เราเกิดมาทำไม ปัญหานี้ถ้าตั้งขึ้นคิดก็น่าจะจน เพราะขณะเมื่อทุกคนเกิดนั้นไม่มีใครรู้ มารู้เมื่อเกิดมาและพอรู้เดียงสาแล้วว่ามีตัวเราขึ้นคนหนึ่งในโลก
แต่ทุกๆ คนย่อมมีความไม่อยากตาย กลัวตาย อยากจะดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน นอกจากนี้ ยังมีความอยากในสิ่งต่างๆ อีกมากมาย คล้ายกับว่าความที่ต้องเกิดมานี้ไม่อยู่ในอำนาจของตนเอง มีอำนาจอย่างหนึ่งทำให้เกิดมา ตนเองจึงไม่มีอำนาจ หรือไม่มีส่วนที่จะตั้งวัตถุประสงค์แห่งความเกิดของตนว่า เกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเพื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดูคล้ายๆ กับจะเป็นดั่งที่ว่ามานี้ ที่ดูคล้ายๆ ก็เพราะความไม่รู้ หรือจะเรียกว่า “อวิชชา” ก็น่าจะได้
แต่ถ้าจะยอมจนต่อความไม่รู้ก็ดูจะมักง่ายมากไป น่าจะลองทำตามหลักอันหนึ่งที่ว่า อนุมานและศึกษา คือสิ่งที่ประจักษ์แก่สายตา ก็รู้ได้ง่าย แต่สิ่งที่ไม่ประจักษ์แก่สายตาก็ใช้อนุมาน โดยอาศัยการสันนิษฐาน และใช้ศึกษาในถ้อยคำของท่านผู้ตรัสรู้
พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ได้ตรัสไว้แปลว่า “ตัณหา (ความอยาก) ยังคนให้เกิด” และว่า “โลกคือหมู่สัตว์ ย่อมเป็นไปตามกรรม”
ลองอนุมานดูตามคำตอบของท่านผู้ตรัสรู้นี้ดูในกระแสปัจจุบันก่อนว่า สมมุติว่าอยากเป็นผู้แทนราษฎร ก็สมัครรับเลือกตั้งและทำการหาเสียง เมื่อได้ชนะคะแนน ก็ได้เป็นผู้แทนราษฎร นี่คือความอยากเป็นเหตุให้ทำกรรม คือทำการต่างๆ ตั้งตันแต่การสมัคร การหาเสียง เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับผลคือได้เป็นผู้แทนหรือแม้ไม่ได้เป็น ถ้าจะตัดตอนเอาเฉพาะความเกิดมาในช่วงแห่งชีวิตตอนนี้ ก็จะตอบปัญหาข้างต้นนั้นได้ว่า “เกิดมาเพื่อเป็นผู้แทน” ตัวอย่างนี้เป็นรายละเอียดเฉพาะเรื่อง
ถ้าจะตอบให้ครอบคลุมทั้งหมดก็ควรตอบได้ว่า “เกิดมาเพื่อสนองความอยากและสนองกรรมของตนเอง” ถ้าจะแย้งว่า ตอบอย่างนั้นฟังได้สำหรับกระแสชีวิตปัจจุบัน แต่เมื่อเกิดมาทีแรกยังมองไม่เห็น เพราะไม่รู้จริงๆ ถ้าแย้งดังนี้ก็ต้องตอบว่า ฉะนั้น จึงว่าต้องใช้วิธีอนุมานโดยสันนิษฐาน ถ้ารู้จริงแล้วจะต้องอนุมานทำไม และก็อาศัยคำของท่านผู้ตรัสรู้เป็นหลัก ดังจะลองอนุมานต่อไปว่า
จริงอยู่เมื่อเกิดมาไม่รู้ แต่เมื่อรู้ขึ้นแล้วก็มีความกลัวตาย อยากดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน แสดงว่าทุกคนมีความอยากที่เป็นตัวตัณหานี้ประจำเป็นจิตสันดาน ความอยากเกิดย่อมรวมอยู่ในความอยากดำรงชีวิตอยู่นี้ เพราะความตายเป็นความสิ้นสุดแห่งชีวิตในภพชาติอันหนึ่งๆ เมื่อยังมีความอยากดำรงอยู่ประจำอยู่ในสันดาน ก็เท่ากับความอยากเกิดอีกเพื่อให้ดำรงอยู่ตามที่อยากนั้น ทั้งก็ต้องเกิดตามกรรมเป็นไปตามกรรม
ฉะนั้น จึงสรุปไว้ว่า “เราเกิดมาด้วยตัณหา (ความอยาก และ กรรม) เพื่อสนองตัณหาและกรรมของตนเอง” ตัณหาและกรรมจึงเป็นตัวอำนาจหรือผู้สร้างให้เกิดมา ใครเล่าเป็นผู้สร้างตัวอำนาจนี้ ตอบได้ว่าคือตนเอง เพราะตนเองเป็นผู้อยากเอง และเป็นผู้ทำกรรม ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ตนเองนี้แหละเป็นผู้สร้างตนเองให้เกิดมา
โอวาทธรรม สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
- 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี