เริ่มกันแล้วสำหรับการชิงชัย “ศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)” และแน่นอนว่า “การแสดงวิสัยทัศน์” ประชันนโยบายในแต่ละประเด็นเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจก่อนกาบัตรลงคะแนนก็เป็นกิจกรรมสำคัญ โดยเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจัดเสวนา (ออนไลน์) “ว่าที่ผู้ว่า กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน” ในหัวข้อ “การจัดการคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร” โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ เมืองหลวงหลายท่าน เข้าร่วมด้วย อาทิ
สกลธี ภัททิยกุล กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน (PM2.5) เช่น การลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลลง ซึ่งต้องทำระบบขนส่งสาธารณะที่ กทม. ทำได้ให้มากที่สุดเพื่อเกื้อหนุน นอกจากนี้ยังมีการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ห้ามรถบรรทุกที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเข้า กทม. ในช่วงเวลาหรือสถานที่ที่กำหนด เช่นเดียวกับการเผาในที่โล่ง หรือการควบคุมปริมาณฝุ่นในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งในส่วนนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. อยู่แล้ว
ขณะที่การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย กทม. นั้นมีขยะเฉลี่ย 10,000 ตันต่อวัน ส่วนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะลดลงเหลือราว 9,000 ตันต่อวัน แบ่งเป็นนำไปเผาที่โรงงานกำจัดขยะในเขตหนองแขม 500 ตัน นำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยหรือเชื้อเพลิงขยะ (RDF) 2,500 ตัน ส่วนที่เหลืออีก 6,000 ตัน ยังใช้ระบบฝังกลบ ซึ่งต้องจ้างบริษัทมารับขยะออกไปเฉลี่ย 800-900 บาทต่อตัน กทม. จึงเสียค่าจ้างขนย้ายขยะส่วนนี้ปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่ง กทม. สามารถประหยัดได้
“ทำไมเราถึงไม่ Outsource (ปล่อยรับเหมาช่วง) ไปให้เอกชนเขามาเก็บ เอกชนจ่ายค่าถังขยะ ค่ารถขยะ ถึงเวลาเอกชนเอาขยะไปกำจัด เอาไปขายได้ ประหยัดได้ปีละ 2 พันล้านบาท แล้ว กทม. เอา 2 พันล้านบาท ไปไว้ที่อื่นได้ สามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด หรือ พ.ร.บ.สาธารณสุขผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจที่จะมอบให้บุคคลใดก็ตามเป็นคนเอาไปกำจัดได้ แต่ต้องออกข้อบัญญัติ มันอยู่ในวิสัยผู้ว่าฯ ที่จะแก้ได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจจะมีบ้านเล็กบ้านใหญ่ ซื้อขยะ มี อบจ.นี้ อบต. นั้น แต่มันต้องอาศัยความกล้าของผู้ว่าฯ ในการกล้าบริหารจัดการ” สกลธี กล่าว
ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร กล่าวถึงปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเชื่อว่าใน กทม. มีหลายโรงงานพบปัญหาและเกิดข้อร้องเรียน ดังนั้น หากกรมควบคุมมลพิษก็ดี หรือองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมก็ตาม ตรวจวัดมลพิษ เช่น ฝุ่นหรือไอเสียจากปล่องควันโรงงาน เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด กทม. ต้องกล้าเตือนให้ปรับปรุง และหากยังไม่สามารถปรับปรุงให้ได้มาตรฐานก็ต้องกล้าสั่งปิดโรงงานเป็นการชั่วคราว
ส่วนปัญหามลพิษจากยานพาหนะ เชื่อว่า ผู้ว่าฯ กทม. สามารถพูดคุยกับหน่วยงานที่มียานพาหนะซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ให้บริการรถเมล์ หรือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่มีรถบรรทุก กรณีการกำหนดยานพาหนะที่ห้ามใช้งานใน กทม. ไปจนถึงการทำประชาพิจารณ์ เพื่อนำไปสู่การจัดทำเขตควบคุมการปล่อยมลพิษ (Ultra LowEmission Zone) กำหนดพื้นที่ห้ามใช้ยานพาหนะที่ไม่ได้มาตรฐาน และหากใช้ก็จะต้องเสียค่าปรับในอัตราสูง โดยเรื่องนี้ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ต้องทำคนเดียว แต่เป็นฉันทามติของคนกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ควรปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานมลพิษให้สอดคล้องกับหลักสากล เช่น สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในภาคอุตสาหกรรม เช่น การพ่นสี สารทำละลายต่างๆ ที่ผ่านมาพบปัญหาโรงงานแทบไม่ต้องมีการบำบัดก่อนก็สามารถปล่อยออกสู่ภายนอกได้แล้ว ดังนั้น ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเป็นหัวหอกร่วมกับประชาชนชาว กทม. เพื่อให้เกิดการแก้ไขมาตรฐานและหลักเกณฑ์ต่างๆ ของมลภาวะที่เกิดในกรุงเทพฯ ให้สอดคล้องกับหลักสากล
“เราเริ่มต้นไม่ต้องเท่ากับเยอรมัน ที่เขาให้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เราอาจจะเริ่มต้นจาก 100 แล้วค่อยๆ ถอยลงมาให้เข้มขึ้นได้ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีมาตรฐานเลย ไนโตรเจนออกไซด์ มันเกิดอะไรขึ้น เราอยากให้กรุงเทพฯ เกิดปัญหา Great Smog of Los Angeles หรือครับ? ผมคิดว่าวันนี้มาตรฐานต่างๆ ต้องปรับให้หมด อากาศในกรุงเทพฯ ไม่สามารถรองรับได้แล้ว เพราะจำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นมากแล้ว และท้ายที่สุดผู้ว่าฯ กทม. ต้องกล้าผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ให้ได้ และนี่คือความหวังสูงสุดของคนกรุงเทพฯ ที่จะมีอากาศสะอาด” วิโรจน์ กล่าว
ส่วน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยต้องมีระบบตรวจวัดที่ครอบคลุมโดย กทม. เนื้อที่ทั้งหมด 1,600 ตารางกิโลเมตร ควรติดตั้งเครื่องตรวจวัด 2,000 จุด แต่ปัจจุบันมีเพียงหลักร้อยจุดซึ่งสถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่งสามารถผลิตเครื่องตรวจวัดได้ การมีเครื่องตรวจวัดทำให้ประชาชนรับรู้และป้องกันตนเอง เช่น สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และให้ผู้รับผิดชอบ อาทิ ผู้ว่าฯ กทม. หรือผู้อำนวยการเขต ตรวจสอบได้ถูกต้องว่าพื้นที่ใดมีปัญหาและอะไรคือสาเหตุ เช่น เป็นพื้นที่ก่อสร้าง หรือการจราจรติดขัด
อีกทั้งต้องกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องหรือได้ผลประโยชน์จากการปล่อยมลพิษต้องร่วมรับผิดชอบ ซึ่งมีทั้งการลงโทษ เช่น การก่อสร้างที่มีรถบรรทุกเข้า-ออก โครงการก่อสร้างต้องกวดขันไม่ให้มีรถที่ปล่อยมลพิษ หรือควบคุมไม่ให้ตัวโครงการเองก่อฝุ่นออกมาภายนอกขณะทำการก่อสร้าง หากปล่อยปละละเลย กทม. มีอำนาจชะลอหรือเพิกถอนโครงการได้ และการให้รางวัล เช่น โครงการก่อสร้างใดที่ดำเนินมาตรการป้องกันหรือลดผลกระทบจากฝุ่นได้ดี ก็สามารถนำผลงานมาขอลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ เป็นต้น
“ปัญหา กทม. ปัญหาเทคนิคทั้งนั้นตั้งแต่เช้าจนถึงปัจจุบัน เรารู้มันต้องแก้ด้วยเทคนิค นวัตกรรมของเมืองจำเป็น กทม. ต้องเริ่ม กทม. มีรถเช่า เราเช่านะ เพราะฉะนั้นควรจะเป็นรถพลังงานสะอาดเสียที ไม่ใช่ กทม. เองรถก็ปล่อย แบบนี้ใช้ไม่ได้ นอกจากนั้นแล้ว กทม. เป็นเจ้าของป้ายรถเมล์ ต่อไปควรจะมีที่ชาร์จพลังงานไฟฟ้าได้ ตรงนี้ก็เป็นอะไรที่เราทำได้เช่นเดียวกับป้ายรถเมล์มีฝุ่นหนาแน่น ควรจะมีระบบในการเตือนภัยฝุ่น มีจอเล็กๆ แจ้งเวลารถเมล์ไป-มาได้ แล้วก็ต้องแจ้งว่ามีฝุ่นเกินแล้ว รวมทั้งมีพัดลมที่สามารถเปิดอัตโนมัติตามปริมาณฝุ่น ฝุ่นไม่ได้กลัวน้ำแต่กลัวลม มีลมมาฝุ่นก็ไม่เข้มข้น อันตรายมันก็น้อยลง” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ปิดท้ายด้วย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า กทม. มีหน้าที่ควบคุมแหล่งปล่อยมลพิษอยู่แล้ว หากไม่ทำย่อมเข้าข่ายความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น สิ่งไหนที่กฎหมายให้ทำได้ก็ต้องทำ เช่น ควบคุมพื้นที่ก่อสร้างเพื่อให้ไปกวดขันรถบรรทุกที่ปล่อยควันดำ ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดตามโรงงานเพื่อรายงานมลพิษาตามเวลาจริง (Real Time) หรือแม้แต่แจ้งความดำเนินคดีกับผู้เผาในที่โล่งแม้ต้นตอจะอยู่นอก กทม. ก็ตาม เพราะคนกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบ
“ที่น่าสนใจ ถ้าดูตัวเลขคือเครื่องยนต์ดีเซลอายุเกิน20 ปี เป็นตัวสำคัญที่ปล่อยมลพิษ ซึ่งผมว่าคนรายได้น้อยจำนวนมากยังใช้รถจำนวนนี้อยู่ กทม. เอาโรงเรียนฝึกอาชีพมาช่วยปรับเครื่องยนต์ดีเซลของคนที่รายได้น้อยที่มีสภาพไม่ดี ช่วยปรับให้เขาถูกด้วยต้นทุนที่ถูก แล้วปรับให้เขาทำคุณภาพอากาศอยู่ในมาตรฐานได้” ชัชชาติ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี