4 กรกฎาคม 2565 จากกรณีที่ น.ส.ฟ้า อายุ 42 ปี ชาว อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบายความรู้สึกไม่พอใจ และออกมาร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อว่า ด.ช.เต้ อายุ 5 ขวบ หลานชาย ซึ่งปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.หนองกี่ ประสบอุบัติเหตุแขนหักที่โรงเรียนแต่ทางโรงเรียนไม่ดูแลรับผิดชอบ
โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตอนเย็นพี่ชายไปรับหลานที่โรงเรียนแล้วมาบอกตนเองว่าหลานแขนหักจึงรีบไปดู ก็เห็นหลานนั่งร้องไห้ตัวสั่น ในสภาพแขนซ้ายหักผิดรูป เมื่อสอบถามหลานบอกว่า แขนหักตั้งแต่ตอนเที่ยงแล้ว ตนจึงรีบพาหลานส่งโรงพยาบาลนางรอง
โดยผู้เป็นอา บอกว่าวันต่อมาได้ไปถาม ผอ.โรงเรียนว่าเกิดอะไรขึ้น ได้รับคำตอบจากครูประจำชั้นว่า “เห็นตั้งแต่ตอนเที่ยง แต่เด็กไม่ได้ร้องไห้ ไม่ได้ขอความช่วยเหลือ” จึงเดินทางกลับ แต่วันต่อมาทั้ง ผอ.และครูประจำชั้น นำกระเช้ามาขอโทษที่บ้าน บอกว่าทางโรงเรียนจะเยียวยาที่ปล่อยปละละเลยเด็ก กระทั่ง ผอ.เป็นคนสรุปเองว่า จะขอจ่ายเงินเยียวยาให้เป็นเงิน 55,000 บาท จึงโทรศัพท์ไปบอกพ่อแม่เด็ก นัดจ่ายเงินในวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่กลับไม่เห็นทางโรงเรียนมาจ่ายเยียวยาตามที่รับปาก การที่ออกมาร้องเรียนไม่ได้ติดใจสาเหตุที่หลานแขนหัก แต่ติดใจที่ครูและโรงเรียนไม่ดูแล
ล่าสุดวันนี้ (4 ก.ค.65) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังบ้านน้องเต้ เพื่อติดตามอาการของเด็ก และสอบถามผู้ปกครอง แต่ไม่พบคุณอาที่ออกมาร้องเรียน และไม่เจอน้องเต้อยู่ที่บ้าน พบเพียงนางแหลม อายุ 72 ปี ยายของน้องเต้ บอกว่า อาพาหลานไปธุระที่ต่างจังหวัด จึงได้สอบถามคุณยายเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ยายก็เล่าให้ฟังว่า วันเกิดเหตุหลานกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้านก็ตัวสั่น เงียบไม่พูด จนกระทั่งที่บ้านถามจึงบอกว่า มีอาการเจ็บแขน จึงพาไปโรงพยาบาล จากนั้นตนก็ไม่รู้เรื่องอะไรเพราะยายไม่ได้ไปพูดคุยด้วย มีแต่อาเขาที่พูดคุยกับทางโรงเรียน แต่ส่วนตัวก็สงสารหลานที่ต้องมาเจ็บตัวแต่เด็กแบบนี้
ผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปสอบถาม น.ส.นิตยา หรือครูหนิง ครูประจำชั้นอนุบาล 3 ก็ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ช่วงเดือน พ.ค.น้องเต้ เคยประสบอุบัติเหตุวิ่งเล่นกับเด็กในศูนย์เด็กแล้วแขนซ้ายหัก ผู้ปกครองก็พาน้องไปหาหมอที่ รพ.นางรอง ซึ่งหมอก็ดามแขนให้
กระทั่ง วันที่ 17 พ.ค.65 เป็นวันเปิดเทอม คุณอาของน้อง มารับอุปกรณ์การเรียน แล้วแจ้งว่าน้องเต้ใส่เฝือกแขนหักมาโรงเรียนไม่ได้ จนถึงวันที่ 30 พ.ค.65 ก็เห็นยายพาหลาน มาส่งที่โรงเรียนเพราะกลัวเรียนไม่ทันเพื่อน พอมาถึงครูเห็นว่าน้องใส่เฝือกอยู่จึงแจ้งผู้ปกครองว่า ยังไม่ต้องมาเรียนก็ได้ให้หายดีก่อนค่อยมา หลังจากนั้นน้องก็ไม่ได้มาเรียนอีก จนกระทั่งวันที่ 13 มิ.ย.65 เป็นเวรประจำวันไปยืนรับเด็กหน้าโรงเรียน ซึ่งวันนั้นลุงของน้องเต้ ก็มาส่งหน้าโรงเรียนแล้วก็กลับ โดยไม่ได้แจ้งอะไร
กระทั่งช่วงประมาณ 8 โมงกว่า ครูประจำชั้นอนุบาล 2 เกิดปวดท้องหนัก ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลด่วน ตนจึงต้องทำหน้าที่ดูแลเด็กทั้ง 2 ห้อง คือชั้น อนุบาล 2 และอนุบาล 3 รวมกัน 22 คน ซึ่งก็มีเด็กที่เป็นโรคหัวใจตีบและขาลีบเดินไม่ได้ ที่ต้องคอยดูแลเป็นพิเศษด้วย พอรับประทานอาหารเที่ยงเสร็จ ก็ให้เด็กเข้านอนครูก็เดินดูทั้ง 2 ห้อง ช่วงบ่ายโมงก็เดินไปสอบถามน้องว่ามีอาการเจ็บแขนหรือไม่ เพราะเห็นว่าเพิ่งจะถอดเฝือกแขน ก็ยังถามน้องว่า ถ้าปวดแขนจะให้กลับบ้านแต่น้องบอกว่าไม่ปวด ก็เลยให้ไปนอนซึ่งเด็กก็นอนถึงบ่าย 2 ไม่ได้มีอาการผิดปกติอะไร
พอดีวันนั้นมีโครงการนมโรงเรียนก็เลยถ่ายรูปเด็กๆไว้ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้เห็นแขนหักผิดรูป เหมือนกับที่ปรากฏในข่าว พอเด็กดื่มนมเสร็จก็ให้กลับบ้าน กระทั่งบ่าย 3 ครึ่ง อาเข้ามาที่โรงเรียนมาถามว่าทำไมแขนเด็กเป็นแบบนี้ ตนก็ตกใจเพราะตอนที่เห็นในโรงเรียนก็ดูปกติ เขาจึงขอพบ ผอ. แจ้งว่าเด็กแขนหัก ผอ.ก็ให้รีบพาไปส่งรงพยาบาล โดย ผอ.ตามไปดูด้วย เพราะตนต้องอยู่เวรดูแลปล่อยเด็กกลับบ้านให้ครบก่อน
กระทั่ง 16.30 น. ส่งเด็กเสร็จ ก็ตามที่โรงพยาบาลนางรอง ก็เห็นเด็กอยู่ห้องฉุกเฉินก็อยู่ดูแลจนถึง 4 ทุ่ม หลังจากเด็กเข้าห้องพิเศษถึงกลับ ตอนที่อยู่โรงพยาบาลก็ยังไปซื้อของและอาหารมาให้อาของเด็กรับประทานอยู่เลย
หลังจากนั้นออกจากโรงพยาบาล ช่วงบ่ายวันที่ 14 มิ.ย. ครูประจำชั้นไปเยี่ยมที่บ้านตอนเย็นวันนั้น ถามไถ่อาการผู้ปกครองก็คุยปกติ ไม่มีท่าทีอะไร บอกแค่ว่ามีค่าห้องกับค่าน้ำมันรถด้วยนะครู จากนั้นวันที่ 15 มิ.ย. ผอ.และคณะครูก็ไปเยี่ยมที่บ้านก็เตรียมกระเช้าไปเยี่ยม และเตรียมค่าน้ำมันรถ และค่าห้องพิเศษไปให้เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น แต่เขาไม่ยอมรับเงินดังกล่าวและมีท่าทีที่ไม่พอใจต่างจากวันก่อน บอกว่าให้รอคุยกับผู้ปกครองวันที่ 16 มิ.ย.65 ครูก็ขอโทษที่อาจจะดูแลไม่ทั่วถึง ก็เลยพูดคุยว่าแล้วผู้ปกครองจะให้ทำยังไง ผู้ปกครองก็เรียกเงิน 7 หมื่นบาท ผอ.ก็เลยว่าทางโรงเรียนไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น ก็เลยบอกว่าให้ลดลงหน่อยได้หรือไม่ ทางผู้ปกครองก็บอกว่างั้นเหลือ 55,000 บาท ซึ่งส่วนนี้อยากให้สอบถามกับทางผู้อำนวยการโรงเรียนเอง
ครูหนิง ยังบอกอีกว่า แม้จะไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุที่เด็กแขนหักผิดรูปเกิดจากอะไร และถึงแม้จะไม่ได้เกิดจากการกระทำของครู แต่ในฐานะครูประจำชั้นก็ยอมรับว่าอาจจะดูแลเด็กไม่ทั่วถึง ส่วนที่ผู้ปกครองจะเรียกร้องเงินในฐานะที่ปล่อยปะละเลยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทางผู้บริหารว่าจะมีคำสั่งอย่างไร ซึ่งตนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็คงต้องปฏิบัติตาม แต่ยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการกระทำของครู ก็รู้สึกเสียใจที่ทำหน้าที่เต็มที่แล้วแต่ก็มาเจอเรื่องราวแบบนี้ ตอนแรกคิดจะทำเรื่องขอย้ายตัวเองเพราะรู้สึกท้อ แต่ก็มีผู้ปกครองหลายคนมาให้กำลังใจเพราะเขามองว่าไม่ได้เกิดจากการกระทำของครู. 012