อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์คือความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง สมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์ ตัณหามักจะเกิดในปัจจุบัน เกิดขึ้นทางกาย เกิดขึ้นทางวาจา เกิดขึ้นทางใจ สังขารกับสมุทัยนี้เป็นอันเดียวกัน เวลากำหนดจิตเข้าไปจึงเห็นนึกถึงภาพคนนั้นคนนี้จนนอนไม่หลับ ทุกข์ก็เกิดขึ้นตรงนี้ สมุทัยก็เกิดขึ้นตรงนี้ นิโรธความดับทุกข์ก็เกิดอยู่ที่นี่เหมือนกัน เกิดอยู่ที่นี่ทั้งหมดไม่ได้เกิดจากที่อื่น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วพิจารณาให้รู้แจ้ง ตั้งอยู่ในศีล ตั้งอยู่ในธรรม
"ศีล" คือการนำความชั่วออกจากกายจากใจของตน นำความผิดออกจากกายจากใจของตน เป็นที่ตั้งของมรรค เป็นหนทางที่จะทำให้ความทุกข์ทั้งหลายสิ้นสุดไป ให้รู้เหตุของความทุกข์ ทางดับทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
"สติ" ที่รู้เท่าทัน คิดขึ้นเรื่องใดก็ดับ คิดท่าใดก็ดับ ถ้ามีสติ พร้อมกับปรุงขึ้นดับ ปรุงขึ้นดับ เรียกว่าสติพร้อมกัน คิดไปก็หลงไปลืมไป แปลว่าไม่มีสติ ถ้ามีสติแล้วคิดขึ้นร้ายก็ดี คิดดีก็ดี รู้พร้อมกันนั่นแหละ สติรู้พร้อมกัน ดับลงทันทีนั่นแหละ ตัวสตินี่สำคัญ ถ้ามีสติก็มีปัญญาพร้อมกัน คิดขึ้นรู้พร้อม คิดดีก็ตาม คิดชั่วก็ตาม หลงก็ตาม โกรธก็ตาม คิดขึ้นแล้วมีสติมันก็ดับไปทันที ไม่ต้องไปคุมมัน มีสติแล้วจะมีปัญญา เมื่อไม่มีสติก็จะเผลอ เผลอแล้วก็จะหลงไป...ตัวสติครั้นเกิดขึ้นพร้อมกันทุกๆ เมื่อแล้ว เมื่อเวลามันเกิดขึ้นพร้อมกันคราวใดจะดับพร้อมๆ กัน ถ้าไม่มีสติก็จะไม่ดับ
ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีความเพียร จะเอาแต่ความสำเร็จให้ได้ เหลวไหลไปเสีย เมื่อมีสติก็ต้องมีความเพียร ความเพียรนั้นต้องรู้จักปฏิบัติเหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักปฏิบัติก็เพียรผิดไป ความเพียรกับความมีสติคืออันเดียวกัน มีสติแล้วใจก็ผ่องใสเบิกบาน ไม่หลงไม่ลืม คิดอย่างไรขึ้นมันก็จะดับลงไปพร้อมกับความคิดขึ้นนึกขึ้น ตัวสติจึงสำคัญยิ่งนัก
....................
คัดมาจากหนังสืออนุสรณ์หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ โดย มูลนิธิหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ, นครนายก : โรงพิมพ์มูลนิธินวมราชานุสรณ์, ม.ป.ป. ใน หนังสือจิตตภาวนา มรดกล้ำค่าทางพุทธศาสนา รวมพระธรรมเทศนาภาคปฏิบัติของพระสุปฏิปันโน รวบรวมโดย มูลนิธิหลวงปู่มั่นและชมรมคุณภาพชีวิต, พิมพ์ครั้งที่ ๑, ๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเผยแพร่เป็นธรรมทาน (ขอบคุณลานธรรมจักร) - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี