแต่พรรษาที่ ๔๘-๖๘ พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๔๗ จวบจนมรณภาพ

*พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน ชมเชยคุณธรรม พระอาจารย์บัวได้เล่าเรื่องสร้างวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม และชมเชยในคุณธรรมพระอาจารย์เจี๊ยะไว้ว่า... เริ่มแรกทีเดียว พี่ชายของท่านนพดล (พระอาจารย์นพดล นันทโน) ได้ถวายที่ให้เราสร้างวัด มองหาใครที่จะมารับภาระให้เป็นที่แนใจตายใจ ก็มองเห็นแต่ท่านอาจารย์เจี๊ยะเท่านั้น จึงไปนิมนต์ท่าน

พูดเหตุผลให้ท่านอาจารย์เจี๊ยะฟังว่า “เพราะวัดนี้ต่อไปจะเป็นวัดที่แน่นหนามั่นคง จึงควรมีครูบาอาจารย์ที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์มาอยู่ ก็มองเห็นแต่ท่านอาจารย์เท่านั้นล่ะ จะพอสงเคราะห์กันได้มั้ย? ญาติโยมแถวนี้ ย่านนี้ เป็นย่านที่พอเหมาะพอดี” เมื่อเรานิมนต์ ท่านก็รับด้วยดีนะ

ท่านอาจารย์เจี๊ยะทางด้านจิตใจท่านดี ดีมาตั้งแต่บวชทีแรก พูดถึงธรรมภายในท่าน ท่านดีไม่ใช่ธรรมดา แต่กิริยาภายนอกท่านก็อย่างนั้นแหละ เราจึงบอกเฉพาะในวงศ์ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด ที่ไว้ใจได้เพราะภายนอกกับภายในไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนเราไม่เหมือนกัน

แล้วพระอาจารย์บัวจึงได้กล่าวเตือนบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายว่า อย่าไปมองท่านผิดนะ เพราะเรากับท่านอยู่ด้วยกันมานาน รู้กันทุกสิ่งทุกอย่างกับอาจารย์เจี๊ยะ แต่กิริยาภายนอกท่านก็เป็นของท่านอย่างนั้น อย่าดูท่านแบบผิวเผิน อย่าคิดตำหนิ ว่าทำไมพระถึงเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเป็นอกุศลกับตัวเองนะ

อาจารย์เจี๊ยะ สิ่งภายนอกนี้ทำให้คนรู้สึกไปในทางลบได้ กิริยาท่านภายนอก ท่านว่าอะไรตรงไปตรงมา ก็ท่านเป็นคนจีน เข้าใจมั้ย?...(หัวเราะ) บ๊งเบ๊งๆ อย่างนั้นนะ แต่เวลาเอาภายใน ไม่มีใครเอาละเอียดเท่าท่านนะ เรื่องความละเอียดภายในไม่มีใครสู้ท่าน

*ผู้รักษาบริขารพระอาจารย์มั่นได้อย่างเยี่ยมยอด

พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน ได้เมตตาเล่า เรื่องการดูแลรักษาบริขารของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งพระอาจารย์เจี๊ยะนี่เองเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ท่านเล่าว่า บริขารของพ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นเรียบร้อย ใครไปแตะไม่ได้นะ ใครไปแตะท่านรู้ทันที ผิดนิดหนึ่งท่านรู้ “ใครๆ มาทำนี้วะ” ขึ้นเลย คือไปผิดของท่าน ท่านทำไว้เรียบร้อยทุกอย่างนะ เราเองยังไม่กล้าเข้าไปแตะอะไรที่ท่านอาจารย์เจี๊ยะไปทำไว้แล้ว เราไม่เข้าไปแตะเลยนะ เพราะเราสู้ท่านไม่ได้ว่างั้นเถอะ ไม่เห็นพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นได้ตำหนิตรงไหน 

เพราะฉะนั้นอาจารย์เจี๊ยะจึงเป็นลูกศิษย์พ่อแม่ครูอาจารย์ พูดให้ตรงๆ ไปเลยว่า เป็น ลูกศิษย์ก้นกุฏิหลวงปู่มั่นก็คืออาจารย์เจี๊ยะนี่องค์หนึ่ง โอ...ท่านเมตตามากนะ เวลาท่านปฏิบัติต่อท่านอาจารย์เจี๊ยะนี่ก็แบบเดียวกัน กับอาจารย์เจี๊ยะนี่ท่านจะไม่พูดธรรมดาละ บ๊งเบ๊งใส่กันเลยแต่เมตตามากนะ

จากนั้นอาจารย์เจี๊ยะก็มาจำพรรษากับเราในฐานะเป็นเพื่อน ไม่ใช่ฐานะครูฐานะอาจารย์ด้วยกัน ที่วัดป่าบ้านตาด ฐานะเป็นเพื่อนฝูง จำพรรษาด้วยกันที่วัดป่าบ้านตาด เพราะฉะนั้นจึงรู้นิสัยท่านได้ดีทุกอย่าง นิสัยท่านภายนอกไม่น่าดู แต่ภายในละเอียดลออมากนะ เพราะนิสัยวาสนาไม่มีใครละได้ นอกจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น พระองค์ทรงละขาด ไม่นำกิริยาของโลกมาใช้เลย

ส่วนนอกนั้นใครจริตนิสัยเป็นอย่างไร จริตนิสัยนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะภายในจิตใจเท่านั้น คือ มีกิเลสอยู่ภายในเท่าใดก็ชำระสะสางกันไป จนถึงขั้นบริสุทธิ์ บริสุทธิ์แล้วกิริยานี้ก็เหมือนเดิม

*ปฏิปทาเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

แรกเริ่มทีเดียวมีกระต๊อบหลังเล็กๆ มุงด้วยหญ้าคา มีจีวรผืนเก่ากั้นเป็นห้อง เป็นที่หลบแดด หลบฝน เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน มีเตียงทำด้วยไม้ไผ่ทำเป็นที่ฉันและที่นอนใต้ร่มไม้สน ด้านหลังมีคลองน้ำเป็นเขตแดน ท่านอาจารย์เจี๊ยะอยู่แต่เพียงเดียวดายไม่ค่อยมีลูกศิษย์ แม้แต่คนถิ่นแถวนั้นก็ไม่ค่อยรู้จักท่าน

การก่อสร้างวัดของท่าน เมื่อเห็นสิ่งของ เช่น เศษไม้ เศษสังกะสีเก่าๆ เป็นต้น ที่คนเขาทิ้ง ท่านก็จะขอบิณฑบาตมาสร้างกุฏิที่พัก ท่านมัธยัสถ์มากเห็นคุณค่าแห่งของทุกสิ่ง เก็บหอมรอมริบสม่ำเสมอ ทำงานทั้งวัน ตีเหล็กตีขวาน ทุบหิน จนบางครั้งพระลูกศิษย์บางรูปไม่เข้าใจต้องเข้ามากราบเรียนถามท่านว่า “หลวงปู่ ผมไม่เข้าใจหลวงปู่เลย ทำไมหลวงปู่ต้องทำอย่างนี้ ต้องทำขนาดนี้ ต้องเป็นอย่างนี้”

“เฮ้ย!..มันเข้าใจง่ายๆ ซะที่ไหน ผมอยู่กับปู่มั่น บางทีผมก็ยังไม่เข้าใจเลย ต้องพยายามเข้าใจ เดี๋ยวจะเข้าใจเอง”

ท่านตอบห้วนๆ แล้วจึงตีขวานต่อเสียงดังเพ้ง! เพ้ง! เพ้ง!... และสอนลูกศิษย์ต่อว่า “ในสมัยที่ผมอยู่กับหลวงปู่มั่น ผมต้องอดทนมาก ผมเป็นคนกินยาก แสลงเรื่องอาหาร ผมอยู่กับท่านสามปี สี่แล้ง กินแต่ข้าวเหนียวกับกล้วย อาหารอย่างอื่นมี แต่ผมกินไม่ได้ ถ้าไม่มีกล้วยผมต้องกินแต่ข้าวเปล่าๆ ทำให้ท้องอืด ไม่ถ่าย อากาศก็หนาวเหน็บถึงกระดูก ตามแขนตามขาผิวแห้งไปหมด ไปขอยากับหลวงปู่มั่นก็ไม่มี เมื่อไม่มียาท้องอืดจะตาย ผมใช้นิ้วล้วงลงไปในลำคอลึก ๆ เพื่อให้อาเจียนออกมา จะได้สบายท้อง นิ้วมือนี้แหละเป็นยา ผมยังไม่เคยบ่น เรื่องนี้มีแต่ท่านอาจารย์มหาบัวรู้ คนอื่นไม่รู้ ผมยังไม่เห็นตายเลย”

พระลูกศิษย์ที่ติดตามท่านมานานๆ บางองค์ก็น้อยใจในวาสนาอาจารย์ของตนว่า “อาจารย์ของเรานี่ เป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น แต่เวลาเดินทางไปไหนก็ไปสิบล้อ โบกสิบล้อไป หลวงปู่สิม หลวงปู่ชอบ หลวงปู่สาม หรือพระกรรมฐานรุ่นหลังๆ ไปไหนมีรถเก๋งมารับ ถูกนิมนต์ให้ไปเจิมแอร์สยาม รถเบนซ์ รถไฟ ฯลฯ มีคุณหญิงคุณนายนับหน้าถือตา อาจารย์ของเราช่างด้อยวาสนาเสียจริงๆ โบกขึ้นแต่รถสิบล้อ อาจารย์องค์อื่นถูกนิมนต์ไปฉันบ้านนายพล บ้านคุณนาย อาจารย์ของเราพาฉันแต่น้ำพริกกุ้งแห้ง แถมยังยกเว้นกะปิอีก (ท่านแพ้กะปิ) น้ำพริกปลาทูก็ไม่ให้ใส่กะปิ

บางทีเพื่อนพระที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์อื่นๆ เขาก็ล้อว่า‘พวกท่านมีอาจารย์กับเขาทั้งที มักไม่เหมือนคนอื่นเขาน้อ!’ก็ได้แต่ทำไว้ในใจว่า ‘เอาละวะ ถึงท่านจะเป็นอย่างไรก็ตาม เรา (ลูกศิษย์) ก็มั่นใจในคุณธรรมของท่าน แม้หลวงตาบัวยังชมท่านไม่ขาดปากว่า เป็นผ้าขี้ริ้วท่อทอง’ ”

หลวงปู่เจี๊ยะเมื่อเห็นศิษย์คิดอย่างนั้น ท่านก็สอนเป็นธรรมะไพเราะเคาะสนิมใจให้ศิษย์รื่นเริงในธรรมบ้างว่า “ท่าน...ธรรมดาว่าชาวนาไม่มีข้าวกิน ย่อมไม่มี... คนดีย่อมไม่มีสิ่งชั่ว... คนใบ้ ย่อมไม่ไปทะเลาะกับคนอื่น... คนตื่น ย่อมไม่มีภัย... คนที่ใจฝึกมาดีย่อมไม่มีไหวหวั่น อยู่ได้ทุกที่ ขี้ได้ทุกทาง”

............................

ตามรอยพระอริยะเจ้า! "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขื้ริ้วห่อทอง คัดลอกจากหนังสือ "ตามรอยพระอริยเจ้าหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี" ท่านคือสมณะสงฆ์สายป่าผู้เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทองของแม่ทัพกรรมฐานแห่งสยาม : ดำรงธรรม เรียบเรียง

(ติดตามตอนต่อไป) - 003

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • การทำสมาธิ ทำให้จิตแก่กล้า มีอานิสงส์มากมาย : พระธรรมเทศนา \'หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี\' การทำสมาธิ ทำให้จิตแก่กล้า มีอานิสงส์มากมาย : พระธรรมเทศนา 'หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี'
  • \'อยากดูหน้าตาของความดี อยากดูหน้าตาของความชั่ว\' ก็จงส่องกระจกดูหน้าของตัวเราเอง 'อยากดูหน้าตาของความดี อยากดูหน้าตาของความชั่ว' ก็จงส่องกระจกดูหน้าของตัวเราเอง
  • \'ให้ทำประโยชน์ของตนเสียก่อน แล้วจึงค่อยทำประโยชน์อื่น\'โอวาทธรรม\'หลวงปู่ขาว อนาลโย\' 'ให้ทำประโยชน์ของตนเสียก่อน แล้วจึงค่อยทำประโยชน์อื่น'โอวาทธรรม'หลวงปู่ขาว อนาลโย'
  • \'การนั่งสมาธิ\' พระธรรมเทศนา \'หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก\' 'การนั่งสมาธิ' พระธรรมเทศนา 'หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก'
  • \'ชาติหน้าไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะเป็นเช่นไร\' พระคติธรรม \'สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ\' 'ชาติหน้าไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะเป็นเช่นไร' พระคติธรรม 'สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ'
  • \'หลวงปู่ขาว อนาลโย\' ตอบปัญหาธรรม \'บุญ บาป นรก สวรรค์ นิพพาน มีจริงหรือไม่\' 'หลวงปู่ขาว อนาลโย' ตอบปัญหาธรรม 'บุญ บาป นรก สวรรค์ นิพพาน มีจริงหรือไม่'
  •  

Breaking News

เศร้า! ช้างป่ากุยบุรีขาเจ็บล้มแล้ว สะเทือนใจผลชันสูตร

ศรีสะเกษดัน 'ส้มโอบ้านตาด' เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จัดงานใหญ่ 14-16 พ.ค.

ประเดิมคนแรก! 'กกต.-ดีเอสไอ'แปะหมายหน้าประตูห้อง'สว.อลงกต'

ชาวนาบุรีรัมย์ถือฤกษ์ดี ‘วันพืชมงคล’ เริ่มไถนาเพาะปลูกข้าว-เชื่อผลผลิตเจริญงอกงามดี

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved