ความประสงค์ของผู้ทำสมาธิว่าจะทำสมาธิเพื่ออะไร แยกตามกิเลสของคน บางท่านทำสมาธิเพื่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ บางท่านทำสมาธิไม่ต้องการอะไร ขอให้จิตสงบ ให้รู้ความจริงของจิตเมื่อประสบกับอารมณ์อะไรเกิดขึ้น เพื่อจะอ่านจริตของเราให้รู้ว่าเราเป็น ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต วิตกจริต พุทธจริต ศรัทธาจริต อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจะดูให้รู้แจ้ง เพื่อจะเป็นพื้นฐานที่เราจะแก้ไขดัดแปลงจิตของเรา เมื่อเรารู้ชัดลงไปแล้ว เรามีกิเลสตัวไหน เป็นจริตประเภทไหน เราจะได้แก้ไขดัดแปลงตัดทอนสิ่งที่เกินแล้ว เพิ่มสิ่งที่หย่อนให้อยู่ในระดับพอดีพองาม เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา
สมาธิอย่างหนึ่ง เราฝึกเพื่อให้มีสติสัมปชัญญะรู้ทันเหตุการณ์นั้นๆ ในขณะปัจจุบัน สมาธิบางอย่าง เราปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ความเห็นภายในจิต เช่น รู้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ รู้เรื่องอดีต อนาคต รู้อดีตหมายถึงรู้ชาติในอดีตว่าเราเกิดเป็นอะไร รู้อนาคตหมายถึงว่าเมื่อเราตายไปแล้วเราจะไปเป็นอะไร อันนี้เป็นการปฏิบัติเพื่อรู้
ทีนี้เมื่อมาพิจารณากันจริงๆ อดีตเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว อนาคตก็เป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ดังนั้นเรามาสนใจอยู่ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันดีไหม
ในการปฏิบัติ ถ้าจะว่ากันโดยสรุปแล้ว เราต้องการสร้างสติให้เป็นมหาสติ เป็นสติพละ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติวินโย ไม่ได้มุ่งถึงสิ่งที่เราจะรู้เห็นในสมาธิ ที่ครูบาอาจารย์สอนว่า ทำกรรมฐานไปโน่นเห็นนี่ นี่มันใช้ไม่ได้ ให้มันเห็นใจเราเองซิ อย่าไปเข้าใจว่าทำสมาธิแล้วต้องเห็นนรก ต้องเห็นสวรรค์ ต้องเห็นอะไรต่อมิอะไร สิ่งที่เราเห็นในสมาธิมันไม่ผิดกันกับที่เรานอนหลับแล้วฝันไป แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ต้องเห็นนี่ คือเห็นกายของเรา เห็นใจของเรา
การภาวนาแม้จะเห็นนิมิตต่างๆ ในสมาธิ หรือรู้ธรรมะซึ่งผุดขึ้นเป็นอุทานธรรม สิ่งนั้นไม่ใช่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่เราเอาเก็บเอาผลงานที่เราปฏิบัติได้ เพราะสิ่งนั้น เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้นในสมาธิ และเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาที่เกิดขึ้นในสมาธิ ซึ่งเรียกว่า สมาธิปัญญา
พลังของสมาธิสามารถทำให้เกิดปัญญา เกิดความรู้เห็นอะไรต่างๆ แปลกๆ สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็เห็น แต่สิ่งนั้นพึงทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ของดีที่จะเก็บเอาไว้เป็นสมบัติ ให้กำหนดเป็นเพียงแต่ว่า สิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เป็นอุบายสร้างสติให้เป็นมหาสติ
หลักของพระพุทธศาสนา เราจะสรุปลงสั้นๆ ว่า เราทำสมาธิเพื่ออะไร
๑. เราทำสมาธิเพื่อให้จิตของเราสงบเป็นสมาธิ เกิดความมั่นคง สามารถที่จะต้านทานต่ออารมณ์ที่มากระทบไม่ให้เกิดความหวั่นไหว
๒. เมื่อจิตของเราสงบเป็นสมาธิปราศจากอารมณ์ เราจะได้รู้สภาพความเป็นจริงของจิตของเราที่ไม่มีอารมณ์นั้นเป็นอย่างไร เมื่อมันออกมารับรู้อารมณ์แล้ว
เมื่อเรารู้ความเป็นจริงของจิตของเรา เมื่อจิตอยู่ว่างๆ ไม่มีอารมณ์ มันสบายหรือไม่ มีความสุขหรือไม่ รู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น เราทุกข์หรือไม่ เราเดือดร้อนหรือไม่ ต้องอ่านจิตของเราก่อน
ในขั้นตอนต่อไป เราสามารถที่จะทำจิตของเรานี้ให้ดำรงอยู่ในความอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งอื่นใด เมื่อเราได้ทำไปเรื่อยๆ ถ้าหากว่าเรายังมีความคิดว่า การทำสมาธิต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้วิเศษเข้ามาช่วยดลจิตให้ดำเนินเข้าไปสู่ความสงบสุข เข้าไปสู่พระนิพพาน ก็เป็นการเข้าใจผิด และผิดหลักของพระพุทธศาสนา
ดังนั้น ที่เรามาฝึกสมาธินี่ เพื่อให้จิตมีสมาธิ และจิตมีพลังเข้มแข็งมีสติขึ้นโดยลำดับ และเรายังมีภาระที่จะต้องฝึกสติและสมาธินี้ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลำดับๆ จนกว่าเราจะจบการศึกษา เมื่อจบการศึกษาแล้ว เรายังจะได้ใช้กำลังสมาธิและพลังสติไปประกอบการงานตามหน้าที่ของตนๆ เราจะต้องใช้สมาธิและสติทั้งนั้น
ทีนี้ สติ แปลว่า ความระลึก เมื่อเราตั้งใจนึกถึงสิ่งใดอย่างแน่วแน่ ความระลึกเป็นอาการของสติ ความแน่วแน่เป็นกำลังของสมาธิ มันไปพร้อมๆ กัน ทีนี้เราจะมีสมาธิและสติเข้มแข็ง เราต้องใช้การฝึก เพราะครูบาอาจารย์ทั้งหลายมองเห็นผลประโยชน์ดังที่กล่าวมา ท่านจึงได้นำพวกเรามาฝึกอบรมสมาธิ
เคล็ดลับการใช้สมาธิช่วยให้เรียนเก่ง
นักศึกษาซึ่งอยู่ในวัยกำลังศึกษา ถ้าหากตั้งใจปฏิบัติสมาธิพิจารณาธรรมก็ให้ยกเอาวิชาความรู้ที่เราเรียนมา ในชั้นของเรานั่นแหละมาเป็นอารมณ์พิจารณา เราเรียนมาทางวิทยาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือศาสตร์อะไรก็ตาม อย่างวันนี้ไปโรงเรียนมา อาจารย์สอนอะไรมา พอกลับมาถึงที่พัก อาบน้ำ รับประทานอาหาร อ่านหนังสือดูตำรับตำรา ก่อนนอนไหว้พระ นั่งสมาธิ
เวลาเรานั่งสมาธิ ให้พยายามคิดทบทวนความรู้ที่เรียนมาแต่ละวันๆ เพื่อจะให้เรารู้ได้ว่าวันนี้เราจำได้กี่มากน้อย เอาหลักวิชาที่เราเรียนมานั่นแหละ เป็นอารมณ์จิตในการพิจารณา อย่าไปเข้าใจว่าเอาสิ่งนั้นมาพิจารณาแล้ว จิตออกนอกลู่นอกทาง ไม่ใช่อย่างนั้น แม้แต่ว่าเราตั้งใจปฏิบัติสมาธิเอาสิ่งอื่นเป็นอารมณ์ เช่น บริกรรมภาวนา เป็นต้น เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิ ตามธรรมชาติแล้ว จิตของเราหนักอยู่ในแง่ไหน ผูกพันอยู่กับเรื่องอะไร มันจะวิ่งไปหาสิ่งนั้น แล้วจะไปคิดปรุงแต่งวิจัยอยู่ในสิ่งนั้นๆ อันนี้หมายถึงสมาธิที่เป็นเองโดยอัตโนมัติ มันจะเป็นเช่นนั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น เราอย่าไปเข้าใจผิดว่าจิตมันฟุ้งซ่านหรือว่าออกนอกลู่นอกทาง เพราะคำว่า สภาวธรรม หมายถึง กายกับใจของเรา สิ่งที่เราสามารถรับรู้ได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รวมทั้งธุรกิจการงานอันเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน การศึกษาวิชาความรู้ที่เราเรียนมานั้นๆ อันนี้เป็นอารมณ์จิตของผู้ปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ
ถ้าเราดำเนินการปฏิบัติดังที่กล่าวนี้ สมาธิกับงานของเราจะมีความสัมพันธ์กัน แล้วเราจะรู้สึกว่าโอกาสที่เราปฏิบิติสมาธิมันจะไม่มีอุปสรรคขัดข้อง เพราะว่าเราเอาทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอารมณ์จิตในการภาวนาได้ เช่นอย่างเวลานักศึกษาจะปฏิบัติสมาธิในห้องเรียน พออาจารย์มายืนที่หน้าห้อง เรามองจ้องไปที่ตัวอาจารย์ ส่งจิตไปรวมไว้ที่ตัวอาจารย์มายืนที่หน้าห้อง เรามองจ้องไปที่ตัวอาจารย์ ส่งจิตไปรวมไว้ที่ตัวอาจารย์ อย่าให้สายตาและจิตไปอื่น จ้องอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะจบชั่วโมงที่มีอาจารย์มาสอน
เราจะได้สมาธิในการเรียน ถ้าปฏิบัติต่อเนื่องกันจริงๆ ในเมื่อได้สมาธิอย่างเข้มแข็ง เวลาไปสอบ อ่านคำถามจบ จิตจะว่างลงนิดหนึ่ง คำตอบจะผุดขึ้นมา เราจะเขียนเอา เขียนเอา ไม่ต้องคิดอะไรมาก บางทีเวลาก่อนสอบ จิตของเราจะบอกให้ดูหนังสือเล่มนั้น จากหน้านั้นไปถึงหน้านั้น ข้อสอบจะออกที่ตรงนี้ อันนี้เป็นวิธีการปฏิบัติสมาธิให้สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน
ถ้าหากเราพยายามปฏิบัติต่อเนื่องกันทุกชั่วโมงที่มีอาจารย์มาสอน เราจะได้พลังของสมาธิ มีสติสัมปชัญญะเข้มแข็ง ทำให้เราเรียนดีขึ้นๆๆ อันนี้คือผลประโยชน์ที่เราจะพึงได้
....................
คิดลอกจากหนังสือหนังสือ ฐานิยปูชา ๒๕๔๒ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา) และ ลานธรรมจักร - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี