“ความเชื่อของเราก็คือว่า คำว่าชุมชนมันจะเป็นฐานที่นำมาสู่การประกอบอาชีพหลายๆ เรื่องที่โดยระบบมันไม่ค่อยให้คุณค่า เพราะการศึกษาที่เป็นอยู่ก็คือเราส่งลูกไปเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วไปเรียนเพื่อประกอบอาชีพ แล้วก็นำไปสู่การหารายได้ การสร้างอาชีพตัวเอง แต่พอเด็กผ่านระบบการศึกษาไปถึงระดับอุดมศึกษา น้อยคนนักที่กลับมาสู่ฐานชุมชน ซึ่ง ณ วันนี้ ตัวฐานชุมชนที่เป็นแหล่งอาหาร เป็นยารักษาโรค เป็นแหล่งน้ำ
เขาเรียกว่าโลกยังต้องการสิ่งเหล่านี้อยู่ แต่ทุกคนกำลังเป็นการศึกษาที่วิ่งไปหาเงิน แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยู่ในชุมชนก็คิดว่าจะส่งลูกเรียนไปเป็นแบบนี้เพื่อหลีกหนีความเป็นวิถีของตนเอง สิ่งที่เราเชื่อคือโครงการพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานเราจะมาดูฐานชุมชนเหล่านี้เพื่อยกระดับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นความรู้ทางวิชาการที่ในระบบการศึกษาเขากำลังเรียนรู้อยู่ แต่ว่าเขายังไปไม่ถึง”
สมพงษ์ หลีเคราะห์ หัวหน้าภาคใต้ โครงการพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน กล่าวกับคณะสื่อมวลชนและคณะทำงานของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งลงพื้นที่เยี่ยมชม “เครือข่ายคนเลี้ยงผึ้ง อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี” ตามโปรแกรมศึกษาดูงาน จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช ช่วงปลายเดือน ก.ย.-ต้นเดือน ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ถึงความพยายามของชุมชนในการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพและใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติได้
ซึ่งโครงการพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มีหลักคิดสำคัญคือ “เอาฐานชีวิตเป็นตัวตั้ง” สมพงษ์ ขยายความในส่วนนี้ว่า คนเราวันหนึ่งมีเวลา 24 ชั่วโมง ใน 1 ปีหรือ 365 วัน จะมีเวลาทั้งสิ้น 8,760 ชั่วโมง แต่การศึกษาในโรงเรียนหากเป็นชั้นประถมจะอยู่ที่ประมาณ 800-1,000 ชั่วโมง ส่วนชั้นมัธยมจะอยู่ที่ 1,200 ชั่วโมง จึงเกิดเป็นคำถามว่าเวลาที่เหลืออีกกว่า 7,000 ชั่วโมงเหตุใดจึงไม่นำมาจัดการเรียนรู้ โดยมีพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นครู มีชุมชนให้การสนับสนุน และตัวผู้เรียนเองที่ต้องสร้างแรงบันดาลใจขึ้นจากความชอบของตนเอง
สำหรับเครือข่ายคนเลี้ยงผึ้ง อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น สง่า ทองคำ คณะทำงานเครือข่ายฯ เล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากการวิเคราะห์ “ทุนชุมชน” 4 ด้าน ประกอบด้วย1.คน ชาว อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี ไม่รอให้คนอื่นมาช่วย แต่จะเริ่มช่วยตนเองก่อน 2.เศรษฐกิจ มีกลุ่มอาชีพเสริม 3.ทรัพยากร สภาพธรรมชาติที่มีสามารถบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยวได้ และ 4.สังคม เป็นเรื่องของการดูแลช่วยเหลือกัน
ไอรดา ม่วงพานิช ผู้บริหารโครงการเครือข่ายคนเลี้ยงผึ้ง อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การทำงานในพื้นที่เป็นความร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งท้องที่ ท้องถิ่น พัฒนาชุมชน กศน. และอีกหลายองค์กรในชุมชน จุดประสงค์เพื่อพัฒนากลุ่มเป้าหมาย ภายใต้โจทย์ “จะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคได้อย่างไร?” โดยดำเนินโครงการมาแล้ว 3 ปี
วิทยา โสมะเกิด กำนันตำบลตะกุกใต้ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่การเกษตร และเป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนอยู่อย่างสามัคคี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำคลองยันไหลผ่าน เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงทั้งสวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้ต่อมาแกนนำในชุมชนได้คิดกันว่าจะทำอะไรเป็นอาชีพเสริม จนมาได้ข้อสรุปกันที่การเลี้ยงผึ้ง
โกมล กุลวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ต.ตะกุกใต้ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี เล่าว่า โครงการเลี้ยงผึ้งในพื้นที่ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี ดำเนินการในพื้นที่การเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีเพราะจะเป็นอันตรายต่อผึ้ง หลังพูดคุยกับหนึ่งในแกนนำก็เริ่มทดลองเลี้ยงบ้าง โดยเป็นการเลี้ยงในกล่องจำนวน 7 กล่อง สร้างรายได้ประมาณ 1 หมื่นบาท จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการเลี้ยงผึ้งกันอย่างแพร่หลายในหมู่บ้าน
“บังเอิญไปเจอน้องไอรดา พี่สง่า คณะของ กสศ. ก็คุยเรื่องการส่งเสริม แล้วก็ลงมาช่วย ขยายจากหมู่ของผม ขยายไปหมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 3 ตอนนี้ขยายไปทั้งอำเภอ ลามไปยัง อ.ท่าฉาง อีก 1 ตำบล แล้วก็รู้สึกว่าผลตอบรับดีมาก ในเมื่อผลตอบรับดี เราจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ผมก็ปรึกษากับน้อง วิภาวดีมี กศน. การศึกษานอกระบบ เราก็เข้าไปคุยกับอาจารย์ที่ กสศ. คุยกับพัฒนาชุมชนของอำเภอ ให้ชักชวนน้องๆ เข้ามาศึกษา” ผู้ใหญ่โกมล ระบุ
สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการหนุนเสริมวิชาการและการจัดการความรู้สำหรับการพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นงานที่ยากมากของประเทศไทย โจทย์ใหญ่คือการให้ทุกคนเรียนรู้และสามารถดูแลตนเองได้ ส่วนโจทย์ระยะยาวคือทำอย่างไรทุกคนจะเป็นผู้ที่เรียนรู้ตลอดชีวิต ขยายสู่ครอบครัวและชุมชนแห่งการเรียนรู้ขณะที่หน่วยงานต่างๆ มีโจทย์ว่าจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร
“คำว่าบูรณาการมันอยู่ในห้องประชุมมานาน วันนี้ผมมาเห็นตัวแบบของการบูรณาการ เป็นตัวแบบของชีวิตชุมชนที่ลุกขึ้นมาจัดการการเรียนรู้ของตัวเองได้อย่างลงตัว แล้วมันมีชีวิตชีวา ที่ก้าวหน้ามากที่สุดก็คือการเห็นพื้นที่การเรียนรู้ทั้งที่กายภาพอย่างนี้ แล้วที่สำคัญ ที่อื่นที่ทำได้ไม่ค่อยเด่นเท่าที่นี่คือมิติเรื่องสภาองค์กรชุมชน สภาที่เป็นพื้นที่พูดคุย พื้นที่ปรึกษาหารือ พื้นที่นโยบาย น้อยมากที่จะทำได้ดี เดิมทีผมก็คิดว่าแนวคิดสภาองค์กรชุมชนมันล่องลอยไม่สำเร็จ แต่พอมาเห็นที่นี่ผมก็มีคำตอบว่าเขาทำได้ดี
เงื่อนไขอะไรทำให้ที่นี่ทำได้สำเร็จ ผมคิดว่าเครื่องมือการเรียนรู้ร่วมกัน และได้ลองทำ ทำแล้วก็ทบทวนไป แล้วทำมาหลายปีด้วย ปรากฏว่าทำไปๆ เดิมทีใช้ผึ้งเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ตอนนี้ชุมชนที่นี่มีวิธีคิดแบบผึ้งไปแล้ว นั่นหมายถึงถ้าผึ้งจะอยู่รอดก็ต้องร่วมกันสร้างรวงรัง สะสมสิ่งเล็กสิ่งน้อยจากสิ่งที่ไม่มีค่าให้เป็นมีค่า และเป็นพื้นที่ที่สามารถยึดเหนี่ยว ดึงดูดเอาคนลูกหลาน เอามาทำงานร่วมกัน” สมคิด กล่าว
เพราะการศึกษาไม่ได้ถูกกำหนดตายตัวว่าจะต้องจัดในสถานศึกษาอย่างโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังมีการศึกษาทางเลือกโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน กลับมาที่ สมพงษ์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของสถานศึกษาไว้ว่า “สถานศึกษาควรออกแบบวิธีการวัดประเมินโดยเชื่อมโยงการศึกษาจากฐานชุมชนเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้”(เช่น การพูด การเขียน การนำเสนอ อยู่ในวิชาภาษาไทย) โดยยังมีทักษะอื่นๆ เช่น การคิดคำนวณ การทำงานเป็นทีม ฯลฯ และสุดท้ายคือ “ทัศนคติ (Attitude)” ซึ่งทำให้พฤติกรรมของผู้เรียนค่อยๆ เปลี่ยนไป
“คนไม่เคยกินผักถามว่าอนาคตสุขภาพแบบไหน?แต่ถ้าเขาหันมาปลูกผักแล้วก็เรียนรู้แบบนี้ เขาก็กินผักมันเป็นการสร้างเสริมสุขภาพโดยที่ไม่ต้องใช้ยาในอนาคต”สมพงษ์ ยกตัวอย่างทิ้งท้าย
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี